ตลอดช่วงระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา แม้ “ซูเปอร์มาร์เก็ต” จะเป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่ได้ถือเป็นกิจกรรมที่ได้รับการผ่อนปรน ไม่ต้อง “ล็อกดาวน์” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และกรุงเทพมหาคร (กทม.) ยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ซึ่งในสายตาของคนทั่ว ๆ ไปอาจจะมองว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ต” เป็นหนึ่่งในธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 ที่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับหาเป็นเช่นนั้นไม่
โดย“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “สมศักดิ์ ตีระพัฒนกุล” ประธานกรรมการ บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด ผู้ก่อตั้งอาณาจักร “ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต” ซูเปอร์มาร์เก็ต 24 ชั่วโมงแห่งแรกของเมืองไทย ได้ฉายภาพถึงผลกระทบ “ทางอ้อม” ของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น
“สมศักดิ์” นักธุรกิจผู้มากประสบการณ์ และผ่านร้อนผ่านหนาวมาปีนี้เป็นปีที่ 88 เริ่มต้นการสนทนาว่า “…จริง ๆ แล้วทุกธุรกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 หมด ไม่เฉพาะฟู้ดแลนด์ที่ได้รับผลกระทบ”
“สมศักดิ์” หรือ “คุณแฟร้งค์” ที่หลายคนคุ้นเคยขยายความต่อไปว่า “แม้ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ แต่ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ เพราะอะไร ? เพราะคนมีความกังวลและตื่นตระหนกเรื่องของโควิด-19 มาก เวลาออกมาซื้อของ จับจ่ายใช้สอย เขาก็ซื้อเฉพาะเท่าที่จำเป็น ซื้อข้าวสาร ซื้อน้ำมันพืช ซื้อน้ำดื่ม ฯลฯ”
“อย่าลืมว่าซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนสูง ยิ่งเราเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ค่าไฟคงไม่ต้องพูดถึง ไหนจะค่าจ้างพนักงาน อื่น ๆ อีกจิปาถะ ที่สำคัญซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นธุรกิจที่มาร์จิ้นน้อย ยกตัวอย่าง น้ำมันพืช มาร์จิ้นก็แค่ 3% ส่วนข้าวสาร มาร์จิ้นอย่างมากไม่เกิน 5% แบบนี้จะไปเอากำไรมาจากไหน คนที่มาซื้อก็ซื้อแต่ของจำเป็น ของอย่างอื่นไม่ซื้อ”
เมื่อถามถึงในแง่รายได้ของฟู้ดแลนด์ในช่วงที่ทางการ “ล็อกดาวน์” เป็นอย่างไร แม่ทัพใหญ่ฟู้ดแลนด์ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “พอถูไถไปได้ ปกติรายได้เฉลี่ยต่อสาขาจะประมาณ 30-40 ล้าน ตอนที่โควิด-19 มายอดขายเหลือไม่ถึงครึ่ง หายไป 50-75% ขาดทุน 1.5 ล้านบาท แต่ตอนนี้ค่อย ๆ ดีขึ้นบ้าง”
“ผมทำธุรกิจเปิดฟู้ดแลนด์มาปีนี้เป็นปีที่ 48 กำไรที่เคยสะสมมาถึงวันนี้แทบจะไม่เหลือ แต่โชคดีว่ายังพอหายใจได้”
พร้อมกันนี้ “สมศักดิ์” ยังได้แสดงความเห็นด้วยว่า การปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ร้านอาหาร ร้านค้าต่าง ๆ ที่เปิดอยู่ในห้างเหนื่อยเพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูง ไหนจะค่าเช่า ค่าพนักงาน รายใหญ่ที่มีสาขามาก ๆ ก็หนัก คนปิดร้านไม่มีรายได้จะอยู่อย่างไร รัฐบาลควรหามาตรการมาช่วยผู้ประกอบการพวกนี้บ้าง
“ตอนนี้ฟู้ดแลนด์มี 22-23 สาขา นี่้ยังไม่รวมถึงสาขาที่เทอร์มินอล-21 โคราช ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังกลับมาเปิดให้บริการไม่ได้ โชคไม่ดี “เจ๊กอั้ก” เพราะตอนนี้เรื่องการเคลมประกันยังไม่จบ และภายในเสียหายค่อนข้างมาก ตู้เย็น กระจก ฝ้าเพดาน พื้น ฯลฯ มีแต่รอยลูกกระสุนปืนเป็นพันเป็นหมื่นแผล ยังไม่ได้ซ่อม ที่โคราชถือว่าเสียหายเยอะ ตอนนี้รอประกันอย่างเดียว วงเงินประกันที่ได้อาจจะไม่คุ้ม เพราะนี่ก็ปิดมา 5-6 เดือนแล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์”
“คุณแฟร้งค์” ยังเล่าต่อไปว่า นอกจากฟู้ดแลนด์ผมยังมีร้านอาหาร-เบเกอรี่อีก 5-6 แบรนด์ เช่น Tim Ho Wan ร้านติ่มซำมิชลิน, ร้านเบเกอรี่ Goldilock, ร้านอาหารจีนกวางตุ้ง ซัวเถา อีทารี รวมประมาณ 20 แห่งเปิดในศูนย์การค้า ที่ผ่านมาก็ต้องปิดให้บริการจากการล็อกดาวน์ แต่ตอนนี้กลับมาเปิดใหม่แล้ว แต่ก็คงต้องใช้เวลา ที่เป็น
ปัญหาก็คือ พื้นที่ขายในร้านที่ลดลงจากมาตรการ social distancing ซึ่งยอมรับว่ายังเหนื่อย ลดราคาแล้วคนก็ยังไม่กิน ตอนนี้ไม่เกิน 2 ทุ่มห้างก็เงียบแล้ว ร้านอาหารในเครือที่เปิดแล้วพอไปได้ก็มีเพียง “ร้านถูกและดี” เพราะร้านอาหารราคาไม่แพง ตอนนี้ร้านแพง ๆ คนเขาไม่มีใครซื้อ เขาประหยัด
“ที่สำคัญตั้งแต่เกิดโควิด-19 ผมไม่ได้ลดพนักงานสักคนเดียว บริษัทผมมีพนักงานประมาณ 6 พันคน เงินเดือนเฉลี่ยคนละ 2 หมื่นบาท พนักงานเขามีครอบครัว เขามีลูกเมียที่ต้องดูแล จะไม่ให้ได้มั้ย มันไม่ได้”
ผู้ก่อตั้งอาณาจักรฟู้ดแลนด์ย้ำและเล่าต่อไปว่าตอนนี้เท่าที่ผมสัมผัสมาคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจเหนื่อยกันหมด ลำบากกันหมด เจ้าของศูนย์การค้าจะไปเก็บค่าเช่าร้านอาหารก็ไม่มีตังค์ เจ้าของห้างก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องผ่อนผันกันไป ตอนนี้กว่าครึ่งไม่มีตังค์ บริษัทใหญ่ ๆ คงพออยู่ได้ แต่รายเล็กรายน้อยมีแต่เจ๊ง
ต่อคำถามที่ว่า จากสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น คาดจะใช้เวลานานอีกแค่ไหนที่ธุรกิจจะฟื้นตัวกลับคืนมา และจากนี้ไปฟู้ดแลนด์ที่เคยมีรายได้ปีละมากกว่า 5 พันล้านบาท มีแผนจะลงทุนเปิดสาขาใหม่ ๆ เพิ่มหรือไม่
“ของเราคิดว่าอย่างน้อย ๆ ต้องมี 1 ปี ช่วงปี 1997 หรือปี 2540 ตอนนั้นวิกฤตต้มยำกุ้งไม่หนักเท่าโควิด-19 ครั้งนี้ ซึ่งไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน วิกฤตครั้งนี้พวกคนที่เป็นเถ้าแก่เจ็บหนัก”
“ส่วนเรื่องการลงทุน การเปิดสาขาใหม่ในช่วงหลังจากนี้ไป ขออยู่นิ่ง ๆ ก่อนเพราะตอนนี้ยังช้ำในอยู่ ขอเพียงว่าสาขาที่มีอยู่ทำให้ดีขึ้น ประคองตัวให้รอด ยังไม่มองเรื่องการขยับขยายหรือลงทุนเพิ่ม ชะลอไว้ก่อน ถ้าผ่านปีนี้ไปได้จะยกมือสาธุท่วมหัว ตอนนี้คนอื่น ๆ ก็คงไม่มีใครขยับขยายอะไรหรอก”
นี่คือบทสรุปของ “ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต” จากผลกระทบของโควิด-19
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์