คนจีนที่อพยพมาเมืองไทยเริ่มต้นเมื่อไหร่ อย่างไร มีระบุไว้ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นจารึกและพงศาวดาร อย่างไรก็ดีหากถามถึงคำเรียกขาน “คนจีน” ในประเทศไทยว่าเป็นมาอย่างไร โดยเฉพาะคำว่า “เจ๊ก” กลับไม่ปรากฏที่มาอย่างชัดแจ้ง “นวรัตน์ ภักดีคำ” อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวถึงที่มาของ “คนจีน” ในไทย ที่ไม่ใช่คำว่า “เจ๊ก”
ในไทยมีคำเรียกคนจีนคือคำว่า “ตึ่งนั้ง” คำนี้ในภาษาจีนกลางจะใช้คำว่า “ถังเหริน” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกตัวเองของคนจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นการเดินทางค้าขายตามเส้นทางสายไหม ทั้งทางบกและทางทะเล เพราะว่าเมื่อก่อนนี้ เวลาเดินทางไปค้าขาย คนจีนจะเรียกแทนตัวเองว่ามาจากราชวงศ์ถัง จะไม่ได้บอกว่าเป็นคนจีนหรือคนอะไร แต่จะมองว่าตัวเองเป็นข้าในแผ่นดินไหน เช่น มาจากราชวงศ์ไหนนั่นเอง อย่างไรก็ตาม สำหรับราชวงศ์ถัง เขาจะใช้ว่า “ต้าถัง” แล้วพอเดินทางออกไปค้าขายคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ถัง จึงแทนตัวเองว่า “ถังเหริน”
“ตึ่งนั้ง” เป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่เดินทางออกไปค้าขายตามเส้นทางสายไหม เพราะฉะนั้นพอไปค้าขายที่ไหนก็จะแทนตัวเองว่าเป็นถังเหริน หรือเป็นตึ่งนั้ง ถามว่าสำเนียง “ตึ่งนั้ง” มาจากไหน ก็คือมาจากสำเนียงแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับคนไทย เพราะฉะนั้นปัจจุบันนี้ที่ภาษาอังกฤษเรียกย่าน “ไชน่าทาวน์” ในภาษาจีนเองจะใช้คำว่า “ถังเหริน เจีย” คำว่า “เจีย” แปลว่าถนน เป็นถนนลักษณะแบบ Avenue คือเป็นย่านการค้าของชาวจีนนั่นเอง
ถ้าเป็นคนราชวงศ์หมิงหรือราชวงศ์ชิง ซึ่งราชวงศ์ชิงคนจีนไม่ค่อยยอมรับเท่าไหร่ คนจีนยอมรับราชวงศ์หมิง แต่คนยุคราชวงศ์หมิงก็ไม่ได้ค้าขายเจริญรุ่งเรืองเท่าราชวงศ์ถัง ไม่ได้มีอิทธิพล ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่ขนาดราชวงศ์ถัง เพราะว่าเขาเริ่มรับรู้แล้วว่ายังมีประเทศอื่น มีโลกอื่นที่ใหญ่กว่าประเทศของตัวเอง บ้านเมืองของตัวเอง ขณะที่สมัยราชวงศ์ถังยังไม่รู้ ประกอบกับเป็นยุคที่จีนรุ่งเรืองสุดๆ การค้าเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก จึงเป็นที่มาของการเรียกตัวเองว่า “ต้าถัง”
ส่วนที่แม้ว่าในราชวงศ์ต่อๆ มา มีคำว่า “ต้าหมิง” หรือ “ต้าชิง” นั่นเพราะเป็นศัพท์ที่ค้างอยู่แล้ว รับรู้กันว่าใช้แบบนี้ เคยใช้อย่างนั้นก็ใช้ต่อกันมา อย่างถนนเยาวราชไชน่าทาวน์ของไทย จะมีสองชื่อในความรู้จักของคนจีนปัจจุบัน คือชื่อหนึ่งเรียกเป็น “ไท่กั๋วถังเหรินเจีย” กับอีกชื่อหนึ่งคือทับศัพท์ไปเลย “เยาฮวาลี่” คือเยาวชราช นี่คือการรับรู้ของชาวจีนในปัจจุบัน แต่ถ้าถามว่าทั่วโลกไชน่าทาวน์ของแต่ละประเทศคนจีนเรียกอะไร ก็เรียกว่า ถังเหรินเจีย ถนนสายชาวถังนั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว คนจีนจะแบ่งออกเป็น “จีนเก่า” กับ “จีนใหม่” ในศัพท์ของเขาเองด้วย เช่น เป็นตึ่งนั้ง หรือเป็นซินตึ๊ง เคยได้ยินไหมไอ้หนุ่มซินตึ๊ง คือเป็นพวกจีนที่เข้ามาใหม่ เข้ามาทีหลังกลุ่มเดิม คนจีนเวลาเรียกว่าคนๆ นี้ ที่เป็นลูกหลานชาวจีนเขาจะเรียก “ตึ่งนั้งเกี๊ยะ” คือเป็นคนมีเชื้อจีน แต่ก็มีอีกกระแสหนึ่งสำหรับชาวแต้จิ๋วที่เรียกถังหรือตึ่งนั้งด้วยการแบ่งด้วยภูเขา เช่น ภูเขาลูกนี้ตัดจากตรงนี้มาตรงนี้เป็นแต้จิ๋ว อย่างนี้เป็นต้น
คำว่า “ไท่กั๋ว” คำว่าไท่ เราเจอในพงศาวดารจีนมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมามีในยุครัตนโกสินทร์เท่านั้น ซึ่งต้องย้อนไปตั้งแต่เป็นเสียนเป็นหลัว มารวมกันเรียกเป็น “เสียนหลัว” คือประเทศไทยสมัยโน้น ในพงศาวดารของจีนแต่ละยุคจะเรียกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเรือสำเภาของจีนไปเจอเมืองไหนก่อน อาจเป็นเมืองเล็กๆ พอมีกำแพงเมืองปุ๊ปคนจีนก็มองว่าเป็นประเทศ สมมติมาเจออาณาจักรพันพัน มาขึ้นที่สุราษฏร์ธานี เขาก็จะ…อ้ออันนี้คืออาณาจักรหนึ่ง หรือว่าถ้าเดินเท้ามาเจอเมืองหริภุญไชย ก็จะ…โอ้เมืองนี้มีผู้หญิงเป็นเจ้าเมืองสมัยพระนางจามเทวี ก็จะเรียกว่าเป็นประเทศที่มีผู้หญิงปกครอง เป็น “หนี่วากั๋ว” แปลว่าเมืองที่มีผู้หญิงเป็นกษัตริย์ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับว่าเขามาเจอเมืองไหนก่อน หรือคนจีนเขาจะเรียกแทนภาษาของตัวเองว่าเป็นภาษาฮั่น เพราะเขามองว่าภาษาจีนกลางที่ใช้ทุกวันนี้รูปแบบตัวอักษรสืบมาตั้งแต่สมัยฮั่น เขาก็เรียกสืบกันมา จีนทุกวันนี้เลยเรียกเป็นฮั่นหมด คือเป็นคำที่ค้างอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนคำว่า “เจ๊ก” เป็นคำเรียกเชิงดูถูกคนจีนหรือไม่ สำหรับตัวเองตั้งแต่ตอนเด็กๆ ไม่รู้สึกอะไรเลย พ่อหรือเตี่ยตัวเองก็ยังบอกว่าเป็นเจ๊ก ไม่ได้รู้สึกว่ามันคือการดูถูกเหยียดหยามหรือรู้สึกต่ำต้อย แล้วตลาดแถวบ้านก็เรียกเจ๊กหมด เช่น ไปซื้อข้าวต้มร้านเจ๊กสุน ซื้อของร้านเจ๊กเล้ง ร้านก๋วยเตี๋ยวเจ๊กเม้ง คือเป็นเจ๊กหมดเลย แล้วร้านเหล่านี้ลูกหลานสืบทอดต่อมาก็แปะป้ายว่าเจ๊ก เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อยุค 40 ปีก่อน คำว่า “เจ๊ก” ไม่ได้เป็นคำดูถูกอะไรเลย เพียงแต่ว่าพอมายุคหลังกลายเป็นคำที่เรียกแบบจิกหรือเปล่าไม่ทราบ
ส่วนคำว่า “จีน” ที่เรียกคนจีน มาจากคำว่า “ฉิน” นักวิชาการจีนเขาพูดว่ามันเริ่มจากอาณาจักรฉิน คือฉินแล้วกลายมาเป็นไชน่า เพราะอาณาจักรฉินใหญ่มาก และคนจีนส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น สถานะของชาวจีนปัจจุบันในบัตรประชาชนจะมีการระบุไว้ว่าเป็นเผ่าอะไร ไม่เหมือนของเราที่มีชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด แต่ของคนจีนจะระบุด้วยว่าเผ่าอะไร ซึ่งเผ่าส่วนใหญ่คือเผ่าฮั่น คือชาวจีนทั่วๆ ไป แต่ถ้าเป็นเผ่าอื่นก็ระบุว่าเป็นแมนจู เป็นฮุย เป็นไต เป็นอุยกู เพราะใครเป็นชนเผ่าอะไรก็จะมีสิทธิพิเศษตามความเป็นชนเผ่านั้นๆ เช่น ชนเผ่านี้มีลูกได้มากกว่า 1 คน มีลูกไม่จำกัด แบบนี้เป็นต้น