ก่อนที่การท่องเที่ยวจะพลิกฟื้นตื่นขึ้นมาอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งมีการปรับตัว ปรับปรุง และเปลี่ยนโฉมเตรียมต้อนรับการกลับมาของบรรดาลูกทัวร์จากต่างประเทศทั่วโลก รวมทั้งคนไทยด้วยกันเอง
“ถนนข้าวสาร” ระยะทางยาวประมาณ 400 เมตร เป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งที่ขึ้นชื่อลือเลื่องไปทั่วโลก ไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนที่ไม่รู้จัก เพราะประหนึ่งว่าเป็น “แลนด์มาร์ก” อีกแห่งของประเทศไทย จากสถิติของสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจถนนข้าวสารระบุว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังถนนสายเล็กๆนี้ ไม่ว่าชาวยุโรป อเมริกัน จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ ประมาณการในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน (ช่วงที่ยังไม่เกิดโควิด-19) และสร้างรายได้ให้กับพ่อค้าแม่ค้าผู้ประกอบการในย่านดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาทต่อปี
ช่วงโควิดระบาด และมีการประกาศปิดสถานประกอบการทุกแห่งบนถนนข้าวสาร ทางกรุงเทพมหานครถือโอกาสนี้ปรับปรุงเปลี่ยนโฉมใหม่ซึ่งเวลานี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ “สกลธี ภัททิยกุล” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงโครงการปรับปรุงถนนข้าวสารใช้งบประมาณ 48 ล้านบาท
ว่ารัฐบาลได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครปรับภูมิทัศน์ถนนข้าวสารและถนนเยาวราช เพื่อให้เป็นจุดแลนด์มาร์กใหม่ให้สวยงาม
โดยเริ่มนำร่องปรับภูมิทัศน์ถนนข้าวสารเป็นที่แรก จากการสำรวจของสำนักงานเขตพระนคร พบว่าย่านถนนข้าวสารมีจำนวนผู้ค้าประมาณ 250 ราย ซึ่งอาจจะต้องทบทวนใหม่ว่าจะจัดระเบียบกับผู้ค้าเหล่านี้อย่างไร นอกจากนี้ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานครยังกล่าวด้วยว่า ในเรื่องของเวลาเปิด-ปิด ถนนข้าวสาร อาจจะพิจารณาขยายเวลาเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ให้ทำการค้าเวลา 12.00 -24.00 น. โดยอาจแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ช่วงแรกตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ช่วงที่ 2 ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น. เพื่อให้สามารถรองรับผู้ค้ารายเดิมในถนนข้าวสารและผู้ค้ารายใหม่ที่จะเข้ามาค้าเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าผู้ประกอบการในย่านถนนข้าวสาร ยังคงมีข้อกังขากับเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครในการดำเนินการปรับปรุงถนนสายนี้ โดยเจ้าของร้านอาหารกึ่งผับแห่งหนึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวว่าคนในย่านนี้ส่วนมากแล้วไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับการปรับปรุงครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นการทำแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยโดยเฉพาะท่อสเตนเลสตั้งสูงขึ้นมาทั้งสองข้างและยังล็อคกุญแจไว้ด้วย
โดยปกติแล้วสองข้างทางถนนข้าวสารเป็นที่ตั้งของพวกแผงลอย รถเข็นขายอาหารจำพวกผัดไทย ข้าวไข่เจียว แต่เมื่อมีการปิดทางล็อกกุญแจจะทำให้พ่อค้าแม่ค้าไม่สามารถขายได้เหมือนเดิม ซึ่งตนมองว่าการทำอย่างนี้ของ กทม. จะสร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของร้านที่มีหน้าร้านบนถนนข้าวสารไปด้วย แม้แต่การจะนำรถเข้า-ออกหน้าบ้านของตัวเองก็ยังเป็นปัญหา เจอล็อกกุญแจก็ไม่รู้ว่าจะไปบอกใครให้มาเปิดให้ในแต่ละครั้ง
บนถนนที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม คนที่อยู่มาก่อนเคยใช้ชีวิตหรือคุ้นเคยกับสภาพแบบเดิมๆ อาจจะยังไม่ชิน แต่เมื่อสังคมยุคนี้ที่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป วิถีชีวิตแบบใหม่กำลังจะเริ่มคืบคลานเข้ามา การปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดและอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข บางครั้งอาจจำเป็นต้องยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี สำคัญที่ว่าเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงนักการเมืองที่ดูแล จะต้องดำเนินการทุกอย่างให้โปร่งใส ตรงไปตรงมา เพื่อสร้างความเชื่อถือ ลดความหวาดระแวงให้กับผู้ค้าและประชาชน งานทุกอย่างน่าจะเดินสู่เป้าหมายได้ไม่ยาก
สำหรับ “ถนนข้าวสาร” เป็นถนนที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2435 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกรมโยธาธิการได้กราบบังคมทูลให้ตัด “ถนนตรอกข้าวสาร” เริ่มตั้งแต่ถนนหน้าวัดชนะสงคราม ตัดมาทางตะวันออกตามตรอกข้าวสารแล้วสร้างสะพานข้ามคลองมาบรรจบกับถนนเฟื่องนคร ตอนหน้าสวนหลวง ตึกดิน พระราชทานนามถนนตามเดิมว่า “ถนนข้าวสาร”
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่บริเวณนี้เป็นตรอกขายข้าวสาร ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งค้าขายข้าวสารที่ใหญ่ที่สุดของเขตพระนคร ข้าวสารจำนวนมากส่งมาจากฉางข้าวหลวง สะพานช้างโรงสี ริมคลองคูเมืองเดิม หรือ ปัจจุบันคือคลองหลอด เลียบมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นที่ท่าเรือบางลำพู เพื่อนำข้าวมาขายให้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ นอกจากนี้ ยังขายถ่านหุงข้าว ของชำ หลังจากนั้นเมื่อเริ่มเกิดชุมชนหนาแน่นขึ้น เริ่มมีร้านขายของ เช่น ร้านขายของเล่นอย่างลูกข่าง ร้านขายก๋วยเตี๋ยวเรือ จาก “ตรอกข้าวสาร” จึงกลายมาเป็น “ถนนข้าวสาร” ในเวลาต่อมา
พ.ศ. 2525 ถนนข้าวสารเดิมเป็นย่านเก่าตั้งแต่สมัย เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร ครบ 200 ปี นักท่องเที่ยวเหล่านั้นได้เข้ามาเช่าห้องพักอาศัย เพื่อเที่ยวชมเมืองหลวงของไทยในช่วงเทศกาลสำคัญนี้ และเริ่มมีฝรั่งเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด โดยมีทีมงานกองถ่ายจำนวนมากมาเช่าเกสต์เฮาส์อยู่ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มี จึงกลายเป็นที่มาของเกสต์เฮาส์ย่านถนนข้าวสาร ระยะหลังเริ่มมีคนเข้ามาเรื่อยๆ จนกลายเป็นศูนย์รวมของพวกแบ็คแพ็กเกอร์ที่มาท่องเที่ยวประเทศไทยจนโด่งดัง กลายเป็นย่านบันเทิงยามราตรีที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร