ไอศกรีมยุคนี้ไม่ได้เป็นแค่ไอศกรีมธรรมดาๆ บอกชื่อรสชาติตรงๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะไอศกรีม Guss Damn Good (อ่านว่า กั๊สส์ แดมน์ กู๊ด) ก้าวข้ามไปอีกขั้นหนึ่ง เป็น คราฟต์ไอศกรีม (Craft Ice Cream) รสชาติแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร แทนที่จะบอกรสชาติ กลับตั้งชื่อตามอารมณ์ความรู้สึกและเรื่องราวเบื้องหลัง ใช้ของดีจากธรรมชาติคุณภาพสูง ส่วนผสมวิธีการทำไม่เหมือนใคร สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนชิม จนตอนนี้มีสาวกแฟนคลับมากมาย
Guss Damn Good เกิดขึ้นได้ด้วยน้ำมือของหนุ่มสาวความคิดกว้างไกล 2 คน คือคุณระริน ธรรมวัฒนะ และคุณนที จรัสสุริยงค์ ฝ่ายชายเรียนวิศวะ ส่วนฝ่ายหญิงจบบัญชีไฟแนนซ์ แต่กลับสร้างสรรค์ไอศกรีมได้อย่างล้ำลึก
ตอนเรียนปริญญาโทอยู่ที่บอสตัน เกิดแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมการกินไอศกรีมสไตล์ปาร์ตี้สนุกสนานของคนเมืองนั้น จึงตระเวนชิมเข้าออกร้านหรือบาร์ไอศกรีมเป็นว่าเล่น นำตำรามาศึกษาอย่างถ่องแท้ ทดลองทำคิดสูตรไอศกรีม จนกลับมาเปิดร้านที่เมืองไทย เริ่มออกงานในปี 2558 และมีร้านไอศกรีมเล็กๆ เพียง 7 ตารางเมตรอีก 1 ปีถัดมา
ปัจจุบัน Guss Damn Good มีหน้าร้านทั้งหมด 9 สาขา ที่ศาลาแดงในอาคาร Wolf Pack ที่เพลินจิต Bar Storia del Caffe มหาทุนพลาซ่า ที่ The Commons ศาลาแดง (สาขานี้ทำเป็น บาร์ไอศกรีมซันเดย์ ย้อนวัย) The Commons ทองหล่อ (สาขานี้มีเมนู มิลค์เชค และ Affogato ราดซอสต่างๆ ด้วย) Eight ทองหล่อ (หน้าฟู้ดแลนด์) Emquartier (ทำเป็น คุกกี้บาร์) ชั้น G หน้า Gourmet Market เซ็นทรัลเวิลด์ชั้น 3 เมกา บางนาชั้น 2 ฝั่งอิเกีย และสามย่านมิตรทาวน์
ไอศกรีมของ Guss Damn Good มีความเนียนนุ่มเหนียว มีปริมาณไขมันมากกว่าไอศกรีมเจลาโต้ แต่เนื้อแน่นน้อยกว่าไอศกรีมอเมริกัน การตั้งชื่อไอศกรีมตามเรื่องราวและความรู้สึกนั้น ทำให้เราไม่สามารถคาดเดาถึงรสชาติได้ อีกทั้งจะไม่เติมสี จึงอาจจะเห็นรสชาติสีขาวเรียงรายอยู่ในตู้ถึง 5 ชนิด ก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ให้ลูกค้าทดลองชิมก่อนในช้อนเล็กๆ ได้อย่างเต็มที่ ชิมไปเถอะไม่ต้องเหนียมอาย เพราะพนักงานขายจะคะยั้นคะยอให้เราชิมได้ตามสบายจนพอใจ แค่นี้ก็รู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับการชิมมาก
ปัจจุบันนี้ไอศกรีม Guss Damn Good แบ่งหมวดหมู่ใหม่ง่ายๆ เป็น 3 ประเภท คือไอศกรีมซอร์เบต์ (Sorbet) ทำจากผลไม้ไม่ใส่นม และไอศกรีมทำจากนมเรียกว่า แดรี่ (Dairy) ปิดท้ายด้วยทิปซี่ (Tipsy) ที่แปลว่าโซเซ เป็นไอศกรีมผสมเหล้า (แต่ไม่ได้ผสมเยอะ) มีหมุนเวียนเปลี่ยนไปถึงกว่า 60 รสชาติ ทั้งไอศกรีมแบบตักเป็นสกู๊ป (สกู๊ปละ 85-95 บาท) และเป็นถ้วยๆ
โดยคุณระรินเสริมว่า รสชาติที่ต้องยืนพื้นเพราะลูกค้าถามหาตลอด คือ Don”t Give Up #18 ที่ทดลองทำลองผิดลองถูกมากกว่า 18 ครั้ง กว่าจะลงตัวรสชาติถูกใจ เป็นไอศกรีมสีขาวที่หอมนมมากๆ มีส่วนผสมของนมสดจากฟาร์มโคนมลพบุรี และครีมนำเข้าจากฝรั่งเศส
ต่อด้วยรสชาติที่ต้องมีตลอดคือ Here”s Your Damn Good Chocolate Ice Cream ดาร์กช็อกโกแลตเข้มข้น 70% จากเบลเยียม รสเข้มๆ และที่ประทับใจมากๆ เช่นกันคือ Maine Rocky Coast ไอศกรีมซีซอลต์ (Sea salt) รสเค็มๆ หอมๆ สอดแทรกด้วยอัลมอนด์บริทเทิล (almond brittle) ชิ้นเล็กๆ กรุบๆ ให้อารมณ์เหมือนอยู่ริมชายหาดโขดหินในรัฐเมน อร่อยเพลินหยุดไม่ได้จริงๆ อีกรสชาติที่ทำให้ผมตกหลุมรัก Guss Damn Good เป็นครั้งแรกก็คือ Bonfire ไอศกรีมคาราเมลไหม้ๆ นิดๆ รสเข้มๆ ทำจากคาราเมลที่นำน้ำ น้ำตาล และครีมมาเคี่ยวเท่านั้น คนรักก็รักลุ่มหลงเลย ส่วนคนที่ไม่ชอบก็มีบ้าง ดังนั้น จึงควรลองชิมก่อนว่าถูกใจหรือไม่
หรือถ้าชอบแนวผลไม้สดชื่น ก็มี Tokyo Mist ไอศกรีมยูสึ (Yuzu) รสเปรี้ยวหอมที่ทำจากยูสึถึง 3 ชนิด และที่กำลังมาแรงคือ In Good Hands เป็นไอศกรีม burnt vanilla ทำจากนมผสมวานิลลาชั้นเลิศแกะจากฝักของมาดาร์กัสการ์ หอมวานิลลาและมีกลิ่นรสเข้มๆ อร่อยเกินคำบรรยาย ใส่ถั่วพิสตาชิโอ้ (pistachio) แคนดี้เคี้ยวกรุบๆ ห้ามพลาดเลย
ซึ่งไอศกรีมบางรสชาตินั้นจะมีการคอลลาโบเรชั่น (collaboration) หรือเรียกสั้นๆ ว่า คอลแล็บ กับแบรนด์หรือพาร์ตเนอร์อื่นๆ เพื่อสื่อสารถึงคาแร็กเตอร์ของแบรนด์นั้นๆ ผ่านการชิมไอศกรีม ดังเช่น In Good Hands ที่ร่วมกับบริษัทตรวจสอบบัญชี Deloitte สื่อให้เห็นความเป็นมืออาชีพแต่มีความผ่อนคลายซุกซ่อนอยู่ในตัวด้วย
หรืออย่างเช่นรสชาติ A GOOD DAY ที่คอลแล็บกับ x Carnation Plus ออกรสชาติย้อนวัยที่คุ้นเคย รสนมเย็นผสมถั่วแมคคาเดเมีย และรสชาติ RISE AND SHINE ไอศกรีมนมผสมวานิลลาโอ๊ตมีลและคุกกี้โดกับนมข้นหวาน เปรียบเสมือนเด็กที่โตเป็นสาวไลฟ์สไตล์คนเมือง
การคอลแล็บนั้นไม่จำกัดอยู่แค่กับแบรนด์ต่างๆ มีแม้กระทั่งคู่บ่าวสาวขอให้ทำ รสชาติ Make a Toast ไปฉลองในงานแต่งงาน คือ ไอศกรีม Sorbet สตรอเบอรีผสมแชมเปญ คู่รักคู่นี้มองว่าการฉลองเกิดขึ้นได้ทุกวันเวลา จะเห็นได้ว่า Guss Damn Good เก่งมากในการเล่าเรื่องราวผ่านไอศกรีม ซึ่งรสชาติเหล่านี้จะมีขายที่ร้านตลอดไป นับเป็นเสน่ห์ของการทำตลาดที่ทันสมัยมาก
แต่ละรสชาติก็จะมีเสน่ห์ดึงดูดใจไปคนละแบบ เช่น Frozen Fenway ไอศกรีมมินต์คุกกี้ชิปส์สีขาว (เพราะไม่ผสมสี) ซึ่งมีขายเฉพาะเป็นถ้วยเท่านั้น ไม่มีตักขายเป็นสกู๊ป มิฉะนั้นกลิ่นมินต์หอมๆ จะแทรกไปอยู่ในไอศกรีมรสชาติอื่นๆ ทั้งตู้
ต่อด้วย Virgin Umeshu ไอศกรีมรสชาติเหล้าบ๊วยที่ไม่ได้ผสมเหล้าเลย Why Can”t Coffee Be White? ไอศกรีมรสกาแฟหอมๆ ที่ออกมาเป็นสีขาว ไม่ใช่สีกาแฟ B-Cube ไอศกรีม B ยกกำลังสาม คือไอศกรีม brown butter กับ brown sugar ใส่บราวนี่ (Brownie) ชิ้นเล็กๆ ให้ความหนึบหอมหวานมัน PB Jelly ไอศกรีมรสเนยถั่วแทรกด้วยเยลลีสตรอเบอรี Naughty Honey ไอศกรีมรสน้ำผึ้งที่หอมถูกใจมากๆ ทำจากน้ำผึ้งดอกลำไยผสม Honey comb แคนดี้หนึบๆ ที่ทำจากน้ำผึ้งตัวเดียวกัน
อีกไม่นาน Guss Damn Good จะออกไอศกรีมกาแฟรสชาติใหม่ ชื่อว่า Intro to Coffee สำหรับผู้เริ่มหัดกินรสกาแฟ คือ ไอศกรีมคาราเมลมัคคิอาโต้ (Caramel Macchiato) และรส Afternoon Kick เป็นไอศกรีมคอฟฟี่ซอร์เบต์ผสมซิตรัสหอมๆ กินแล้วปลุกให้ตื่น
เรื่องการขายนั้นที่ร้านพิถีพิถันมาก ถ้าสั่งไอศกรีม 2 ลูก พนักงานจะทราบเลยว่ารสไหนต้องอยู่ด้านล่าง รสไหนต้องอยู่บน เพราะควรจะกินก่อนรสชาติเบาๆ ข้างบนก่อน นอกจากนี้ ยังมีบริการส่งถึงบ้านหรือที่ทำงานด้วย ซึ่งน้องระรินจะถามย้ำเสมอว่าจะกินจริงกี่โมง เพราะต้องกะเวลาในการส่งด้วยการใส่น้ำแข็งแห้ง (ไม่ควรนานเกิน 2 ชั่วโมง) ให้ไม่ละลาย
ในปีนี้ (2563) จะไม่ขยายสาขาแต่เน้นอบรมพนักงานให้รู้จักวัฒนธรรมองค์กรอย่างเข้มข้นเพื่อการบริการที่ดียิ่งขึ้น สำหรับใครที่ชื่นชอบการกินไอศกรีมและยังไม่เคยลิ้มลอง Guss Damn Good ควรรีบตามไปชิม รับรองว่าจะได้ประสบการณ์แปลกใหม่ตื่นตาตื่นใจอย่างแน่นอน
ข้อมูลร้าน
Guss Damn Good
โดย คุณระริน ธรรมวัฒนะ และคุณนที จรัสสุริยงค์
โทร 0-2121-7138
ที่ตั้ง มี 9 สาขา
อาคาร Wolf Pack ศาลาแดง 10.00-22.00 น.
Bar Storia del Caff มหาทุนพลาซ่า 10.00-21.00 น.
The Commons ศาลาแดง 10.00-20.00 น.
The Commons ทองหล่อ 10.00-20.00 น.
Eight ทองหล่อ หน้า Foodland 10.00-21.00 น.
Emquartier ชั้น G หน้า Gourmet Market 10.00-21.00 น.
เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 3 10.00-21.00 น. และ 11.00-21.00 น.
เมกา บางนา ชั้น 2 ฝั่งอิเกีย 10.00-21.00 น.
สามย่านมิตรทาวน์ 10.00-21.00 น.
แนะนำ ไอศกรีม Guss Damn Good ทุกรสชาติ
IG : GussDamnGood
Line : @GussDamnGood
Facebook Guss Damn Good
ที่มา : คอลัมน์ตามรอยพ่อไปชิม มติชนรายวัน