ถึงวันนี้แม้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะประกาศคลายล็อกและไฟเขียวให้บรรดาศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง รวมถึง “ตลาดนัดสวนจตุจักร” กลับมาเปิดได้อีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากทางการได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกือบ 2 เดือนเต็ม
แต่การกลับมาเปิดใหม่ในวันนี้ “ตลาดนัดสวนจตุจักร” แทบจะไม่หลงเหลือภาพความคึกคักให้เห็นเหมือนเมื่อในอดีต ตรงกันข้ามกลับมีความเงียบเหงาเข้ามาแทนที่ ภาพการปิดร้าน ภาพการปิดป้ายประกาศให้เช่าให้เซ้งมีให้เห็นไม่น้อย
“จตุจักร” ซบเซาปิดป้ายเซ้งร้าน
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานบรรยากาศการค้าตลาดนัดสวนจตุจักรในช่วงเสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา ค่อนข้างซบเซา ร้านค้าตามโซนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโซนเสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องตกแต่ง เครื่องประดับสินค้าของฝาก ฯลฯ มีเจ้าของร้านที่เปิดขายไม่มากนัก ส่วนใหญ่ปิดแผงปิดร้าน มีร้านจำนวนไม่น้อยที่มีการปิดป้ายประกาศให้เช่าร้าน พร้อมเบอร์โทร.
จากการสอบถามเจ้าของร้านค้าหลายรายให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า โดยภาพรวมตลาดค่อนซบเซามาก ขายของไม่ได้ ช่วงเสาร์-อาทิตย์ แม้จะมีลูกค้าเข้ามาเดินบ้าง แต่ส่วนใหญ่มาเดินดูเดินเล่น แต่ไม่ซื้อ ชาวต่างประเทศก็ไม่มี ตอนนี้ผู้เช่ากว่า 8,000-10,000 แผง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เช่าช่วงหลายรายแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ต้องปิดร้านปิดแผงและติดป้ายประกาศปล่อยเช่าต่อ
เจ้าของร้านค้ารายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ไม่เพียงเฉพาะตลาดนัดสวนจตุจักรเท่านั้นที่เงียบเหงา แต่ตอนนี้ภาพรวมของตลาดค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งโบ๊เบ๊ แพลทินัม ใบหยก อินทรา ประตูน้ำ ฯลฯ เงียบเหงามาก
การค้าขายไม่คึกคักเหมือนเมื่อก่อน หลังจากเกิดโควิด-19 ลูกค้าต่างประเทศที่เคยวอล์กอินเข้ามาหายหมด ลูกค้าคนไทยก็เดินน้อยลงซื้อน้อยลง เพราะเศรษฐกิจไม่ดีและกลัวโควิดหลายร้านจึงไม่เปิดขายปิดร้าน เพราะหากเปิดร้านขึ้นมาก็เท่ากับต้องมีต้นทุน ต้องมีค่าใช้จ่าย
“ตอนนี้ยอดขายหน้าร้านลดลงมาก บางวันขายไม่ได้เลยก็มี ยอดหายไป 70-80% เห็นจะได้”
แพลทินัม-ประตูน้ำ เงียบเหงา
นอกจากนี้ จากการสำรวจบรรยากาศการค้าขายของศูนย์ค้าปลีกกลางกรุง “เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์” ศูนย์ค้าส่งและค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นขนาดใหญ่ ย่านประตูน้ำ ภายในโครงการได้มีการจัดโซนสินค้าหรือร้านค้าอย่างเป็นหมวดหมู่ ทั้งเสื้อผ้าบุรุษ เสื้อผ้าสตรี กระเป๋า เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องประดับ ฯลฯ ที่มีร้านค้าราว ๆ 2,300 ร้านค้า พบว่า บรรยากาศไม่ต่างจากตลาดนัดสวนจตุจักร ลูกค้าที่ไปเดินจับจ่ายค่อนข้างบางตา และร้านปิดไม่ต่ำกว่า 30-40% นอกจากนี้ยังมีภาพของการติดป้ายประกาศให้เช่าเป็นจำนวนมากไม่ต่างจากจตุจักร
เจ้าของร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่นรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า “ตอนนี้คนน้อยลงไปมาก บางวันไม่ได้เปิดบิลเลย ร้านที่เคยมีต่างชาติมาซื้อเยอะ ๆ ก่อนหน้านี้ แต่ตอนนี้อยู่ไม่ได้ คนที่รับไม่ไหวก็ยอมปิดร้านไปเลย ยกเลิกสัญญา แม้ว่าศูนย์จะลดค่าเช่าให้ 60%แต่ลดก็เหมือนไม่ลด เพราะลูกค้าไม่มีเลย ไม่มียอด ก็ไม่รู้จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน” เจ้าของร้านระบายความในใจ
ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ร้านที่ปิด หรือติดป้ายประกาศให้เช่า ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณชั้นบน อาทิ ชั้น 4-6 ที่ขายสินค้าพวกเครื่องประดับ แอ็กเซสเซอรี่ต่างๆ มากกว่าชั้นล่าง 1-2-3 ที่ขายสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่น เนื่องจากเป็นชั้นที่มีทราฟฟิกดีกว่า
เช่นเดียวกับบรรยากาศการค้าขายในย่านตลาดประตูน้ำ เรื่อยเลยไปถึงตึกใบหยก-1 ใบหยก-2 พบว่า ซบเซา ไม่ต่างจากแพลทินัม ถนนในย่านนี้จากที่เคยมีการจราจรหนาแน่น มีรถที่เข้ามาซื้อสินค้าไปขายต่อเป็นจำนวนมาก แต่ล่าสุด การจราจร ถนนหนทางค่อนข้างโล่ง นอกจากนี้ยังพบว่าศูนย์ค้าส่งอินทราสแควร์อยู่ระหว่างการปิดปรับปรุง
เช่นเดียวกับเจ้าของร้านค้าเสื้อผ้าเด็กรายใหญ่ ในตลาดโบ๊เบ๊ ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ลูกค้าวอล์กอินของโบ๊เบ๊ ซึ่งหลัก ๆ เป็นกลุ่มลูกค้าคนไทยลดลง และมีร้านค้าที่ทยอยปิดตัวไปประมาณ 20-30% ส่วนยอดขายลดลงมาก หรือประมาณ70-80% แต่ก็ยังมีการซื้อขายผ่านออนไลน์ แต่ก็เป็นตัวเลขเพียงเล็กน้อย
“จริง ๆ แล้ว ตลาดค้าส่งซบเซา และอยู่ในช่วงขาลงมาสักระยะหนึ่งแล้ว เริ่มจากช่วงที่มีชาวจีนเข้ามาขายแข่ง แต่มาเริ่มหนักขึ้นเมื่อสัก 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจและการขายออนไลน์ที่มาแย่งลูกค้าจากหน้าร้านไป แต่ล่าสุดโควิด-19 มีผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ลูกค้าหายหมด”
ย้อนอดีตยุคเฟื่องฟู
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาตลาดค้าปลีกค้าส่งของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี เฉลี่ยปีละ 15-20% แม้จะไม่มีการเก็บตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ก็คาดการณ์กันว่าแต่ละปีจะมีเม็ดเงินสะพัดมากถึง 1 แสนล้านบาท และอาจจะกล่าวได้ว่าช่วงปี 2554-2557 ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของธุรกิจ นอกจากประตูน้ำ จตุจักร โบ๊เบ๊ สำเพ็ง ที่เป็นตัวขับเคลื่อนตลาดแล้ว ช่วงดังกล่าวยังมีนักลงทุนจากทั่วสารทิศหอบเงินก้อนโตมาลงทุนเปิดศูนย์ค้าส่งแห่งใหม่เป็นระยะ ๆ แต่ละแห่งจะมีร้านค้าตั้งแต่ 300-500-1,000 ยูนิต
อาทิ กลุ่มใบหยก ที่เปิดศูนย์ค้าส่งเทรนด์ใหม่ สไตล์หรูหรา “บี แกลอรี่” ด้วยจำนวนร้านค้า 300 ยูนิต เพื่อเสริมใบหยก-1 และใบหยก-2, กลุ่มโอเวอร์ซีส์ คอนสตรัคชั่น ลงทุนเปิดวอเตอร์เกต พาวิลเลียน ศูนย์ค้าส่งครบวงจร ในย่านประตูน้้ำ, กลุ่มบำรุงเมือง พลาซ่า ควักกระเป๋ากว่า 2 พันล้าน เปิดศูนย์ค้าส่ง “โซโห” ใกล้ ๆ กับตลาดโบ๊เบ๊ (ปัจจุบันปิดแล้ว และล่าสุดมีโรงพยาบาลมาเปิดให้บริการแทนที่) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนอสังหาฯ เจ.เอส.พี.กรุ๊ป ลงทุนหลายพันล้าน เปิด “ไชน่า เซ็นเตอร์” บนถนนกัลปพฤกษ์-กาญจนาภิเษก, บี โฮม คอร์ปอเรชั่น ที่เปิดโครงการสำเพ็งท่าดินแดง เป็นต้น
นี่ยังไม่นับรวมถึงศูนย์ค้าส่งอีก 2-3 แห่ง ที่ทยอยเปิดตัวรอบ ๆ ตลาดนัดจตุจักร อาทิ จตุจักร กรีน, ทาวน์สแควร์, อินสแควร์ รวมพื้นที่ขายไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ยูนิต ล่าสุด เพิ่งตัดริบบิ้นไปหมาด ๆ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา คือ มิกซ์ จตุจักร
ไม่เพียงเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯเท่านั้น ความร้อนแรงของธุรกิจค้าส่งยังลามไปหัวเมืองในต่างจังหวัดด้วยอีกหลาย ๆ จังหวัด เช่น ศูนย์ค้าส่งแฟชั่น “168 แพลตินั่ม” จังหวัดอุดรธานี, ประตูน้ำขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
แต่จากนี้ไปภาพความคึกคัก ความรุ่งเรืองของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่เคยได้ชื่อว่าเป็น “ฮับ” ของภูมิภาค คงไม่กลับมาเหมือนเดิม
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์