ตึกฝรั่ง ในเมืองกะทู้ จังหวัดภูเก็ต

Culture ศิลปวัฒนธรรม

ตึกฝรั่งที่มีรูปแบบเป็นบ้านเดี่ยวหรือคฤหาสน์ คนภาคใต้โดยเฉพาะที่เมืองกะทู้ (อำเภอ)จังหวัดภูเก็ต เรียกว่า “อั้งม่อหลาว” หรือ “อั่งหม่อหลาว” ซึ่งเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน หมายถึงอาคารรูปแบบบ้านเดี่ยวหรือคฤหาสน์แบบฝรั่ง คำว่า “อั้งม่อ” แปลว่าฝรั่งหรือชาวต่างชาติ ส่วนคำว่า “หลาว” แปลว่าตึก ในจังหวัดภูเก็ตพบมากในพื้นที่เขตย่านเมืองเก่า ใจกลางเขตเทศบาลนครภูเก็ต มีทั้งอาคารเดี่ยวและอาคารห้องแถว หรือตึกแถว ภาษาจีนเรียก “เตี่ยมฉู่” หลายยุคสมัยผสมผสานกันไป

อาคารลักษณะนี้มีความสง่างามภูมิฐานแบบตะวันตก แต่มีความร่มเย็น สุขสบาย และถ่ายเทอากาศได้สะดวกแบบตะวันออกหรือแบบจีน ในภาคใต้ฝั่งตะวันตกพบได้ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา และระนอง ซึ่งล้วนแต่เป็นเมืองที่เจริญขึ้นจากการทำเหมืองแร่ทั้งสิ้น

ในเขตเทศบาลเมืองกะทู้ จังหวัดภูเก็ต มีอาคารแบบอั้งม่อหลาวที่ได้รับการอนุรักษ์และบูรณะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว ได้แก่ โบราณสถานอาคารสำนักงานโรงงานสุราสรรพสามิต หรือ โรงเหล้า ตั้งอยู่ที่ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ใกล้คลองเก็ตโฮ่และขุมเหมือง ติดกับสวนสาธารณะลานกีฬาเทศบาลเมืองกะทู้

ตามประวัติของอาคารหลังนี้ มีความเก่าแก่ตั้งแต่สมัยการทำเหมืองแร่ เจ้าของเดิมชื่อ “นายลิ่มหยอง  ทรัพย์ทวี”  (แซ่ตัน) ประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ สร้างบ้านหลังนี้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย ภายหลังเป็นมรดกตกทอดมายังลูกชาย คือ นายเซ้งฮุ้ย  ทรัพย์ทวี (แซ่ตัน) จากนั้นได้ขายให้กับ นายสุวรรณ (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นชาวกรุงเทพมหานคร  ทำให้บริษัทกรุงเทพเศรษฐภัณฑ์ได้เช่าเพื่อทำเป็นโรงต้มกลั่นเหล้า มีกรมสรรพสามิตเข้ามาควบคุมดูแลกิจการ ต่อมาทางบริษัทกรุงเทพเศรษฐภัณฑ์ได้ย้ายกิจการไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงเหล้าแห่งนี้จึงถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ให้กรมสรรพามิตดูแล

จนกระทั่งปี พ.ศ.2557 เทศบาลเมืองกะทู้ได้เข้ามาดูแลและดำเนินการอนุรักษ์บูรณะอาคารหลังนี้ตามรูปแบบรายการของกรมศิลปากร อาคารจึงกลับมางดงามมีคุณค่าเคียงคู่พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของเมืองกะทู้ดังเดิม  ปัจจุบันภายในอาคารจัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ต พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9  และยังใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชาวอำเภอกะทู้ ถือเป็นอาคารอนุรักษ์ที่ได้ใช้ประโยชน์ในฐานะแหล่งเรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตอีกด้วย โดยตัวอาคารเปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน ในเวลาราชการ

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม มีลักษณะเป็นอาคารสองชั้น ก่ออิฐฉาบปูน ระบบเสาและผนังรับน้ำหนัก ขนาดกว้าง 12.5 เมตร ยาว 30 เมตร ลักษณะการวางผังแบบสมมาตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านหน้าตรงกลางมีมุขยื่น ตรงหน้ามุขชั้นล่างเป็นพื้นที่โล่ง ใช้จอดรถยนต์ได้ ประดับซุ้มโค้งตรงกลาง  ส่วนด้านข้างซ้ายขวาเป็นซุ้มโค้งปลายแหลมหยัก เหนือซุ้มประดับปูนปั้นลวดลายพรรณพฤกษา

ด้านหน้าอาคารส่วนบนประดับด้วยหน้าต่างโค้งยาวจรดพื้น ด้านหน้าเจาะช่องหน้าต่างเป็นจังหวะสามช่อง ด้านข้างอีกด้านละสองช่อง ส่วนบนทำเป็นบานเกล็ดไม้ปรับได้ ส่วนล่างเป็นบานพับแบบบานลูกฟัก ตกแต่งหน้าต่างด้วยซุ้มโค้งครึ่งวงกลม เจาะช่องแสงรูปแฉกรัศมีของพระอาทิตย์ เหนือกรอบประตูหน้าต่างประดับด้วยลายปูนปั้น เสาอาคารทรงสี่เหลี่ยมมีบัวหัวเสา

ชั้นล่างปูพื้นด้วยกระเบื้องดินเผา ประตูทางเข้าด้านหน้าเป็นประตูไม้สองชั้น มีหน้าต่างแบบซุ้มโค้งขนาบสองข้างของฝาผนัง ประตูชั้นนอกบานประตูและกรอบประตูแกะสลักและฉลุลวดลายแบบจีน แบ่งแต่ละช่วงเป็นช่อง ลงรักปิดทอง ประตูชั้นในใช้สำหรับปิด สลักลายวงกลมในกรอบสี่เหลี่ยม  ลวดลายที่สลักล้วนเป็นลวดลายที่เป็นมงคลแบบจีน พร้อมด้วยเครื่องตั้งโต๊ะแบบจีน เช่น “ดอกโบตั๋น” เป็นสัญลักษณ์แห่งความสง่างาม และเป็นดอกไม้แห่งความร่ำรวย เกียรติยศและความรักใคร่ “ดอกเบญจมาศ” เป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตที่ยืนยาว ทนทานและอดทน  “ค้างคาว” เป็นสัญลักษณ์แทนโชคลาภ ความสุขและอายุยืนยาว “แจกัน” แทนความร่มเย็นเป็นสุข “นกกับดอกไม้” เป็นสัญลักษณ์แทนสวรรค์ และความสุข  “หนังสือหรือคัมภีร์” หมายถึงปัญญาและการมีอนาคตที่ดี   “สับปะรด” หมายถึง มีโชคลาภ มั่งคั่ง ร่ำรวย และเจริญก้าวหน้า  “ฟักทอง” เป็นสัญลักษณ์แห่งการเกิด ความเจริญรุ่งเรือง เหลือกินเหลือใช้

“ส้มมือ หรือ ส้มโอมือ” เป็นสัญลักษณ์ของโชค วาสนา มั่งคั่ง   และ “นกยูง” หมายถึงความงามและความมีเกียรติยศ

หน้าต่างด้านหน้าที่ผนังชั้นล่างเป็นซุ้มโค้งแบน มีบานพับแบบบานลูกฟัก เจาะช่องแสงรูปก้อนเมฆและประดับบัวปูนปั้น  ส่วนผนังด้านข้างอาคารเป็นช่องหน้าต่างเรียบรูปสี่เหลี่ยม ชั้นบนเป็นบานเกล็ดไม้ ชั้นล่างเป็นบานพับแบบบานลูกฟัก และประดับบัวปูนปั้นเหนือช่องหน้าต่างทุกบาน

ชั้นล่างตรงกลางเป็นโถงแบ่งพื้นที่ซ้ายขวาเป็นห้องด้วยผนังก่ออิฐฉาบปูน มีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นบนทางด้านปีกขวาของตัวบ้านสองจุด อยู่บริเวณโถงใกล้กับประตูทางเข้าด้านหน้าหนึ่งจุด และด้านหลังอีกหนึ่งจุด

ชั้นบนเป็นพื้นไม้ ตรงกลางห้องเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ด้านซ้ายขวาแบ่งเป็นห้องโดยการใช้แผ่นไม้กั้นเป็นฉากและประตู ตกแต่งด้วยการสลักลวดลายพรรณพฤกษา และสัตว์ ซึ่งเป็นลวดลายมงคล เช่น ได้แก่ดอกโบตั๋น ดอกเบญจมาศ นก  และมีลาย “ดอกบัว” ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ และหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ให้มีความปรองดอง หรือเป็นการอวยพรให้มีบุตรในเร็ววันก็ได้ เนื่องจากดอกบัวนั้นผลิดอกออกผลในเวลาเดียวกัน

ช่องแสงและช่องระบายอากาศที่สลักและฉลุลวดลายที่เป็นมงคล นอกจากเพื่อใช้ระบายอากาศจากตัวอาคารแล้ว ยังสะท้อนความเชื่อของชาวจีนที่ว่า อากาศและลมที่ไหลเวียนผ่านลวดลายอันเป็นสิริมงคลเข้าสู่ตัวอาคารจะช่วยส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยมีความเจริญมั่งคั่ง มีโชคลาภ ร่มเย็นเป็นสุข อายุยืน และประกอบกิจการเจริญก้าวหน้าด้วย  ระเบียงด้านหลังประดับช่องลมด้วยเซรามิคลายพิกุลกลาง สีเขียว เครื่องบนเป็นไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผารูปโค้งแบบคว่ำหงาย และมีลวดลายปูนปั้นโดยรอบตัวอาคาร ส่วนห้องครัวสร้างชั้นเดียวแยกออกมาจากตัวอาคารโดยมีหลังคาเชื่อม สองข้างมีกำแพงสูง พื้นที่ด้านในโล่งเรียกว่า “ฉิ่มแจ้” สำหรับระบายอากาศ

ภายในอาคาร มีบ่อน้ำทรงกลมก่ออิฐฉาบปูนอยู่ด้านปีกขวาของตัวบ้าน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร สูงจากพื้น 45  เซนติเมตร  มีช่องประตูเข้าสองข้างซ้ายขวา ที่ผนังเจาะช่องหน้าต่าง ส่วนพื้นปูด้วยกระเบื้องดินเผา และแบ่งพื้นที่ใช้งานภายในครัวด้วยราวลูกกรงปูนปั้น อาคารหลังนี้จึงเป็นอาคารที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและมีอายุร่วมสมัยกับกลุ่มอาคารอิทธิพลตะวันตกผสมจีน หรือแบบชิโน-ยูโรเปียน ในย่านเมืองเก่าภูเก็ต ลักษณะอาคารหลังเดี่ยวขนาดใหญ่แบบคฤหาสน์หรือตึกแบบฝรั่ง ที่มีความสมบูรณ์สง่างามทางโครงสร้าง

การตกแต่งอาคารด้วยลายปูนปั้นประดับช่องประตูและหน้าต่าง บานประตูไม้ทางเข้าด้านหน้าลงรักปิดทอง รวมถึงฉากกั้นไม้และประตูชั้นบน มีการแกะสลักและฉลุลวดลายมงคลแบบจีนที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ถึงปัจจุบัน

**********************************

หมายเหตุ:ข้อมูลจากสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช

ภาพถ่ายเก่า อาคารเมื่อครั้งเป็นที่อยู่อาศัยสมัยทำเหมืองแร่
ห้องครัว