จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวม ทำให้รัฐบาลหลายประเทศออกมาตรการที่จะมาฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ในส่วนของประเทศไทยนั้น ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงข่าวเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในด้านต่างๆ ตามกรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาทนั้น สศช.เรียกหน่วยงานต่างๆ มารับฟังข้อมูลเรื่องระยะเวลาทำงานและการคัดเลือกโครงการต่างๆ ที่จะเปิดให้หน่วยงานราชการไปจัดทำโครงการและยื่นข้อเสนอมาให้กลั่นกรองก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน โดยกำหนดว่าเงินกู้จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภายในช่วงไตรมาสที่ 3/2563 หรือตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องไปถึงงบประมาณรายจ่ายปี 2564-2565
นายทศพรกล่าวว่า สำหรับกรอบโครงการต่างๆ ตามวงเงิน 400,000 ล้านบาท ต้องเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.แผนงานหรือโครงการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 2.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน 3.แผนหรือโครงการเพื่อส่งเสริมกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน และ 4.แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในส่วนของหลักคิดการสร้างเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่หลังโควิด-19 จุดแข็งของประเทศไทยคือเรื่องสาธารณสุขของไทยที่ค่อนข้างดีมาก โดยจะใช้เรื่องนี้ในการดึงดูดให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทยก่อนในระยะแรก
เน้นศก.ชุมชนมีวงเงินราว 2 แสนล.
“บทเรียนจากโควิดในครั้งนี้ เมื่อการท่องเที่ยวมีผลกระทบอย่างมาก เดิมมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 40 ล้านคน มีเงินตราต่างประเทศเข้ามา มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท พอไม่มีรายได้เข้ามาหลายกิจการก็ต้องปิดตัวลง ผู้ที่ทำงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องก็ต้องกลับภูมิลำเนา ฉะนั้น เราจะต้องส่งเสริมการสร้างงานสร้างรายได้ให้คนกลุ่มนี้ เน้นในเรื่องของเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชน ที่คาดว่าจะใช้งบประมาณประมาณ 50% หรือประมาณ 200,000 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมด อาทิ การผลักดันในเรื่องของการเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น, การสนับสนุนให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการส่งเสริมเรื่องการตลาด รวมถึงสร้างแพลตฟอร์มต่างๆ ให้มีการขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้สะดวกมากขึ้น เป็นต้น” นายทศพรกล่าว
ลดราคาที่พัก-ร้านอาหาร 50%
นายทศพรกล่าวว่า ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ตอนนี้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอยู่ระหว่างการจัดทำแพคเกจกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยจะเริ่มจากการส่งเสริมไทยเที่ยวไทย อาทิ การจัดโปรโมชั่นลดราคาที่พักให้กับลูกค้า 40-50% โดยส่วนที่ลดทางรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายให้กับโรงแรมที่พัก หรือร้านอาหาร เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้รับค่าโรงแรมเท่าเดิม และอาจมีการคืนภาษีให้ เป็นต้น ซึ่งตอนนี้เป็นเพียงไอเดียเท่านั้น ยังไม่ได้มีการกำหนดว่าจะใช้เป็นแพคเกจใด แต่ในช่วงแรกอาจจะเน้นดึงกลุ่มที่มีกำลังซื้อมาเที่ยวก่อน เพื่อให้ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นกลับขึ้นมาได้อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าในส่วนของการท่องเที่ยวในประเทศจะมีการขับเคลื่อนแบบเร็วที่สุด ในช่วงไตรมาสที่ 3/2563 นี้
ททท.ถกคลังออกคูปองหนุนเที่ยว
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาคการท่องเที่ยว สิ่งสำคัญในตอนนี้จึงต้องเร่งเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเพื่อช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตในช่วงนี้ไปให้ได้ก่อน รัฐบาลจึงมีแนวคิดในการขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือในการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสได้ดี โดยการสนับสนุนให้ประชาชนออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ททท.จึงเตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับข้อเสนอโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินก้อน 400,000 ล้านบาท ในการสนับสนุนแพคเกจกระตุ้นการท่องเที่ยว ในวันที่ 26 พฤษภาคม อาทิ การออกคูปองให้เดินทางท่องเที่ยว อาจจะเป็นจ่ายแค่ครึ่งราคา โดยรัฐบาลจะอุดหนุนส่วนต่างดังกล่าวให้ผู้ประกอบการ เบื้องต้นประเมินว่าจะครอบคลุมระยะเวลา 4 เดือน ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายนนี้ เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนไปสู่ผู้ประกอบการโดยเร็วที่สุด แต่รายละเอียดรูปแบบของแพคเกจยังไม่ชัดเจน ต้องหารือกับกระทรวงการคลังให้ชัดเจนก่อน
“ต้องหาวิธีทำให้ผู้ประกอบการสามารถชะลอผลกระทบและพยุงตัวเองผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ก่อน ซึ่งโครงการดังกล่าวเกิดเพราะต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่จะใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินก้อน 4 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ส่วนการปลดล็อกภาคการท่องเที่ยว จะต้องเปิดแบบเป็นขั้นเป็นตอน และเปิดด้วยความระมัดระวัง ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐก่อน” นายยุทธศักดิ์กล่าว
ที่มา : มติชนออนไลน์