แวดวงการตลาดคงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘แมท-สุวิทย์ เอื้อศักดิ์ชัย’ จากบัณฑิตหนุ่ม คณะศิลปศาสตร์ เอกธุรกิจอังกฤษ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) เมื่อ 30 ปีก่อน ปัจจุบันเป็นนักสร้างแบรนด์ตัวยง ผู้ปลุกปั้นแบรนด์ชั้นนำประดับประเทศให้ประสบความสำเร็จมาแล้วกว่า 50 แบรนด์ และ เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทแบรนด์แมทเทอร์แพลน จำกัด
‘แมท-สุวิทย์’ เล่าถึงเส้นทางชีวิต กว่าจะมาเป็นนักสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จได้ ว่า ย้อนไปเมื่อตอนจบใหม่ เรารู้ตัวแล้วว่า เรามีความมุ่งมั่นอยากจะเป็น AE คือ ผู้ประสานงานระหว่างลูกค้ากับครีเอทีพ ก็อยู่ในเอเยนซี่ ทำงานได้ประมาณ3ปี ทำให้เราได้เรียนรู้ วัฏจักรของการทำโฆษณาซึ่งยุคนั้นไม่มีคำว่าแบรนด์ อะไรๆก็จะเป็น advertising campaign เป็นแคมเปญหมดเลย ออนไลน์ไม่มี มีแต่ออฟไลน์ ฉะนั้นการสร้างชื่อเสียงให้กับสินค้าหรือองค์กรในยุคนั้นยากยิ่งกว่า แต่ทำแล้วคงทนยิ่งกว่า เพราะว่าความสำเร็จตรงนั้นกระบวนการทำโฆษณาหรือการตลาด เข้าถึงผู้บริโภคอย่างแท้จริง ไม่ได้วูบวาบเหมือนสมัยนี้
จากนั้นผมก็ไปเรียนรู้เพิ่มประสบการณ์ ถูกชวนไปทำครีเอทีพ บริษัทแมทชิ่ง เอนเตอร์เทนเมนต์ เรียนรู้วิธีการการเป็นออแกไนซ์เซอร์ ทำรายการทีวี ทำโชว์ นำโชว์ต่างประเทศเข้ามา จากตรงนั้นเราเลยตกผลึกว่า เราเริ่มมีความสนใจในเชิงของการตลาดที่ลึกขึ้น มีโอกาสกลับเข้าสู่วงการโฆษณาอีกครั้ง แต่เป็นระยะสั้น
และบังเอิญได้รู้จักพี่คนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจ คือเจ้านายเก่า เขาเก่งในเชิงของครีเอทีพและนั่งคุยกันว่าเราอยากจะสร้างแพลตฟอร์มธุรกิจของเอเยนซี่โดยนำแบรนด์ดิ้งเข้ามาเป็นศาสตร์ เป็นหัวใจหลักของธุรกิจ ตอนนั้นมีแต่บริษัทแบรนด์ดิ้งในเชิงแบรนด์ดีไซน์มากกว่า เช่น บริษัทที่ออกแบบโลโก้ เราเลยคิดแพลตฟอร์มใหม่ของธุรกิจโดยเอาทฤษฎีของการสร้างแบรนด์ เราไม่ได้ศึกษาจากต่างประเทศ เราใช้ประสบการณ์การตลาดที่เราทำ advertising campaign ให้ลูกค้าประสบความสำเร็จ แล้วมาสร้างแพลตฟอร์มใหม่ เป็นทฤษฎีใหม่ ไม่อยากใช้คำว่าลองผิดลองถูก แต่เราทำแบบ 1.งานออกแบบที่ดีมันต้องมีตรรกะ มีที่มาที่ไปโดยที่เราศึกษา Consumer Inside ทำวิจัยเอาข้อมูลการตลาดของลูกค้ามาทำ เพื่อเป็นทฤษฎีนำทางแล้ว เราไม่ได้อ้างอิงจากฝรั่ง แต่เราก็อ่านของฝรั่ง อยู่ดีๆเราไปหยิบของฝรั่งมาใช้ดื้อๆไม่ได้ เพราะคนละกลุ่มเป้าหมาย คนไม่เหมือนกัน นิสัยไม่เหมือนกัน พฤติกรรมไม่เหมือนกัน งานแสดงออกในเชิงงานสร้างสรรค์จะได้มีตรรกะที่มาที่ไป ไม่ใช่เราดูอะไรแล้วเรารู้สึกว่าสวยไม่สวย เลยเป็นที่มาของการเปิดบริษัทการสร้างแบรนด์ที่รวมทั้งกลยุทธ์การตลาด กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ กลยุทธ์การโฆษณา และงานดีไซน์ พูดง่ายๆงานสื่อสาร ลูกค้ามาต่อคิวเต็มเลย
ฉะนั้นเราต้องมีความพร้อม ลูกค้าที่ให้การสนับสนุน เป็นลูกค้ารายใหญ่ เขาเชื่อมั่นในวิถีของการทำแบรนด์ แน่นอนว่าการสร้างแบรนด์เมื่อ20ปีที่แล้ว เรานำเสนอในเชิงตรรกะ ว่างานออกแบบที่ดีในเชิงแบรนด์ดิ้ง ในเชิงของอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ มันควรมีที่มาที่ไปแบบนี้ แล้วเราก็นำกลยุทธ์การตลาดมาผนวกด้วย เพื่อให้ตอบโจทย์การตลาดได้เร็วขึ้น ออกมาในรูปบริการลูกค้า เราเรียกว่าแบรนด์ดิ้งแคมเปญ มี2ส่วน คือกลยุทธ์ และการพัฒนาอัตลักษณ์ และเป็นในส่วนของการให้บริการในเชิงการทำกลยุทธ์โฆษณาที่เป็นยุคของออฟไลน์100%
และปัจจุบันนี้ เนื่องจากผมได้ยุติบริษัทนั้น เราก็เลยมองเห็นว่ามันเป็นยุคเปลี่ยนถ่ายที่ออนไลน์เข้ามามีบทบาท อย่างแรกเฟซบุ๊กไม่ได้มีไว้เพื่อขาย เฟซบุ๊กมีไว้เพื่อความสนุก เพื่อโพสต์เหมือนไดอารี ถ่ายรูป คล้ายๆเหมือนยุคHI5 เราก็เลยรู้สึกว่าลูกค้าหลายๆราย หรือผู้ประกอบการหลายๆรายเริ่มให้ความสนใจ เริ่มมีการเปลี่ยนงบประมาณในการใช้เงิน จากวิถีกลยุทธ์การตลาด ก็เริ่มเปลี่ยนมาสนใจเรื่องออนไลน์มากขึ้น มันเป็นยุคของมาร์เก็ตติ้ง3.0 มีเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามา ฉะนั้นตัวผมเองเลยต้องปรับตัว แทบจะปรับมากกว่า 100% เพราะลูกค้าที่ผมเคยดูแลเป็นลูกค้าระดับองค์กร เลยอยากจะเข้ามาช่วยพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ SME สตาร์ตอัพ
สถิติการจดทะเบียนของ SME เป็นหมื่นเป็นแสน แต่คนที่อยู่รอดได้มีแค่ไม่กี่พัน ฉะนั้นเราเลยอยากจะเป็นส่วนหนึ่งให้คนทั่วไปได้เห็นความสำคัญของการสร้างแบรนด์แบบถูกต้อง ไม่ใช่การสร้างแบรนด์แบบใช้สัญชาติญาณ เพราะแน่นอนทุกคนมักจะลืมและเผลอไผลเอาสัญชาติญาณตัวเองกับรสนิยมมาทำแบรนด์ ถามว่าสำเร็จไหม มันก็มีบ้างที่ประสบความสำเร็จแต่มันคงเหนื่อยน่าดูถ้าเราไม่รู้จักขั้นตอน ฉะนั้นสิ่งนี้จากการที่ผมเคยทำให้กับบริษัทใหญ่โต กับกลุ่ม SME วิธีคิดของผม วิธีคิดเดียวกัน แต่มันง่ายขึ้นมันลัดขั้นตอน เราย่อยทฤษฎีมาให้ในเชิงประยุกต์เลย เพื่อให้เข้ากับโจทย์ของกลุ่มลูกค้า
อย่างยุค3.0 ยุคของออฟไลน์ มันเป็นมาร์เก็ตติ้งแบบแมส แต่ถ้าเราเอากลยุทธ์ที่ใช้กับแมส มาใช้กับ SME สตาร์ตอัพ ผมว่ามันจะล้มเหลว เพราะคุณต้องใช้เงินทุนมากมาย ฉะนั้นยุคนี้เป็นยุคของการเจาะกลุ่ม เขาเรียกว่า คัสตอมเมอร์เซ็กเมนต์ เพราะตีวงแคบ มันคือการที่เราเจอลูกค้าตัวจริง วิธีคิดของการสร้างแบรนด์เหมือนกัน แต่แค่เราปรับตัวว่า 1.ยุคนี้ หลังโควิด มันไม่ใช่ยุคออนไลน์แล้ว มันเป็นยุค Omni Channel หมายความว่า เจ้าของแบรนด์ต้องเรียนรู้ในการพัฒนาออนไลน์กับออฟไลน์ไปด้วยกัน จะเอาอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ แต่ต้องเลือกใช้ด้วย เพราะเครื่องมือมันมีเยอะ
- ออฟไลน์หรือออนไลน์ สิ่งไหนจำเป็นมากกว่า
อยากจะให้วิเคราะห์เชิงลึกเพราะมันขึ้นอยู่กับบริบทกับธุรกิจที่เราทำ และถ้าเราเจอฐานลูกค้าที่แท้จริง เราจะสามารถเลือกใช้ออฟไลน์ออนไลน์บางตัว บางอาวุธเพื่อให้มันเหมาะสมกับเงินในกระเป๋าที่มี
ตอนนี้ตั้งบริษัทตัวเอง ชื่อ บริษัทแบรนด์แมทเทอร์แพลน จำกัด เป็นบริษัทเพิ่งจดทะเบียนใหม่ได้ประมาณ1ปีเศษ การที่ผมให้มีแบรนด์แมทเทอร์แพลนด์หมายความว่า เราวางแผนให้คุณทุกระบบ ทั้งระบบ พูดง่ายๆ การที่คุณมีประสบการณ์น้อยหรือมาก คุณไม่ต้องกลัวเลยเพราะเราจะมีพื้นฐานให้สำหรับทุกคนที่เข้ามา
- ตอนที่เปิดครั้งแรกและมีลูกค้าเข้ามา มีฟีดแบคยังไงบ้าง
ส่วนใหญ่เป็นเชิงบวก แต่มันค่อนข้างเหนื่อยในการอธิบายให้ลูกค้าในกลุ่ม SME สตาร์ตอัพเข้าใจว่าทำไมฉันต้องสร้างแบรนด์ อันนี้เป็นคำถามเบสิคที่ผมต้องตอบอยู่เสมอ และเขาก็จะถามว่าผมมีเครื่องมืออะไร เครื่องมือของผมมีแน่นอน เป็นเครื่องมือที่ผมเอามาใช้เมื่อ15ปีที่แล้ว ชื่อแบรนด์สเคป ผมเอามาประยุกต์ใช้กับผู้ประกอบการ SME คือ เจ้าของธุรกิจต้องเจอ2ตัว มี แบรนด์ควิซ การหาตัวเองโดยเราต้องเจอ แบรนด์มีนนิ่ง กับ แบรนด์คาแรคเตอร์ ฉะนั้นแบรนด์ที่จะประสบความสำเร็จได้ตามสูตรของผมหรือตามสูตรของบริษัทแบรนด์สเคปที่เคยทำ เอามาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน แบรนด์มันถูกกำหนดว่า แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จจะมีบุคลิกที่น่าสนใจอยู่ 13 บุคลิก ผมจะเป็นคนทดสอบให้ เพื่อให้เจ้าของแบรนด์ ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไร คุณจะได้เจอตัวตนสักที เพื่อป้องกันความผิดพลาดและปัญหาที่คุณจะเจอในอนาคตจากการทำแบรนด์โดยใช้สัญชาตญาณ
- จากบุคลิกคุณแมท เป็นคนไม่อยู่นิ่ง มีความกระตือรือร้นตลอดเวลา คนที่อยากทำด้านนี้ต้องมีบุคลิกแบบนี้ใช่ไหม
อาชีพนี้มันมีน้อยมาก ฉะนั้นทุกคนสามารถเป็นได้ ถ้าคุณอยากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนกลยุทธ์การตลาดหรือการสร้างแบรนด์ ต้องอาศัยประสบการณ์ค่อนข้างเยอะและนานพอสมควร เพราะอาชีพนี้ เราเป็นคนให้คำแนะนำในการกำหนดกลยุทธ์ ฉะนั้นเราไม่สามารถหยิบกลยุทธ์จากหนังสือ มันไม่มีกลยุทธ์สำเร็จรูป เพราะเราต้องวิเคราะห์ด้วยตัวเอง กับฐานข้อมูลที่ลูกค้าเก็บมา ต่อมาคือต้องไม่เครียด เพราะงานสายนี้มันเครียด ความเป็นความตาย ฉะนั้นการทำแบรนด์ที่ดีจากคนที่มีเงินทุนในการต่อยอดธุรกิจ บางคนเบื่องานประจำ บางคนคิดว่างานประจำมีรายได้ไม่แน่นอน แต่ถ้าคุณมีเงินเก็บก็ต้องมานั่งคุยกันว่าเงินเก็บของคุณมันมากเพียงพอสำหรับทำการตลาดหรือเปล่า เพราะเงินเก็บคุณสามารถทำของขายได้แต่คุณอาจจะไปไม่สุด เพราะคุณไม่มีงบฯการตลาดบนหน้าตัก
- ที่ทำมาเบื่อกับมันหรือยัง
ผมจะมีวิธีแก้เบื่อ ตอนนี้ผมทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องแบรนด์ เช่น เขียนหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊ก เป็นคอนเทนต์เรื่องแบรนด์ แต่เป็นคอนเทนต์แบรนด์แบบใหม่ๆไม่ใช่ตำรา ผมเอาประสบการณ์มาแชร์ให้ฟัง ส่วนที่สองเป็นผู้ดำเนินรายการทีวี รายการแบรนด์แซ่บ ออกอากาศทางTNN16 ทุกวันอังคารเวลา 14.30 น.เป็นซีซัน2 ที่พูดมาก็คืองานอดิเรกแบบประจำ ยังไม่เบื่อและสนุกกับมัน งานที่3คือก็ถูกว่าจ้างเป็นวิทยากรรับเชิญให้กับหน่วยงาน องค์กร สถาบัน 4.เป็นเหมือนแบรนด์ติวเตอร์ เป็นที่ปรึกษาการสร้างแบรนด์ มี2ลักษณะ คือการสร้างแบรนด์ให้กับองค์กร อันนี้คืองานประจำ และเป็นพี่เลี้ยงคล้ายๆเหมือนกับดูแล Personal branding ส่วนใหญ่ก็มาเรื่อยๆ มีหลากหลายอาชีพ ทำให้มีกลยุทธ์ตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่อยู่ดีๆอยากขายก็อ้าปากขาย
- แบรนด์สินค้า กับแบรนด์บุคคลต่างกันยังไง
แบรนด์บุคคลยากกว่า คือ 1. ถ้าคนไม่กล้าจะทำยังไงให้เขากล้า ถ้าคนไม่ดัง ทำยังไงให้เขาน่าสนใจ มันเหมือนสร้างภาพพจน์ภาพลักษณ์ให้เขา อย่างคนพูดไม่เก่ง ทำยังไงให้เขาพูดเก่ง มันคนละส่วนกับการที่เขาไปเรียนเพิ่มเติมในส่วนของการพัฒนาบุคลิกภาพ
ถามว่าเกี่ยวกับเรื่องแบรนด์มั้ยก็คือไม่เกี่ยว ผมก็ต้องเข้าไปช่วยเขาขุดคุ้ย เชิงลึกว่า วิสัยทัศน์ของเขาคืออะไร ไม่ใช่นอกเหนือจากว่าคุณอยากจะทำอะไรขาย แต่โดยพื้นฐานของมนุษย์คำตอบส่วนใหญ่ที่มาเจอผม อยากรวยขึ้น มันเป็นเรื่องของการอยู่รอดมากกว่า แต่อยู่รอดยังไงให้รู้สึกว่าได้ทั้งสติ ได้ทั้งสตางค์ บางคนถ้าสติน้อยลงเท่าไหร่ สตางค์มีวันหมดนะ
ฉะนั้นการสร้างแบรนด์บางทีผมก็ดู คือ จะพยายามสอดแทรกเข้าไปว่าผู้ประกอบการเอง บางทีก็มีในส่วนของธรรมะ วางสายกลางเข้ามา บางคนวางเป้าสูงเกินไป ก็ต้องมานั่งคุยกัน วางเป้าสูงเกินไปเธอทรมานหรือเปล่า เธอทุกข์ไหม เธอทำได้ไหม ถ้าเธอทำไม่ได้ เธอก็ต้องลดลงมา ไม่ว่าจะเป็นอายุเท่าไหร่ก็ตามเป็นอย่างนี้หมดเลย
- แสดงว่าส่วนตัวเป็นคนอยากทำบุญเข้าวัด
เดิมผมเป็นคนไม่เคยเข้าวัด ต้องถูกบังคับไป ไปแบบฝืนๆ มาตอนนี้ใครชวนไปก็ไป เนื่องจากเป็นช่วงที่ดูแลแม่ ก่อนแม่ขึ้นสวรรค์ ใส่บาตรแทนแม่ ก็เริ่มรู้สึกว่างานเราเครียด เครียดเรื่องงาน แต่ตัวเราสนุก สนุกในการทำงานมันไม่เหมือนกันนะ พอเราเครียดมากปุ๊บ พอแม่อาการไม่แข็งแรงตามวัย เราก็เลยมานั่งคิดว่า อะไรเป็นทางสายกลางที่ทำให้เรารู้สึกว่าทุกอย่างเครียดน้อยลง บังเอิญรู้จักครูบารูปหนึ่ง ท่านคุยเรื่องนี้กับเราในเชิงการทำธุรกิจ และให้เราได้มีส่วนร่วมไปช่วยวัดที่เชียงใหม่ เราก็เลยเริ่มใกล้ผ้าเหลืองมากขึ้น
โดยที่เหตุการณ์พาไป ท่านกล่อมเราว่าสวดทำวัดเย็น ทำวัดเช้าบ้างนะโยม ตอนแรกเราฟังแล้วเราก็เฉยๆ เรื่องของเรื่องอะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับตัวเรา เราจะไม่เข้าหา แต่พอมีเรื่องแม่เข้ามาเราก็เลยรู้สึกว่าเราทำแล้วสบายใจกับการที่เราโดนโกงทางธุรกิจ เราก็เลยกลายเป็นมนุษย์ที่ปลงเร็ว ปล่อยวางเร็ว ผมเคยโดนโกง20ล้าน เป็นคนอื่นไม่โรคซึมเศร้าก็ฆ่าตัวตายหรือเปล่า ผมเป็นโรคภาวะซึมเศร้าภายใน5ชม. แล้วผมก็หาย ผมใส่บาตรเกือบทุกวันตลอด9ปี จนคนในเฟซบุ๊กเห็นผมเป็นไอดอล
เขาเห็นคอนเทนต์เราในเฟซบุ๊ก 4 อันดับ 1. ใส่บาตร 2.โพสต์รูปเซลฟี่กับแม่ 3.ทำงาน 4.กิน นี่คือคอนเทนต์หลักที่เขาเห็นเรามาตลอด ที่น่าขนลุกก็คืองานแม่ ตอนแม่อายุ 102 ปี เมื่อ3ปีที่แล้ว ตอนจัดพิธี เราจะบอกคนที่มาว่าอย่าใส่ขาวดำ เพราะที่บ้านคนจีน ถ้าคนจีนที่เคร่ง ถ้าอายุ100ปี แปลว่าเฉลิมฉลอง ครอบครัวจะรุ่งโรจน์ยิ่งกว่าทำฮวงซุ้ยดีๆอีก เขาให้ลูกใส่เสื้อสีแดง และแขกที่มาใส่เสื้อสีสัน สีอะไรก็ได้ ส่วนหลานเป็นต้นไปใส่สีฟ้า อันนี้เป็นขนบธรรมเนียมของคนจีน มณฑลหนึ่ง คนจีนถ้าเป็นรุ่นเสื่อผืนหมอนใบจะเข้าใจ
ประเด็นก็คือ คนที่เป็นเฟรนด์ในเฟซบุ๊กเรา ส่งพวงหรีดมาให้เรา ซึ้งมากเลยที่คนเขาตามเรา เรารู้สึกว่ามิตรภาพที่เขาเห็นมา9ปี เราต้องจดชื่อจริงๆ เพราะสิ่งนี้เราต้องทดแทนเขา เพราะเขาส่งมา เราก็ต้องส่งกลับ ผมชอบทำบุญ ผมทำบุญหมดทั้งพระไทยพระจีน เท่าที่ทำได้ ที่ไปประจำคือมูลนิธิเทียนฟ้า เยาวราช เพราะแม่ไปทุกเดือน
บ้านเก่าอยู่เยาวราช ผมเป็นคนกรุงเทพฯ แต่พ่อกับแม่เป็นคนจีน อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ ที่บ้านทำโรงสีข้าว และมีธุรกิจกงสีคือ โรงงานทำพลาสติก มีพี่น้อง4คน โดยพี่สาว2คนทำกิจการใหญ่โต พี่สาวอีก1คนเป็นแม่บ้าน ส่วนผมไม่ได้ยุ่งกับธุรกิจกงสี แยกออกมาทำธุรกิจของตัวเอง
- แพลนบั้นปลายชีวิตไว้ยังไง
อยากเป็นอาจารย์ เดิมไม่เคยคิดเลยว่าจะเป็นอาจารย์ อยู่ดีดีโชคชะตาพาไปให้จับไมค์พูด จากคนที่จับไมค์พูดได้ แต่ไม่กล้าพูดกับคนเยอะๆ เพราะเราไม่เคยอยู่ในสายวิทยากรมาก่อน แต่อยู่ดีๆก็ต้องมาพูด อาจจะเป็นเพราะว่าเราใช้ personal branding ตัวเอง การเป็นนักพูดเราต้องรู้ก่อนว่าผู้ฟังอยากได้อะไร ผู้ฟังอยากฟังคนพูดแบบไหน เผอิญโชคดีตัวเองเป็นคนพูดวิชาการได้ แต่ไม่ Formal มันก็เลยเป็น personal brandingของเราที่คนสนใจให้เราร่วมงานด้วยกับหน่วยงานต่างๆ บอกต่อกันไป
- มีสิ่งที่อยากทำแล้วไม่ได้ทำไหม
ทำมาหมดแล้ว แต่มีข้อเสนอหนึ่งที่มีคนติดต่อมาให้ทำ2รอบ แต่ไม่กล้าทำ คือผู้กำกับหนัง เพราะผมเป็นครีเอทีฟ คิดสตอรี่บอร์ดมาตลอด อยู่กับกองถ่าย กำกับเวทีรายการ กำกับละครเวทีมา 8 เรื่อง ของหนุ่มเสก สตูดิโอมิวสิคสไตล์ เป็นยุคที่ยังไม่มีรัชดาลัย ศูนย์วัฒนธรรมซ่อมแซมอยู่เท่าที่จำได้ ผมเป็นคนพาพี่ทูล พี่บ๊อบ หิรัญทรัพย์ กลับเข้าวงการอีกรอบ ตอนนั้นเป็นมนุษย์กลางคืน เป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่3ปี การทำโชว์กลางคืนยากมาก เพราะชีวิตกลางวันก็คือคุมสคริป ซ้อม กลางคืนต้องอยู่สถานที่ดูไลท์ติ้ง ทุกอย่าง จุดเริ่มต้นแบบฟลุ๊คๆเลยนะ ก่อนที่จะมาทำโชว์ที่สร้างชื่อและบอกต่อ ก็คือ เป็นคนคิดคอนเสิร์ตให้พี่บอย โกสิยพงษ์ ยุคมาบุญครอง MBK เปิดตัวนภ พรชำนิ ทำอะไรบ้าง ออกแบบฉาก ออกแบบไลท์ติ้ง รันสคริป ดูคิวเพลง ดูทุกอย่าง อะไรที่ไม่เคยทำ ได้ทำหมดเลย
ผมดูหนังจุดประกายอาชีพเลย คือ เก้าอี้ขาวในห้องแดง คือ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง กับอุทุมพร ศิลาพันธ์ เกี่ยวกับเรื่อง อินทีเรียดีไซน์เนอร์ และช่างมันฉันไม่แคร์ สินจัย หงษ์ไทย เล่นเป็น AE สมัยก่อนหาไอดอลแบบนี้
นอกจากนี้ผมชอบแต่งบ้าน มีเพื่อนคนหนึ่ง หนังสือบ้านและสวนจะไปถ่ายบ้านเขา แต่เขาไม่พร้อม เขามาถามผมว่าบ้านสีขาวหรือเปล่า ผมก็บอกว่าใช่ หนังสือบ้านและสวนเลยมาถ่ายที่บ้านผม ปรากฏว่าหลังจากนั้นมีคนมาขอให้ไปแต่งบ้านให้ ผมก็แต่งบ้านไปเรื่อยๆ เชื่อไหมว่าได้ขึ้นปกกันหมด งานอดิเรกมาอีกแล้วให้เป็นอินทีเรียสไตลิสต์ ให้เขียนคอลัมน์ หนังสือเล่มไหนออกผมจะโดนเป็นคนแรกที่เขียน เช่น นิตยสารฮันนีมูนทราเวล ผมก็เขียน นิตยสาร@Kitchen (แอทคิทเช่น) ผมก็เขียน นิตยสาร โฮมแอนด์เดคคอร์ ผมก็เขียน นิตยสาร ELLE DECOR (แอล เดคคอร์) ผมก็เขียน จนมีคอลัมน์ประจำในโฮมแอนด์เดคคอร์ 6 หน้า 3 ปี เป็นงานอดิเรกหมดเลย จนในที่สุด เปิดบริษัทอินทีเรีย ผมเปิดบริษัท อาคิเทค ตอนนั้นพลังเยอะ รวมทั้งเปิดค่ายเพลง “Brand Voice” (แบรนด์ วอยซ์) ศิลปินคนแรก คืออัลบั้มตัวเอง ร้องกัน4คน มีแอน ธิติมา เป็นเกสต์ เอามาช่วยดึงหน้าปก เราฟินนะพอมาเปิดในคลื่นวิทยุ
ประสบการณ์ที่สั่งสมมาหลายสิบปี จึงทำให้ แมท-สุวิทย์ กลายเป็นนักสร้างแบรนด์คนดัง ที่ประสบความสำเร็จในวันนี้
____________________________________________
สำหรับผู้ที่อยากเรียนสร้างแบรนด์กับมืออาชีพ
แมท-สุวิทย์ เอื้อศักดิ์ชัย ตอบรับ การสอนหลักสูตรทางลัดการสร้างแบรนด์ในธุรกิจอาหารเบื้องต้น (คอร์สออนไลน์) ให้กับ มติชนอคาเดมี ราคา 4,500 บาท
เนื้อหาที่สอน :
- A .วิเคราะห์ตรวจสุขภาพแบรนด์5ข้อ
Brand Believe การสร้างความเชื่อ
Brand Relvance การหาความเชื่อมโยง
Brand Ability การวิเคราะห์ความสามารถ
Brand Network การสร้างเครือข่าย
Brand Differentiated การหาความโดดเด่น
- B.การค้นหาสาระสำคัญของการสร้างแบรนด์ มีอยู่ 4 ข้อ
Brand Vision
Brand Mission
Brand Promise
Brand Value
- C.การสร้างแผนธุรกิจ Brand Business Model มี 9 ปัจจัย
- D.การเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ 4C Analysis มี4ปัจจัย
วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม 2563 เวลา 13.00 น.
เรียนทาง Liveสด กลุ่มปิด เฟซบุ๊กมติชนอคาเดมี
-อาจารย์พร้อมตอบทุกคำถามที่สงสัย
-สามารถดูซ้ำได้
- สนใจติดต่อมติชนอคาเดมี
- Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
- Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
- Inbox Facebook : Matichon Academy – มติชนอคาเดมี
- line : @matichonacademy