มะรุม ไม้ยืนต้นโบราณ มหัศจรรย์ทางคุณค่า

Health สุขภาพดีๆ

เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดแถบใต้เชิงเขาหิมาลัย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่ถูกปลูกไว้บริเวณบ้านไทยมาแต่โบราณ กินได้หลายส่วน ทั้งยอด ดอก และฝักเขียว แต่ใครๆ นิยมกินฝักมากกว่าส่วนอื่น

ต้นมะรุม พบได้ทุกภาคของประเทศไทย ทางอีสานเรียก ผักอีฮุม หรือผักอีฮึม ภาคเหนือเรียก มะค้อมก้อน ชาวกะเหรี่ยงแถบกาญจนบุรี เรียก กาแน้งเดิง ส่วนชานฉานแถบแม่ฮ่องสอน เรียก ผักเนื้อไก่

คนเฒ่าคนแก่นิยมกินมะรุมในช่วงต้นหนาว เพราะเป็นฤดูกาลของฝักมะรุม หาได้ง่าย รสชาติอร่อย เพราะสดเต็มที่ มีขายตามตลาดทั่วไป คนที่ปลูกมะรุมไว้ในบ้านเท่านั้นจึงจะมีโอกาสลิ้มรสยอดมะรุม ใบอ่อน ช่อดอกและฝักอ่อน

ช่อดอก นำไปดองเก็บไว้กินกับน้ำพริก ยอดมะรุม ใบอ่อน ช่อดอก และฝักอ่อน นำมาลวกหรือต้มให้สุก จิ้มกับน้ำพริกปลาร้า น้ำพริกแจ่วบอง กินแกล้มลาบ ก้อย แจ่ว ได้ทุกอย่าง หรือจะใช้ยอดอ่อน ช่อดอกทำแกงส้มหรือแกงอ่อมก็ได้

ต่างประเทศใช้ใบมะรุมประกอบอาหารเช่นเดียวกับการใช้ผักขมฝรั่ง หรือปรุงเป็นซอสข้นราดข้าวหรืออาหารแป้งอื่นๆ นอกจากนี้ ใช้ตากแห้งป่นเก็บไว้ได้นานโรยอาหาร เช่นเดียวกับที่ภูมิปัญญาอีสาน จังหวัดสกลนคร ใช้ใบมะรุมแห้งปรุงเข้าเครื่อง “ผงนัว” กับสมุนไพรอื่นไว้แต่งรสอาหารมาแต่โบราณ ส่วนฝักอ่อนปรุงอาหารเหมือนถั่วแขก

มะรุม เป็นพืชมหัศจรรย์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

มะรุม มีโปรตีนสูงกว่านมสด 2 เท่า การกินใบมะรุมตามชนบทของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศโลกที่ 3 เป็นการเพิ่มโปรตีนคุณภาพสูงราคาถูกให้กับอาหารพื้นบ้าน นอกจากนี้ มะรุมมีธาตุอาหารปริมาณสูงเป็นพิเศษที่ช่วยป้องกันโรค คือ วิตามินเอ บำรุงสายตามีมากกว่าแครอท 3 เท่า วิตามินซี ช่วยป้องกันหวัด 7 เท่าของส้ม แคลเซียม บำรุงกระดูกเกิน 3 เท่า ของนมสด โพแทสเซียม บำรุงสมองและระบบประสาท 3 เท่า ของกล้วย ใยอาหารและพลังงาน ไม่สูงมาก เหมาะกับผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก น้ำมันสกัดจากเมล็ดมะรุม มีองค์ประกอบคล้ายน้ำมันมะกอก ดีต่อสุขภาพ

ปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นผลิตชาใบมะรุมออกจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ระบุว่า ใช้แก้ปัญหาโรคปากนกกระจอก หอบหืด อาการปวดหูและปวดศีรษะ ช่วยบำรุงสายตา ระบบทางเดินอาหาร และช่วยระบายกาก

ประเทศอินเดีย หญิงตั้งครรภ์จะกินใบมะรุมเพื่อเสริมธาตุเหล็ก แต่ที่ประเทศฟิลิปปินส์และประเทศ บอตสวานา หญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมจะกินแกงจืดใบมะรุม (ภาษาฟิลิปปินส์ เรียก มาลังเก) เพื่อประสะ น้ำนมและเพิ่มแคลเซียมให้กับน้ำนมแม่เหมือนกับคนไทย

มะรุม ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการปักชำ การปลูกการดูแลรักษาง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน จึงนิยมปลูกไว้ริมรั้วบ้านหรือหลังบ้าน 1-5 ต้น เพื่อให้เป็นผักคู่บ้านคู่ครัวแบบพอเพียงที่ไม่ต้องซื้อหา

ควรกำจัดวัชพืชในระยะเริ่มปลูก ให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก โดยใส่รอบๆ โคนต้น จากนั้นพรวนดินกลบ หรือใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 100-200 กรัม ต่อต้น และพรวนดินกลบ ไม่มีโรคที่สำคัญในมะรุม ส่วนแมลงศัตรูพืชที่สำคัญคือ หนอนเจาะลำต้นและกิ่ง ทำให้อายุต้นมะรุมไม่ยืดยาว ต้องหมั่นตรวจและทำลายหนอนอยู่เสมอ การป้องกันและกำจัด ให้ฉีดสารสกัดสมุนไพรไล่แมลงผสมน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เพื่อช่วยเป็นสารจับใบ

เก็บเกี่ยวใบชุดแรกได้หลังจากย้ายกล้าลงปลูกได้ 3 เดือน และรุ่นต่อไปจะเก็บได้ทุกๆ 2 เดือน

คนไทยทุกภาคนิยมนำฝักมะรุมไปทำแกงส้มด้วยการปอกเปลือกหั่นฝักมะรุมเป็นชิ้นยาวพอคำ ถือว่าเป็นผักที่ทำแกงส้มคู่กับปลาช่อนอร่อยที่สุด จะต่างกันก็ในรายละเอียดของแกงตามแบบอย่างของแต่ละท้องถิ่นเท่านั้น แม้แต่ทางใต้ก็นิยมนำมะรุมมาทำแกงส้มปลาช่อน โดยจะใช้ขมิ้นเพื่อดับกลิ่นคาวปลาและเพิ่มสีสันของน้ำแกง ปรุงรสเปรี้ยวด้วยการใส่ส้มแขกแทนน้ำมะขาม และหั่นปลาช่อนเป็นแว่นใหญ่ไม่โขลกเนื้อปลากับเครื่องแกง

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์