“ยามวิกฤตต้องคิดเสมอว่า เมื่อสว่างแล้วจะทำยังไง ผมชอบมองโลกแง่ดี ตอนที่มืดที่สุดเราต้องศึกษา ถ้าสว่างต้องทำอะไร ต้องทำตอนมืด ไม่ใช่พอสว่างค่อยมาทำ อาจจะช้าไป”
คำกล่าวข้างต้น เจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ย้ำหลายครั้งตลอดบทสนทนาเมื่อถามถึงแนวคิดในการขับเคลื่อนองค์กรฝ่า (ทุก) วิกฤตในอดีต ท่ามกลางวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ใครต่อใครมองว่าหนักหนาสาหัสที่สุดแล้ว ก็ไม่ต่างกัน
“เวลานี้ใกล้สว่างแล้ว เฉพาะเมืองไทยนะ เพราะเราผ่านช่วงที่น่าจะพีคที่สุด และอันตรายที่สุดไปแล้ว ต้องยกย่องหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ช่วยแพทย์ทุกหมู่บ้าน อสม. ที่คอยติดตามเป็นหูเป็นตาให้ และให้ความรู้กับชาวบ้าน เราทำได้ดีมาก ต้องยกย่อง และให้กำลังใจ นักธุรกิจเวลาสู้กันมีตัวตน รบในสงครามที่มีตัวตน แต่หมอสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็น ถ้าติดก็ตายได้ เราต้องให้กำลังใจ เพราะสนามรบนี้หมอไปรบ”
แต่ถ้าถามว่าเศรษฐกิจจะฟื้นขึ้นมาได้เมื่อไร เจ้าสัวธนินท์บอกว่า ต้องถามว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาที่จะทำให้เศรษฐกิจ และธุรกิจต่างๆ เดินต่อไปได้
“ถ้ามีมาตรการที่ไม่ถูกต้อง เราอาจติดลบมากกว่าที่หลายสำนักประเมินไว้ เพราะการปิดหรือเลิกกิจการไปไม่ยาก แต่การฟื้นกลับมาใหม่ไม่ง่าย เปรียบได้กับการสร้างบ้าน สร้างตึกที่ต้องใช้เวลาหลายปี เวลาจะรื้อกดระเบิดแค่ไม่กี่วินาทีพังราบ”
นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นต้องรีบเปิดประเทศ โรคนี้ไม่ใช่ความผิดของใคร และย้ำว่า “วิกฤต” เป็นแค่สิ่งชั่วคราว เมื่อมืดก็มีสว่าง แต่รอให้สว่างแล้วทำ อาจไม่ทัน เช่น การท่องเที่ยวเมื่อพิสูจน์แล้วว่าบุคลากรทางการแพทย์ของไทยเก่งมาก มีโรงพยาบาลดีๆ มีโรงแรมห้าดาวเต็มไปหมดจึงควรใช้สิ่งนี้โฆษณาไปทั่วโลก
และต่อยอดไปสู่การผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งจะสร้างตลาดการท่องเที่ยวใหม่ที่มีการใช้จ่ายเงินสูง เฉลี่ย 2 แสนบาท/คน จะสร้างรายได้มากถึง 1 ล้านล้านบาท
“ให้โรงแรมห้าดาวลิงก์กับบริษัททัวร์ ไปชวนเศรษฐีอเมริกัน จีน ยุโรป รัสเซีย มาเที่ยวเมืองไทย พวกนี้เป็นกลุ่มหนีตาย ไม่ใช่หนีภัย ดังนั้นไม่ต้องเยอะ แค่ 1 ล้านคน ก็เท่ากับ 4-5 ล้านคนแล้ว เพราะบ้านเขาไม่มีเตียง ไม่มียา ไม่มีหมอพอ บ้านเรามีครบ ทำได้ก็จะฟื้นเศรษฐกิจได้เร็ว คนมีเงินมาอยู่บ้านเราได้เป็นเดือน หรือ 2-3 เดือน แต่ต้องทำเดี๋ยวนี้ เมื่อทุกอย่างสงบแล้วทำไมเขาต้องมาเมืองไทย”
เจ้าสัว “ธนินท์” เห็นด้วยกับการคลายล็อกทีละขั้นของรัฐบาล และเชื่อว่าไม่น่าทำให้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยกลับมารุนแรงขึ้น
“ทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไร 100% มีความเสี่ยงทั้งนั้น แต่เราจะป้องกันและดูแลตัวเองยังไง ญี่ปุ่นบ้านเขาเล็ก หลังเลิกงานไปสังสรรค์ร้านเล็กๆ ของไทยกว้างกว่า อากาศก็ร้อน ผมอาจผิดก็ได้ แต่ผมชอบมองโลกในแง่ดี ทำให้มีกำลังใจ ตอนที่มืดที่สุดเราต้องศึกษาว่าถ้าสว่างจะทำอะไร ต้องทำตอนที่ยังมืด ไม่ใช่สว่างแล้วค่อยมาทำ”
เช่นกันกับในทุกสังคม ถ้าไม่มีคนโกง ไม่มีคนเกเร โลกนี้คงไม่ต้องมีตำรวจ มีคุก ไม่ว่าอเมริกาหรือที่ไหน เพียงแต่มากหรือน้อย และมองว่าเมืองไทย เรื่องโกงมีแต่น้อย และคนส่วนใหญ่ยังเป็นคนดี นักธุรกิจก็มีไม่ดี มีที่เอารัดเอาเปรียบ แต่ 80% เป็นคนดี ถ้าไม่ดี เมืองไทยจะอยู่มาได้ยังไง เพราะนักธุรกิจเป็นคนสร้างอะไรหลายอย่างให้กับประเทศ
“ซีพีเป็นบริษัทครอบครัว แต่ผู้ถือหุ้นก็มีกองทุนอะไรต่างๆ และใช้มืออาชีพ ลูกหลานไม่ได้มาวุ่นวายดูแต่เรื่องคนและการเงิน ซีพีถึงขยายไปทั่วโลกได้ ถ้าเราจำกัดเฉพาะครอบครัว เราไปไม่ได้ไกล ทรู ขายอาหารสมอง ซีพีขายอาหารปากท้องยังไปได้ เพราะเป็นสิ่งจำเป็น คนต้องกินต้องใช้ แต่จะบอกว่าไม่กระทบ ไม่เสียหายเลยคงไม่ใช่”
ในช่วงที่ผ่านมา เครือซีพีเป็นหนึ่งในบริษัทไทยที่ระดมสรรพกำลังทั้งเงินและคนช่วยประเทศก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ในหลายรูปแบบ เช่น การสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรี, มอบอาหารให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้กักตัว, มอบ 77 ล้านบาท ให้ 77 โรงพยาบาล, แจกอุปกรณ์สื่อสาร-หุ่นยนต์-ซิม เป็นต้น
เจ้าสัวธนินท์มองว่า ถ้าส่วนรวมดีขึ้น ประเทศดีขึ้น ธุรกิจต่างๆ รวมถึงเครือซีพีก็จะดีขึ้น แต่ถ้าส่วนรวมพัง ธุรกิจใหญ่จะพังหนักกว่า
ที่มา | เสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | เชอรี่ นาคเจริญ [email protected] |