ตลาดมะพร้าว 12,000 ล้านเดือด “อาหารเมอริท” บิ๊กส่งออกกะทิ ร่อนจดหมายแจงห้างดังอังกฤษ-สหรัฐ ชี้พิรุธ PETA อุปโลกน์กล่าวหาไทยใช้แรงงานลิงกัง เป็นรอบที่ 2 แล้ว ซัดเป็นข้ออ้างเพื่อใช้กีดกันกะทิไทยพร้อมกระทุ้งพาณิชย์ใช้มาตรการตอบโต้บ้าง ด้าน “จุรินทร์” เรียกประชุมเอกชน-องค์กรพิทักษ์สัตว์
หลังจากที่สำนักข่าว BBC รายงานข่าวองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (PETA) ออกมากล่าวหาประเทศไทยมีการใช้ “ลิงกัง” เป็นเสมือนหนึ่ง “เครื่องเก็บมะพร้าว” เป็นการใช้แรงงานลิงที่ถูกจับมาจากป่า แล้วนำมาฝึกฝนให้เก็บมะพร้าว วันละ 1,000 ลูก
พร้อมกันนั้น PETA ได้เรียกร้องให้ผู้บริโภค ซึ่งเป็น “คนดี” ไม่สนับสนุนการใช้แรงงานลิง โดยให้เลิกซื้อผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่ผลิตและส่งออกจากไทย ส่งผลให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในสหราชอาณาจักร ต่างขานรับข้อเรียกร้องของ PETA ด้วยการหยุดนำเข้าผลิตภัณฑ์มะพร้าว จากไทยออกจากชั้นวางของทันที
พาทูต EU ชมโรงเรียนฝึกลิงกัง
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะประชุมร่วมกับองค์กรพิทักษ์สัตว์ในประเทศไทย 2 องค์กร และผู้ประกอบการผลิตมะพร้าวและกะทิสำเร็จรูปส่งออก อาทิ แบรนด์
พร้อมกันนี้ ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กับกระทรวงการต่างประเทศ กำลังอยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อนำคณะเอกอัครราชทูตจากประเทศผู้นำเข้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทย “ลงพื้นที่” เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงในกระบวนการผลิตมะพร้าวไทยไม่ได้มีการทารุณสัตว์
“ตอนนี้เรากำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ข้อมูลที่ทาง PETA กล่าวอ้างถึงพื้นที่ที่มีการทารุณลิง 8 แห่งนั้นอยู่ที่ไหนบ้าง เพราะตรงส่วนนี้ยังไม่มีความชัดเจน โดยไทยยืนยันได้ว่า การใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นวิถีชีวิตท้องถิ่น ไม่มีการทารุณ และเราจะนำคณะทูตไปดูโรงเรียนฝึกลิงด้วย” นายสมเด็จกล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการส่งออกมะพร้าว-ผลิตภัณฑ์กะทิไปจำหน่ายยังสหราชอาณาจักร ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี โดยจำหน่ายในห้างค้าปลีกหลัก เช่น เวทโทรส, โอคาโด, โค-ออป, บู๊ทส์ และอื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วน 30% หรือราว 300 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 70% หรือ 700 ล้านบาท ส่งออกไปจำหน่ายยังร้านค้าปลีกเอเชียในตลาดสหราชอาณาจักร
และจากการตรวจสอบข้อมูลกรมศุลกากร ถึงรายชื่อผู้ส่งออกกะทิ/ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกะทิไปยังสหราชอาณาจักร 5 อันดับแรก ได้แก่ บริษัทไทยโคโคนัท, บริษัทสุรีย์ อินเตอร์ฟู้ดส์, บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารเมอริท, บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว และบริษัทอินโนเฟรช
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ลิงถูกโจมตี
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ในปี 2562 ไทยส่งออกกะทิไปยัง 119 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 411 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 12,766 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4%
ล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 2563) ไทยส่งออกคิดเป็นมูลค่า 5,073 ล้านบาท หรือ 163 ล้านเหรียญ หดตัว 4.5% ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 35%, ออสเตรเลีย 9%, สหราชอาณาจักร 8%, แคนาดา 6% และเนเธอร์แลนด์ 5%
“ห้างโมเดิร์นเทรดอังกฤษนำสินค้าของไทยออกจากชั้นวางสินค้าโดยสมัครใจเพียง 3 ร้านเท่านั้น แต่ยังคงมีผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ไม่ได้นำสินค้าไทยออกจากชั้นวางสินค้า รัฐบาลอังกฤษเองก็ยังไม่มีมาตรการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา ดังนั้นในภาพรวมขณะนี้จึงยังไม่มีผลต่อการส่งออกสินค้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์ไปอังกฤษ” นายวิศิษฐ์กล่าว
ขณะที่นางสาวชนัญชิดา บุรุษเลี่ยม ซีเนียร์เซลส์ซูเปอร์ไวเซอร์ บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารเมอริท ผู้ผลิตกะทิสำเร็จรูปส่งออกอันดับ 3 ไปยังสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ PETA ก็เคย “โจมตี” ประเทศไทยในประเด็นนี้มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน
และเมื่อเหตุการณ์ถูกโจมตีเรื่องนี้กลับมาอีกครั้ง ทางบริษัทได้ทำจดหมายยืนยัน (leter of garantee) ชี้แจงไปยังผู้นำเข้าว่า บริษัทมีนโยบายชัดเจนเรื่องการห้ามทารุณสัตว์ กระบวนการเก็บมะพร้าวทั้งหมดของบริษัท ใช้คนขึ้นบันได นำไม้ที่มีตะขอขึ้นไปเกี่ยวเพื่อเก็บมะพร้าว “เราไม่ได้ใช้ลิงเก็บมะพร้าว” การให้ข้อมูลของ PETA เป็นการนำภาพจากการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวมาเผยแพร่จนทำให้เกิดการเข้าใจผิด
“เราชี้แจงไปที่ลูกค้าที่ค้าปลีกในสหราชอาณาจักรแล้ว ทั้งเวสโทรส, โอคาโด, โค-ออป และบู๊ทส์ เพราะบริษัททำขายเป็น OEM ให้แบรนด์ลูกค้า นอกจากนี้ ทางลูกค้าสหรัฐก็เริ่มสอบถามกรณีการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเข้ามาด้วย ทางบริษัทก็ทำข้อมูลชี้แจงไปเช่นกัน เนื่องจากตลาดสหรัฐเป็นตลาดส่งออกหลัก 45-50%” น.ส.ชนัญชิดากล่าว
“วิธีการให้ข้อมูลของบริษัทในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้าก็เข้าใจ จึงไม่มีการชะลอการสั่งซื้อสินค้า แต่เราคิดว่ากระทรวงควรมีมาตรการตอบโต้ออกไปบ้าง เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรก การกระทำแบบนี้ถือเป็นการสร้างข้อกีดกันทางการค้ากับมะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากไทย”
ด้านการส่งออกมะพร้าวและผลิตภัณฑ์ของไทย ตอนนี้มีประเทศคู่แข่ง ได้แก่ เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, ศรีลังกา ส่วนประเทศที่ผลิตมะพร้าวชนิดเดียวกับไทยก็คือ ฟิลิปปินส์ กับอินโดนีเซีย ซึ่งตามปกติจะเก็บเกี่ยวผลผลิตมะพร้าวเหลื่อมเวลากัน เช่น ไทยเก็บมะพร้าวในเดือนพฤษภาคม-ตุลาคมของทุกปี ประเทศคู่แข่งก็เก็บประมาณเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ดังนั้นในรอบปีระยะเวลาการขายมะพร้าวไม่ตรงกันจนไม่ต้องแข่งขันขนาดที่ให้ข้อมูลเชิงลบกับมะพร้าวไทย
ยกตัวอย่างหมูเก็บเห็ดทรัฟเฟิล
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากกรณีนี้ไทยต้องเตรียมพร้อม 5 แนวทางแก้ไขเชิงรับและเชิงรุก ประกอบด้วย:
1) ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับผู้นำเข้ารับทราบ โดยยกเคสลักษณะเดียวกันเปรียบเทียบ เช่น การใช้หมูเก็บเห็ดทรัฟเฟิล การจัดทำละครสัตว์
2) ต้องเตรียมพร้อมรับมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี ที่จะมีเพิ่มขึ้น
3) ไทยต้องร่วมกับประเทศคู่ค้าในการยกระดับมาตรฐานสินค้าร่วมกัน
4) ไทยควรพิจารณาความเหมาะสม หากจำเป็นต้องใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับสินค้านำเข้าจากสหราชอาณาจักร เช่น แอปเปิล องุ่น ไวน์ อาหารสแน็ก หรือเสื้อผ้าแบรนด์เนม
5) การฟ้องร้ององค์การการค้าโลก (WTO) และหากเป็นไปได้ต้องจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้าเกษตรในอนาคต เพื่อแก้ปัญหาทั้งเรื่องการขาดแคลนแรงงานและค่าแรงสูง
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์