ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในห้องจัดแสดงพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ปัจจุบันมีการจัดแสดงเศียรพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านั้นในแวดวงวิชาการมีการนำเสนอว่า เศียรพระพุทธรูปดังกล่าวเป็น “เศียรพระศรีสรรเพชญ”
แต่ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกันยายน 2563 รศ.พิชญา สุ่มจินดา ให้ข้อคิดเห็นใหม่ ด้วยบทความชื่อว่า ‘เศียรใหญ่’ ไม่ใช่ ‘พระศรีสรรเพชญ’ โดยการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ เพื่อหาความเป็นไปได้ว่า เศียรดังกล่าวควรเป็นเศียรพระศรีสรรเพชญหรือไม่ ในหลากหลายประเด็นในการพิจารณา
หนึ่งในจำนวนนั้นคือประเด็นที่ว่า ‘เศียรใหญ่’ มีพระพักตร์สอดคล้องกับพระพุทธรูปในช่วงที่สร้างพระศรีสรรเพชญหรือไม่
เริ่มจากปีที่หล่อพระศรีสรรเพชญ อ้างอิงตาม พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ระบุว่า พ.ศ.2043 เป็นปีที่เริ่มหล่อพระศรีสรรเพชญ
รศ.พิชญา สุ่มจินดา จึงรวบรวมข้อมูลพระพุทธรูปแถบภาคกลางของไทยมาเทียบเคียงกับพระศรีสรรเพชญ ดังนี้
พระพุทธรูปนายจอมเภรี ปรากฏจารึกที่ฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2052 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ.2034-2072) พร้อมกับจารึกในสมัยรัชกาลที่ 1 ระบุว่าเชิญมาจากสุโขทัย ปีที่สร้างพระพุทธรูปองค์นี้จึงห่างจากปีอ้างอิงที่สร้างพระศรีสรรเพชญเพียง 9 ปี
พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องน้อย วัดราชธานี จังหวัดสุโขทัย มีจารึกระบุปีที่สร้างตรงกับ พ.ศ.2084 ในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ.2077-89) ห่างจากปีที่สร้างพระศรีสรรเพชญ 41 ปี
พระมงคลบพิตร แม้พระพุทธรูปองค์นี้ไม่มีจารึกกำหนดอายุเวลา แต่ข้อมูลจากการบันทึกของฟาน ฟลีต กล่าวถึงวัดพระชีเชียง ที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงสร้างขึ้นอย่างใหญ่โตและน่าอัศจรรย์ ภายหลังวัดพระชีเชียงชำรุดทรุดโทรมไม่มีผู้ใดกล้าปฏิสังขรณ์มาเกือบร้อยปี จนราวเดือนธันวาคม พ.ศ.2181 จนถึงมกราคม พ.ศ.2182 สมเด็จพระเจ้าปราสาททองรับสั่งให้รื้อวัดดังกล่าว และย้าย “รูปหล่อทองแดง” ออก เพื่อสร้างวัดใหม่
“รูปหล่อทองแดง” ที่ฟาน ฟลีต กล่าวถึง คือ พระมงคลบพิตรจากวัดพระชีเชียงที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงสร้างใน พ.ศ.2081 และสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงย้ายมาประดิษฐาน ณ ตำแหน่งปัจจุบันนั่นเอง
เมื่อพิจารณาพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ มีพระพักตร์ใกล้เคียงกัน พระเนตรเล็กเรียวเหลือบลงต่ำ, พระขนงโก่ง พระนาสิกเล็กคมเป็นสัน เว้นแต่พระมงคลบพิตรมีพระโอษฐ์ในสัดส่วนที่กว้างกว่า
รศ.พิชญา วิเคราะห์ว่า “ความคล้ายคลึงกันดังกล่าวช่วยสนับสนุนข้อความจากพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ และบันทึกของฟาน ฟลีต ว่า พระมงคลบพิตรสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราชด้วย พระพุทธรูปที่มีพระพักตร์ในลักษณะเดียวกันนี้น่าจะเป็นที่นิยมในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ดังมีตัวอย่างพระพุทธรูปลีลาสำริด สมบัติส่วนบุคคล และพระพุทธรูปสำริดประทับสมาธิราบ ปางมารวิชัยในระเบียงคดวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามที่อาจเป็นรูปจำลองของพระมงคลบพิตร
น่าสังเกตว่า แม้ว่าปีที่สร้างพระพุทธรูปนายจอมเภรี พระมงคลบพิตร และพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยดังกล่าว จะห่างจากปีที่สร้างพระศรีสรรเพชญในระหว่าง 9-41 ปีก็ตาม แต่ก็จะเห็นว่าพระพักตร์ของพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์กลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากกันมากนัก…
นอกจากพระพุทธรูปที่สามารถกำหนดอายุเวลาได้จากจารึกและเอกสารทั้ง 3 องค์แล้ว ยังพบพระพุทธรูปยืนสำริด ทรงครองจีวรห่มคลุม พระหัตถ์ขวาประทานอภัย องค์หนึ่งไม่ทราบที่มาประดิษฐานในพระระเบียงคดวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และอีกองค์ได้จากวัดบางอ้อยช้าง จังหวัดนนทบุรี ประดิษฐานในพระระเบียงคดวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
พระพุทธรูปทั้ง 2 องค์มีลักษณะพระพักตร์ใกล้เคียงกับพระมงคลบพิตรและพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยที่กล่าวถึงข้างต้น จึงน่าจะสร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งหากพระศรีสรรเพชญยังคงสภาพสมบูรณ์ก็อาจมีพระพักตร์และพุทธลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธรูปยืนเหล่านี้ที่อาจเป็นรูปจำลองของพระศรีสรรเพชญก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพระพุทธรูปบางองค์จากช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ที่มีพระพักตร์คล้ายคลึงดังกล่าวจะพบในหัวเมืองเหนืออย่างสุโขทัย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าในช่วงระยะเวลานั้นสุโขทัยได้กลายเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาอย่างสมบูรณ์แล้ว โอกาสที่จะมีการถ่ายทอดพุทธศิลป์ระหว่างกันย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ”
ส่วน “เศียรใหญ่” นั้น รศ.พิชญาอธิบายไว้ว่า “พระพักตร์เป็นทรงผลมะตูม พระปรางอิ่ม พระศกเป็นหนามขนุน แสดงความคมชัดและชัดลึกขององค์ประกอบพระพักตร์ที่เด่นชัดกว่าพระพุทธรูปสมัยก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นเหลี่ยมพระขนงยกขึ้นเป็นสันคมไม่เป็นเส้นพระขนงแบบเดิมรับกับพระนาสิกใหญ่โด่งเป็นสันมนปลายงุ้ม พระเนตรเป็นรูปช้อย หางพระเนตรเรียวแหลมขึ้นแบบที่เรียกว่า ‘ตานกนอน’ เปลือกพระเนตรกว้าง เส้นขอบบนของพระเนตรล้อกับเหลี่ยมพระขนงที่ค่อนข้างกว้างเช่นกัน พระโอษฐ์กว้าง และแย้มพระสรวลเล็กน้อยที่มุมพระโอษฐ์”
ในประเด็นที่ว่า ‘เศียรใหญ่’ มีพระพักตร์สอดคล้องกับพระพุทธรูปในช่วงที่สร้างพระศรีสรรเพชญหรือไม่ จึงน่าจะสรุปได้ว่า “เศียรใหญ่” มีพระพักตร์ไม่สอดคล้องกับพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาใกล้เคียงการสร้างพระศรีสรรเพชญ พ.ศ.2043
แต่เดี๋ยวก่อน ก่อนที่จะฟันธงว่า “เศียรใหญ่” ไม่ใช่ “พระศรีสรรเพชญ”
เรายังเหลืออีก 2-3 ประเด็น ที่ผู้เขียน (รศ.พิชญา สุ่มจินดา) จัดหนักมาให้ ได้แก่ “เศียรใหญ่” เคยประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์หรือไม่, “เศียรใหญ่” เคยเป็นพระพุทธรูปยืนหรือประทับและมีขนาดเท่าใด และ “เศียรใหญ่” มีพระพักตร์สอดคล้องกับพระพุทธรูปในช่วงเวลาใด ซึ่งทั้งหมดนี้มีคำตอบอยู่ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกันยายนนี้
ที่มา : คอลัมน์ประชาชื่น มติชน
ผู้เขียน : วิภา จิรภาไพศาล