ไม่ว่าจะอร่อยแค่ไหน แต่เวลากินปลาที่มีก้างเยอะๆ ก็อดไม่ได้ที่จะกินแบบระมัดระวังสักหน่อย เพราะประสบการณ์ “ก้างปลาติดคอ” นั้น ไม่น่าพิศมัยเอาเสียเลย นอกจากจะปวดและเจ็บจี๊ดแล้ว การนำก้างปลาออกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังอาจทำให้เกิดอันตรายเป็นแผลบริเวณหลอดอาหารหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อ เป็นหนองลามเข้าไปในคอ หรือช่องอกได้
นายแพทย์ปวิชญ์ วิรัชศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จังหวัดชุมพร ยังเปิดเผยสถิติเคสก้างปลาและเคสวัตถุแปลกปลอมติดคอ ในปี 2562 ว่าเฉลี่ยแล้วพบเคสดังกล่าวกว่า 144 เคสต่อปี หรือเฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 3 – 4 เคส
พร้อมยังให้ความรู้ที่น่าสนใจว่า เมื่อก้างปลาติดคอ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการ เจ็บจี๊ดเฉียบพลัน กลืนน้ำลายแล้วเจ็บ รวมทั้งสามารถบอกตำแหน่งได้ว่ามีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่บริเวณใด
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ สามารถดื่มน้ำแล้วกลั้วคอแรง ๆ หากเป็นก้างปลาขนาดเล็ก จะสามารถหลุดออกเองได้ แต่หากยังไม่หลุด ควรมาพบแพทย์ทันที
ทว่ายังคงมีความเชื่อและสารพัดวิธีการปฏิบัติหากมีก้างปลาติดคอ ไม่ว่าจะเป็น การปั้นข้าวเหนียว การรับประทานกล้วย หรือมาร์ชเมลโล แล้วกลืนเพื่อดันก้างปลาให้หลุด หรือการใช้นิ้วล้วงคอ “นับว่าเป็นความเชื่อและวิธีการที่ผิด” เพราะในความเป็นจริงแล้วก้างปลาที่ใหญ่จะไม่สามารถหลุดออกได้ และการรับประทานอาหารดังกล่าวลงไป หรือแม้แต่การใช้นิ้วล้วงคอ อาจดันให้ก้างปลาติดลงไปลึกกว่าเดิมและทำให้เกิดแผลอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีหลายคนเชื่อว่า การดื่มน้ำมะนาว แล้วจะทำให้ก้างปลาอ่อนนุ่มลง “ก็ไม่เป็นความจริง” เพราะน้ำมะนาวไม่สามารถทำให้ก้างปลาละลายและหลุดหายไปเองได้ และยิ่งดื่มน้ำมะนาวในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถนำก้างปลาออกได้ ควรไปพบแพทย์ทันที โดยแพทย์จะทำการซักประวัติก่อนว่า ทานปลาชนิดใด และก้างปลาติดคอมานานแค่ไหนแล้ว มีอาการเจ็บที่บริเวณตำแหน่งไหนบ้าง โดยการตรวจเบื้องต้นจะใช้ไฟฉายคาดบริเวณศีรษะ ใช้ไหมกดลิ้น เพื่อหาเศษก้างปลาในบริเวณที่มักพบบ่อย ๆ
กรณีเคสที่หาก้างปลาไม่เจอ หรือเคสที่ก้างปลาติดในตำแหน่งลึก อาจจำเป็นต้องใช้กล้องขนาดเล็ก ส่องผ่านเข้าทางจมูกลงไปในบริเวณลำคอ หรือใช้ฟิล์มเอกซเรย์ เพื่อช่วยให้มองเห็นตำแหน่งที่แน่ชัดและใช้ที่คีบ ทำการคีบก้างปลาออกมาและหากใช้วิธีดังกล่าวแล้วยังหาไม่เจอ แต่ยังมีอาการเจ็บมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อาจต้องทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อรักษาต่อไป
ที่มา : มติชนออนไลน์