24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อไปเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมี “พระยาพหลพลพยุหเสนา” หัวหน้า “คณะราษฎร” เป็นหัวหน้าคณะผู้ก่อการ เหตุการณ์ในครั้งนั้นมาถึงปัจจุบันยังมีคำถามมากมายในการก่อการ คำถามหนึ่งที่คนสนใจใคร่รู้ก็คือ “ทำไมพระยาพหลพลพยุหเสนาจึงคิดปฏิวัติและสร้างประชาธิปไตยให้กับไทย ? “ ซึ่งคำถามนี้ผู้ทรงความรู้อย่าง “ธำรงศักดิ์ เพชรเลิสอนันต์” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของวิทยานิพนธ์ด้านประวัติศาสตร์การเมืองที่สำคัญเรื่องรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งต่อมาจัดพิมพ์ในชื่อ “2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ” เป็นวิทยานิพนธ์ที่ร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 และการล้มลงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้ให้คำตอบไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
อาจารย์ธำรงศักดิ์ กล่าวว่าพระยาพหลฯ ได้เดินทางไปศึกษาที่ประเทศเยอรมัน ได้เห็นภาพโลกยุโรป ได้เห็นภาพโลกเอเชียผ่านมหาอำนาจญี่ปุ่น และต่อมาพระยาพหลฯ ก็ได้ตามขบวนเสด็จของพระปกเกล้าฯ ไปเยือนยังสิงคโปร์ ชวา มาเลเซีย ทำให้เห็นโลกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มเติมอีก เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าอะไรทำไมพระยาพหลฯ จึงคิดที่จะสร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศ มาจาก 1.ฐานของพระยาพหลฯ ก็คือการเป็นสามัญชน เพื่อนร่วมรุ่นที่ไปเรียนเยอรมันด้วยกันล้วนเป็นลูกหลานท่านเธอเจ้านาย ดังนั้น ไม่มีใครคิดแน่ๆในเรื่องของดีโมเครซี่หรือประชาธิปไตย แต่สามัญชนที่ไปเจอโลกของสมัยใหม่ (เช่นพระยาพหลฯ) จะมองเห็นทันทีเลยว่าโลกของประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างประเทศ เพราะถ้าไม่ใช่โลกประชาธิปไตย สิ่งที่จะดำรงอยู่ในชีวิตทางการทหารของพระยาพหลฯ ก็จะเป็นโลกที่เรียกว่า โลกของการใช้หลัก “คุณลูกใคร”
“พระยาพหลฯ จะรู้สึกปวดใจมากว่าเมื่อคิดถึงหลักความสามารถ มันมีตอนหนึ่งพระยาพหลฯ เล่าให้ฟังว่ากองทัพจะซื้อปืน เป็นปืนใหญ่ของฝรั่งเศส แต่พระยาพหลฯ คัดค้านการซื้อปืนรุ่นนี้เพราะปืนของฝรั่งเศสนั้นเป็นปืนที่ใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 อันนี้เป็นการซื้อก่อนปี 2475 สักปีสองปี เมื่อปืนมันเป็นปืนใหญ่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 มันไม่สามารถที่จะปรับระดับการยิงที่ตัวปืนได้ และไม่สามารถเคลื่อนย้ายปืนได้ เพราะว่าไม่มีล้อ พระยาพหลฯ คัดค้าน แต่ปรากฏว่าในที่ประชุมของฝ่ายทหาร 30 กว่านาย เห็นชอบตามข้อเสนอ เพราะว่าผู้เสนอนั้นเป็นเจ้าใหญ่นายโต พอเจ้าใหญ่นายโตเสนอ ก็ไม่มีใครคัดค้าน พระยาพหลฯ จึงรู้สึกเจ็บใจมาก รู้สึกมันปวดที่ใจ พระยาพหลฯ เป็นคนที่ปวดที่ใจบ่อยมากเลย เพราะว่าไม่รู้จะทำยังไงในการที่จะห้าม
มีอยูู่วันหนึ่งพระยาพหลฯ เล่าว่าได้ไปเจอกับ
ทูตฝรั่งเศสในงานเลี้ยงที่วังเจ้านาย พระยาพหลฯ ก็ถามทูตฝรั่งเศสว่าทำไมคุณถึงเอาปืนสับปะรังเคซังกะบ๊วยมาขายให้กับประเทศเรา ทูตฝรั่งเศส อันนี้เป็นประโยคของทูตฝรั่งเศสเลยนะที่พระยาพหลฯ เล่าให้กับศรีบูรพาฟังในเรื่องการปฏิวัติ 2475 ทูตฝรั่งเศสบอกว่าประเทศของคุณไมได้ต้องการอาวุธที่จะรบกับประเทศไหน ประเทศของคุณต้องการอาวุธที่ต้องปราบจลาจลภายในประเทศเท่านั้น เข้าใจไหม ดังนั้น ใช้อาวุธพวกนี้ก็พอแล้ว พระยาพหลฯ โอ้ย…ยิ่งเจ็บร้าวใจไปมากๆ นี่คือปัจจัยของการปกครองที่ไม่มีระบบเหตุผล การปกครองที่ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีชาติวุฒิอะไร ไม่ใช่เรื่องของหลักเหตุผล หรือว่าความเหมาะสม ซึ่งพระยาพหลฯมองว่าสิ่งเหล่านี้คือปราการที่ทำให้ประเทศชาติไม่อาจพัฒนาได้ ไม่อาจเจริญได้ นี่คือสาเหตุที่ทำให้พระยาพหลฯ มองเห็นทางเดียวคือต้องเป็นประชาธิปไตย ประเทศถึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้”
ติดตามเนื้อหาเต็มๆ จาก “Talking Tour” Ep.5:พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสู่สังคมไทย โดย “ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์” ช่องทาง
- เพจเฟซบุ๊ก ทัวร์มติชนอคาเดมี
- เพจเฟซบุ๊ก Matichon Academy – มติชนอคาเดมี
- ยูทูบ Matichon Academy