คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครรู้จัก “ถนนราชดำเนิน” ถนนสายสำคัญสายหนึ่งในเกาะรัตนโกสินทร์ แต่จะมีใครสักกี่คนที่รู้ถึงความเป็นมาของถนนสายนี้ ซึ่งมีอายุถึง 121 ปีแล้วใน พ.ศ.2563 ปัจจุบัน ถนนราชดำเนินไม่ได้เป็นเพียงแค่เส้นทางคมนาคมสัญจรไปสู่พื้นที่ต่างๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนหน้ากระดาษที่บันทึกเรื่องราวในอดีต ไม่ว่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตผู้คน วัฒนธรรมประเพณี ไปจนถึงการต่อสู้ทางการเมืองหลายยุคหลายสมัย
การเกิดขึ้นของถนนราชดำเนิน เริ่มจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริ ว่าท้องที่ตำบลบ้านพานถมถึงท้องที่ตำบลป้อมหักกำลังดัสกร ปัจจุบันคือถนนนครสวรรค์กับถนนสามเสน เป็นที่เปลี่ยว ยังไม่มีถนนหลวงให้ประชาชนทำการค้าขายสะดวกขึ้น ประกอบกับทรงต้องการใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนสายนี้ขึ้น
โดยตัดตั้งแต่ปลายถนนพระสุเมรุ ข้ามคลองรอบกรุงที่ตำบลบ้านพานถม ตรงไปยังป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม บรรจบกับถนนเบญจมาศ (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของถนนราชดำเนินนอก) พระราชทานนามว่า “ถนนราชดำเนิน” โดยได้แบบมาจากถนนควีนส์ วอล์ก (Queen’s walk) ในกรีนปาร์ก (Green Park)กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และอธิบดีกรมสุขาภิบาล เป็นพนักงานจัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2442 ในการจัดสร้างนั้น มีพระราชประสงค์ให้ถนนราชดำเนินกว้างที่สุด ให้สองฟากถนนเป็นที่ตั้งของวังและสถานที่ราชการใหญ่ ๆ มิให้สร้างตึกแถวหรือร้านเล็ก ๆ เพื่อให้เป็นศรีสง่าของบ้านเมือง และเพื่อให้ประชาชนได้เดินเที่ยวพักผ่อน
ถนนราชดำเนิน ประกอบด้วยถนน 3 สาย ได้แก่ ถนนราชดำเนินใน อยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน คือแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร เริ่มจากถนนหน้าพระลาน เป็นแนวถนนต่อจากถนนสนามไชย เลียบท้องสนามหลวงฝั่งตะวันออกขึ้นไปทางทิศเหนือ และสิ้นสุดที่สะพานผ่านพิภพลีลาซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม ถนนราชดำเนินกลาง อยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก เริ่มจากสะพานผ่านพิภพลีลา ไปทางทิศตะวันออก เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างแขวงตลาดยอด กับแขวงบวรนิเวศ ในพื้นที่เขตพระนคร ไปจนตัดกับถนนตะนาวที่แยกคอกวัว
จากนั้นมุ่งหน้าไปทางทิศเดิม ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และป้อมมหากาฬ สิ้นสุดที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองรอบกรุง ถนนราชดำเนินนอก อยู่นอกพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างเขตพระนคร กับเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ถือเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างเขตพระนคร กับเขตอื่นๆ เพียงเส้นเดียวที่เป็นถนน ถนนจะตัดกับถนนวิสุทธิกษัตริย์ (ทางแยก จ.ป.ร.) และถนนกรุงเกษม (ทางแยกมัฆวาน) ก่อนข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และเข้าสู่แขวงดุสิต เขตดุสิต ตัดกับถนนพิษณุโลก (ทางแยกสวนมิสกวัน) และมุ่งไปทางทิศเดิมจนไปสิ้นสุดที่แยกหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า
ความสำคัญของถนนราชดำเนินดังที่กล่าวมา ในโอกาสครบรอบ 121 ปี ถนนราชดำเนิน สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ(มิวเซียมสยาม) จึงจัดนิทรรศแรกแห่งปี 2563 ต้อนรับการปลดล็อกหลังวิกฤตโควิด-19 ด้วยนิทรรศการ ชื่อ “ล่อง รอยราชดำเนิน” เป็นการหยิบยกเรื่องราวประวัติศาสตร์สังคม วิถีชีวิตความเป็นไทย รวมถึงกระแสสังคมในประเด็นต่างๆ มาพัฒนาเป็นเนื้อหาและนำเสนอผ่านรูปแบบนิทรรศการ ที่มุ่งเน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมผ่านสื่อที่หลากหลาย ที่จะสามารถส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และต่อยอดการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้เข้าชม
“ราเมศ พรหมเย็น” ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ(มิวเซียมสยาม) เล่าถึงที่มาของการจัดแสดงนิทรรศการ “ล่อง รอยราชดำเนิน” ว่าเป็นนิทรรศการชุดพิเศษที่ทำขึ้นในปีนี้ ซึ่งความพิเศษก็คือได้หยิบยกเอาความทรงจำเกี่ยวกับถนนราชดำเนินของทุกคนออกมา ผสมผสานความต่างของอายุ ประสบการณ์ พยายามดึงความร่วมสมัยขึ้นมาเพื่อให้ได้เรียนรู้ร่วมกันและหล่อหลอมเป็นตัวตนของทุกๆ คน “เป็นมิติ มุมมองใหม่ๆ เสนอออกมาในรูปแบบนิทรรศการที่ต้องการให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ภายใต้ปรัชญา “สนุกมีความสุขไปกับนิทรรศการ และเรียนรู้ไปด้วยกัน” หวังว่านิทรรศการชุดนี้จะทำให้ผู้ชมสามารถนำประสบการณ์ในอดีตมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันได้ การประนีประนอมทางความคิด การเรียนรู้จากประสบการณ์ ความทรงจำ ที่จะทำให้เราอยู่ในสังคมเดียวกันได้อย่างมีความสุข”ราเมศกล่าว
นิทรรศกรร “ล่อง รอยราชดำเนิน” แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1.การแนะนำนิทรรศการและการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของถนนราชดำเนินผ่านการเล่าเรื่องแบบเส้นเวลา และใช้สื่อวิดิทัศน์ในการนำเสนอ ส่วนที่ 2. “ล่อง รอย” ที่นำเสนอประวัติศาสตร์การประชันทางความคิดของคนหลายยุคหลายสมัยบนถนนราชดำเนิน ที่สามารถสแกน QR code เส้นทาง 8 เส้นเพื่อเข้าไปสำรวจประสบการณ์และความทรงจำของผู้คน เดินชมไปพร้อมกับการใช้สื่อดิจิตัล สมาร์ทโฟน และหูฟัง ซึ่งผู้เข้าชมจะรู้สึกสนุกไปกับเสียงบรรยายประกอบจาก “คณะเกศทิพย์” นักพากย์นิยายวิทยุที่โด่งดังรู้จักกันดีในยุคเบบี้บูมเมอร์
ส่วนที่ 3.แสดงถึงสถานที่สำคัญบนถนนนราชดำเนิน โดยเลือกมา 18 จุดที่สามารถสะท้อนประวัติศาสตร์ความคิดและประวัติศาสตร์สังคมไทยได้เป็นอย่างดี ผ่านข้อเท็จจริงและหลักฐานต่างๆ ฟังเรื่องราวไปพร้อมกับชมวัตถุจัดแสดง ที่ได้รับมาจากผู้ที่อยากร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความทรงจำ เพื่อให้ถนนราชดำเนินเป็นของทุกคน ส่วนที่ 4.นิทรรศการของภัณฑารักษ์วัยเก๋า เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของนิทรรศการที่ได้คัดคนหนุ่มสาวยุคเบบี้บูมเมอร์ เข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์นิทรรศการผสานใจ และการนำพาสังคมไทยเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ที่ดีที่สุด ด้วยเทคนิคการเล่าเรื่อง การถ่ายภาพ และตัดต่อวิดีทัศน์ด้วยมือถือ ซึ่งนำมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมกัน
การจัดแสดงนิทรรศการชุดนี้ จะทำให้ผู้ชมเห็นภาพของความคิด สัมผัสประสบการณ์ของผู้คนในแต่ละช่วงเวลา ทั้งที่มีความสุข สนุกสนาน และการประชันทางความคิด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คนรุ่นเก่าหรือเบบี้บูมเมอร์ เจนเอ็กซ์ เจนวาย และเจนแซด ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของกันและกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงเรื่องราวในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าวิถีชีวิต ประสบการณ์ทางการเมือง ปรากฏการณ์ทางสังคม วัฒนธรรมการกิน การอยู่ รวมถึงความเหมือนหรือความแตกต่างทางความคิด ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของอาคาร สถาปัตยกรรม อาทิ โรงแรมรัตนโกสินทร์ อาคารกรมประชาสัมพันธ์ ที่ทำการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา หรือร้านอาหารในระดับตำนาน ที่คงรสชาติความเป็นไทยที่เกิดขึ้นบนถนนสายนี้
นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 หลังจากนั้นจะย้ายไปจัดแสดง ที่หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน–31 ตุลาคม 2563
ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก Museum Siam