เว็บไซต์ กรมอนามัย เผยแพร่ข่าว กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะหลัก 5 วิธี สำหรับผู้ปรุงอาหาร ผู้สัมผัสอาหาร ในการใช้ถุงมือให้ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงสะสมเชื้อโรค พร้อมเน้นย้ำให้หลีกเลี่ยงการสวมถุงมือแล้วหยิบจับทั่วไปหรือทำกิจกรรมอื่นๆ เพราะอาจเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย
โดยแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเลือกใช้ถุงมืออย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหาร ผู้ปรุงและผู้สัมผัสอาหารควรปฏิบัติตามข้อแนะนำ 5 ข้อหลัก ดังนี้
1. ใช้ถุงมือสำหรับอาหารโดยเฉพาะ (Food Grade)
2. เลือกใช้ถุงมือ 1 คู่กับอาหารประเภทเดียวกันเท่านั้น ไม่ใช้ปะปนกัน เช่น อาหารดิบ อาหารปรุงสุกด้วยความร้อนแล้ว อาหารพร้อมปรุง อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น
3. ห้ามใช้ถุงมือที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล เพราะอาจจะปนเปื้อน เป็นแหล่งนำเชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่างๆ มาสู่อาหารได้
4. หากต้องไปสัมผัสกับอาหารประเภทอื่น หรือต้องหยิบจับสิ่งของอื่นๆ เช่น เงิน ควรถอดถุงมือออกก่อนทุกครั้ง
5. ควรเปลี่ยนถุงมือทุกวัน ไม่ควรใช้ซ้ำเพราะอาจทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคได้ หากถุงมือเปื้อนมากควรรีบเปลี่ยนทันทีเช่นกัน
“ทั้งนี้ กรณีที่ร้านอาหารบางร้านอาจมีคนทำอาหาร คนเสิร์ฟ และคนคิดเงินเป็นคนเดียวกัน รวมถึงร้านขายผลไม้รถเข็น การสวมถุงมือเพื่อหยิบอาหารสดหรือเนื้อสัตว์ดิบ แล้วมาหยิบอาหารที่สุกแล้ว รวมถึงรับ-ทอนเงินจากลูกค้าโดยไม่เปลี่ยนหรือถอดถุงมือออกก่อน การสวมถุงมือก็ไม่ได้ช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อโรคแต่อย่างใด เพราะเชื้อโรคอาจมาจากเนื้อสัตว์ดิบ ไข่ดิบ รวมถึงเงินสดทั้งธนบัตรและเหรียญ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย จึงต้องดูแลล้างมือให้สะอาด ไม่ควรใช้มือหยิบจับอาหารโดยเฉพาะอาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว หรืออาหารที่พร้อมรับประทาน ควรใช้อุปกรณ์หยิบจับ แต่หากใช้ถุงมือ ควรใช้ถุงมือสำหรับอาหาร (FOOD GRADE) และที่สำคัญ ไม่สวมถุงมือแล้วหยิบจับทั่วไป หรือทำกิจกรรมอื่นๆ เพราะอาจทำให้เสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว