โฉมใหม่ ‘ตลาดประมงอ่างศิลา’ ตลาดปลากลางทะเลแห่งแรกในไทย สะอาด ปลอดภัย ยุติธรรม

Business ธุรกิจ
ภาพโดย Arut Thongsombut จาก Pixabay

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ บรรดาซีฟู้ดเลิฟเวอร์น่าจะเคยคุ้นกับการช้อปปิ้งอาหารทะเลที่ตลาดประมงพื้นบ้านอ่างศิลา จ.ชลบุรี ซึ่งย้ายมาจากสะพานปลาอ่างศิลา บริเวณฝั่งตรงข้าม แต่อีกไม่นานนี้ หรือถ้านับนิ้วคร่าวๆ ก็ราว 4 เดือน ที่ทุกคนจะได้ใช้บริการ ตลาดประมงอ่างศิลา (Fish Marketing Organization) ตลาดปลากลางทะเลแห่งแรกในประเทศไทย

ฟื้นฟูและพัฒนาโดย องค์การสะพานปลา (อสป.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง มณเฑียร อินทร์น้อย ผู้อำนวยการ อสป. เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้การก่อสร้างโครงการตลาดประมงอ่างศิลา หนึ่งในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือและตลาดประมงอ่างศิลาขององค์การสะพานปลา คืบหน้าไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ พร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเดือนธันวาคม 2563 แน่นอนว่า ในวันที่ไวรัสโควิด-19 ยังไม่หายไปจากประเทศไทย ตลาดแห่งนี้ได้ยืนยันมาตรฐานความสะอาดและปลอดภัย ทั้งด้านสถานที่ ผู้จำหน่าย และสินค้าต่างๆ ซึ่งพร้อมให้บริการด้วยความมั่นใจ

“ถามว่าหวั่นกับโรคระบาด กับโควิด-19 ไหม ยอมรับว่าก็หวั่นอยู่ ซึ่งเราเตรียมการไว้แล้ว และด้วยสภาพความเป็นอยู่เช่นนี้ ถ้าเขาไม่ค้าขาย เขาจะเอาอะไรกิน ดังนั้น มันต้องไปต่อ ต้องอยู่ ต้องกิน เราไม่ได้จัดนิทรรศการกันเล่นๆ เราค้าขายกันจริงๆ อยู่บนความเป็น ความตาย ความเป็นอยู่ ฉะนั้นจึงต้องเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของทุกคน” ผอ.มณเฑียรเน้นย้ำ

วันวานของ‘สะพานปลาอ่างศิลา’

แต่เดิม “สะพานปลา อ่างศิลา” มีชื่อเรียกว่า “สะพานหิน” สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เสนาบดีกรมท่าสร้างสะพานหินยาวออกไปในทะเลจนพ้นเขตศิลาใต้น้ำ เนื่องจากทรงพิจารณาเห็นว่าอ่างศิลามีศิลาใต้น้ำจำนวนมาก เมื่อน้ำลงจะมีศิลาและเลนลาดออกไปจากฝั่งเป็นทางยาว ไม่สะดวกในการจอดเรือเทียบท่า

โดยสะพานปลาอ่างศิลาก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2499 ตามข้อเรียกร้องของชาวประมงชลบุรี ด้วยเหตุที่ว่า จ.ชลบุรี ไม่มีที่จอดเรือสาธารณะ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ชาวประมงจึงนำอาหารทะเลมาจัดจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นปลา กุ้ง ปู หอย ขณะเดียวกันก็มีสินค้าท้องถิ่นเลื่องชื่ออย่าง “ครกหิน” ที่แกะสลักหินเป็นรูปร่างต่างๆ วางขายอยู่พร้อมๆ กัน

นับเป็น 1 ใน 18 ท่าเทียบเรือประมงขององค์การสะพานปลา (แบ่งเป็น สะพานปลา 4 แห่ง และท่าเทียบเรือประมง 14 แห่ง ตลอดแนวชายฝั่งทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน) ตั้งอยู่ริมถนนอ่างศิลา ต.อ่างศิลา จ.ชลบุรี

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ โดยให้ผู้ค้าย้ายแผงไปอยู่ฝั่งตรงข้ามที่ตลาดประมงพื้นบ้านอ่างศิลา และจะพร้อมกลับมาเปิดเต็มรูปแบบอีกครั้งเดือน ธ.ค.63 นี้ ในโฉมใหม่ “ตลาดประมงอ่างศิลา”

วันนี้ของ‘ตลาดประมงอ่างศิลา’อาจนับเป็นความโชคดีที่วันนี้ อสป.มีผู้บริหารชื่อ มณเฑียร อินทร์น้อย ผู้มีความรู้ด้านวิศวกรรมโยธา เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ และกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งวันนี้เขายังเปี่ยมไปด้วยวิสัยทัศน์ด้านการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ รวมถึงการปัดฝุ่นสะพานปลาอ่างศิลาที่มีการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง ทว่า ยังไม่มีวี่แววของการแล้วเสร็จ

ภาพต้นแบบการพัฒนาตลาดประมงอ่างศิลา
‘ตลาดประมงอ่างศิลา’ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนา

ผอ.มณเฑียรเล่าว่า สะพานปลาอ่างศิลาสร้างมาแล้วตั้งแต่ปี 2499 เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ชาวประมงนำสินค้าขึ้นมาขายกันตรงนั้น จนมาถึงประมาณปี 2557 สะพานชำรุดลง ทางองค์การสะพานปลาได้รับงบประมาณเป็นงบกลางจากรัฐบาล ณ ขณะนั้นมาทำการปรับปรุง ทว่า ทำอยู่ 3-5 ปีก็ไม่เสร็จ กระทั่งได้เข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ก็เริ่มพัฒนา ปรับปรุงในหลายเรื่องตามลำดับ ซึ่งก็พัฒนาตามแนวเดิมที่มีอยู่ แต่ทำให้ทันสมัยและดียิ่งขึ้น

“เมื่อก่อนที่นั่นเป็นสะพานรกๆ เหมืนตลาดสดทั่วไป แต่วันนี้ก็ยังเป็นตลาดสดเหมือนเดิม เพียงแต่ทำให้ทันสมัยขึ้น สะอาดขึ้น แต่ถ้าดีเกินไปก็ไม่มีเสน่ห์ ดังนั้น เราต้องคงเสน่ห์ของเขาไว้ ส่วนที่เราปรับปรุงใหม่จึงมีชื่อว่า ตลาดประมงอ่างศิลา หรือ Fish Marketing Organization ตลาดปลากลางทะเลแห่งแรกในประเทศไทย ตัวสะพานยื่นออกไปในทะเลราว 400 เมตร มีความสวยงามอย่างยิ่ง

“การพัฒนานี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีนโยบายจากท่านประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งอยากให้เราปรับโฉมสะพานปลาช่วยเหลือผู้ค้า โดยตรงกลางตลาด เราออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยมากยิ่งขึ้น มีหลังคาคลุมพื้นที่ แต่ยังให้รถวิ่งได้เหมือนเดิม รถดับเพลิงและเรือประมงเข้าได้เหมือนเดิม สำหรับใช้ประโยชน์ด้านการค้าขาย เราลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท แต่มูลค่าทางเศรษฐกิจคาดว่าปีหนึ่งน่าจะได้ราว 3-4 พันล้านบาท รวมไปถึงการค้าขาย การเงินหมุนเวียน เพราะคนมาตลาดไม่เพียงแค่ซื้อของแต่ยังมาเที่ยว มาพักผ่อน เดินเข้ามาอาจไปเที่ยวเขาสามมุขต่อ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน โดยคอนเซ็ปต์การพัฒนาคือ ‘แกะกุ้ง กินปู ดูปลา อ่างศิลา ชลบุรี’”

จนถึงวันนี้ ผอ.อสป.บอกว่า การพัฒนาตลาดประมงอ่างศิลาคืบหน้าไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งงบประมาณยังมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น จึงพยายามจัดหางบทีละส่วนมาปรับปรุงทีละจุด อาทิ เมื่อสร้างจุดหนึ่งเสร็จก็หาเงินเพิ่มเพื่อสร้างพื้นที่ สร้างแผงค้า พร้อมปรับปรุงส่วนอื่นๆ เช่น เพิ่มห้องน้ำ เพิ่มพื้นที่จอดรถ

ซึ่งทั้งหมดก็ทำไปเพื่อต้องการช่วยเหลือพี่น้องชาวประมง

มณเฑียร อินทร์น้อย
‘สะอาด ปลอดภัย ยุติธรรม’ หัวใจแห่งการควบคุมคุณภาพ

นอกจากจะจัดโซนต่างๆ ภายในตลาดประมงอ่างศิลา ซึ่งมีทั้งโซนอาหารสด อาหารพร้อมปรุง อาหารแห้ง และของฝากแล้ว ที่นี่ยังเปิดพื้นที่ให้ชาวประมงพื้นบ้านนำเรือมาจอดเทียบท่าขายอาหารทะเลและสินค้าสัตว์น้ำนานาชนิด เพื่อตอกย้ำความเป็น Fish Marketing Organization และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทั้งกลุ่มคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวใน จ.ชลบุรี
อีกด้วย

สำหรับสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผู้ซื้อหมดห่วงได้ทันที เพราะเรื่องนี้มณเฑียรเน้นย้ำเรื่องความสด สะอาด ปลอดภัย และยุติธรรม โดยทุกอย่างระบุอยู่ในข้อตกลงร่วมกันกับผู้ค้าที่ทำการเช่าแผงขายเรียบร้อยแล้ว

 

“เราเน้นย้ำเรื่องความสด เพราะถ้าปลาเก่าก็ต้องขอร้องว่าให้เอาออก อย่านำมาขายที่นี่ ต้องสะอาด ไม่มีสารปนเปื้อน ถ้าใครมีหรือทำอะไรไม่ค่อยถูกก็จะแบน และเราจะเป็นมาตรฐานกลาง ให้ความยุติธรรมกับทุกคน คือจะนำเครื่องชั่งน้ำหนักวางไว้ทุกๆ 20 เมตร พร้อมสุ่มตรวจสอบแผงค้าทุกเช้าเย็น หากพบของบูดหรือเน่าจะขอร้องให้เอาออก เพราะที่ตลาดนี้เราเน้นเรื่องคุณภาพอาหารปลอดภัย

“เรื่องการจัดการต่างๆ ในตลาด องค์การสะพานปลาดูแลเองทั้งหมด เราจัดการเอง วางคอนเซ็ปต์เอง ซึ่งก็อาจใช้วิธีการบริหารจัดการของเราเอง เช่น อาศัยดูโมเดลตลาดนัดจตุจักร ตลาดสดองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (ตลาดสด อ.ต.ก.) แต่ของเราเป็นตลาดกลางทะเล การควบคุมจึงง่ายกว่า สำหรับเรื่องสุขอนามัยต่างๆ ก็เชื่อว่าทำได้ไม่ยาก เปรียบเทียบกับการควบคุมโรคก็ใช้วิธีการปิดประเทศ ถ้าไม่ปิดก็ลำบาก พื้นที่ตลาดก็เช่นกัน ระบบบำบัดเราก็กลับมาทำบนบก ไม่ทิ้งลงทะเลแม้แต่นิดเดียว นอกจากจะมีฝนตก

“ผมจึงเน้นย้ำเรื่องคุณภาพ การ์ดอย่าตก เพราะถ้าสินค้าใครไม่ปลอดภัยก็จะขึ้นไฟเหลืองเตือนด้านหลังแผง หากคุณภาพไม่ดีอีก ไฟเป็นสีแดงก็เรียบร้อย ขณะเดียวกันก็เป็นการเตือนให้ประชาชนทราบว่าไม่ควรซื้อร้านดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงคุณภาพสินค้า ขอโทษ แล้วจะไม่ทำอีก นี่เป็นข้อตกลงที่เราวางไว้ในระเบียบ เราไม่กลัวคนที่จะมาโวยวายหรือมาก่อหวอด แต่เรากลัวคนที่จะมาเดือดร้อนมากกว่า

“ผมบอกว่าแม้เราจะขายของแพง แต่เป็นของแพงที่แพงด้วยคุณภาพ”

วันข้างหน้าของ‘อาหารทะเล’

ไม่เพียงแต่ออกแบบให้ตลาดประมงอ่างศิลาเป็นศูนย์กลางการซื้อขายอาหารทะเลเท่านั้น เพราะ ผอ.มณเฑียรยังหวังให้ที่แห่งนี้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ของ จ.ชลบุรี โดยรังสรรค์ “ประภาคาร” สำหรับชมทิวทัศน์ รวมถึงสร้างสตอรี่ให้แก่สถานที่ อาทิ แนวคิดลูบแล้วรวยที่ประภาคาร, คล้องกุญแจเพื่อ
เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะสำเร็จไม่ได้เลยหากขาดแรงสนับสนุนที่ดีเยี่ยมจากท้องถิ่น

สำหรับความคาดหวังให้เกิดตลาดประมงขึ้นที่อื่นๆ ในอนาคตนั้น ผอ.อสป.อมยิ้ม ก่อนจะเอ่ยตรงๆ ว่า อยากมี แต่ทั้งหมดต้องอยู่ในบริบทการขออนุญาต ด้วยเพราะการทำสะพานแต่ละแห่งมีเงื่อนไขทางราชการอยู่ จึงต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง

ส่วนอนาคตของอาหารทะเล ผอ.อสป.มีทั้งแผนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก สนับสนุนครอบครัวทำประมง แปรรูปอาหารทะเล โดยองค์การสะพานปลาจะเป็นผู้รับซื้อผลิตภัณฑ์ พร้อมควบคุมคุณภาพ อีกทั้งยังมีแผนการพัฒนาแพคเกจให้มีรูปแบบที่น่าประทับใจยิ่งขึ้น

“โครงการที่เราเริ่มทำแล้วมีทั้งการทำแพคเกจจิ้งที่ดี เช่น ทำแพคเกจจิ้งปลากุเลาหอมของ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จำหน่ายเป็นของที่ระลึกช่วงปีใหม่ตัวละ 1,000-1,700 บาท ปีที่ผ่านมาขายไป 300 ตัว ซึ่งใช้เวลาสั่งชาวประมงไปนานหลายเดือน แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่จะเปลี่ยน เช่น ระบบขายออนไลน์
จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังคิดไปถึงเรื่องการให้ของขวัญเป็นอาหารทะเลแทนกระเช้าดอกไม้ หรือกระเช้า
ของขวัญปีใหม่ จัดทำแพคเกจจิ้งดีๆ ใส่กล่องโฟมอีกชั้นหนึ่งก่อนจัดส่ง ส่วนสินค้าด้านในเป็นอาหารพร้อมปรุง แล่และหั่นเรียบร้อยแล้ว ควบคุมคุณภาพโดยองค์การสะพานปลา ถามว่าแบบนี้คนอยากซื้อมากกว่าไหม?

“ผมยังอยากทำคล้ายๆ กับวิสาหกิจชุมชน แต่เป็นกลุ่มเล็กๆ เช่น สามีออกเรือ ภรรยาแปรรูป โดยให้ อสป.รับซื้อหมด แล้วจะทำกระบวนการกลุ่มทั่วประเทศที่เรามีอยู่ เพราะเขาใช้พื้นที่เรา เมื่อไม่มีโนว์ฮาวเราก็เอาไปให้

“สุดท้ายก็อยากเชิญชวนให้มาดู มาเที่ยวตลาดปลากลางทะเลของบ้านเราก่อน เพราะอย่างน้อยก็เป็นการสนับสนุนพี่น้องชาวประมงไทย ให้เงินหมุนเวียนในบ้านเราเอง”

ที่มาหน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนชนากานต์ ปานอ่ำ