พริก ของคู่ครัวไทย เป็นตำรับยาดีที่มีมานาน

Health สุขภาพดีๆ

เป็นความชื่นชอบ หรืออาจจะเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยไปแล้ว ที่ส่วนใหญ่มักจะชอบอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน คนเก่าคนแก่เคยบอกว่า กินข้าวมื้อไหนถ้าขาดน้ำพริก เป็นว่ากินข้าวไม่อิ่มท้อง ไม่มีแรงทำงานทำการอะไร

คนไทยไม่ว่าจะยากดีมีจน เพศหญิงเพศชาย คนแก่ คนหนุ่มสาว ล้วนมีความต้องการที่จะลิ้มรสอาหารที่มีรสจัด หรือรสเผ็ดกันทั้งนั้น…ที่ชอบอาหารรสจืดๆ ก็มีเช่นกัน แต่มักจะเป็นของเด็กเล็ก คนชรา และเด็กยุคใหม่ที่เป็นสังคมสมัยนิยม หรือเจนเนอเรชั่น (generation) ทั้งเจนวายหรือ Why Gen เจนเอ็กซ์ เจนซี หรือ Z รวมทั้งกลุ่มรักสุขภาพ เจนเบเบ้บูม หรือเบบี้บูม

พริก หรือ Pepper เป็นพืชในสกุล Capsicum วงศ์ SOLONACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum annuum Linn. พริกหลายชนิดที่เกษตรกรหลายจังหวัดปลูกกัน แต่ตลาดส่งออกต่างประเทศไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นพริกใหญ่ประเภทมีเมล็ดมาก เนื้อผลบาง

ซึ่งต่างประเทศต้องการประเภทเนื้อหนา เมล็ดน้อย มีสีแดงล้วน หรือเขียวล้วน เช่น พริกจีนแดง พริกพันธุ์หัวเรือของจังหวัดอุบลราชธานี พริกพันธุ์จินดา ส่วนตลาดในประเทศต้องการประเภทเมล็ดมาก รสเผ็ดปานกลางถึงมาก ซึ่งถ้าพริกรสเผ็ดส่วนใหญ่จะเป็นประเภทพริกเล็ก พริกชี้ฟ้า หรือพริกขี้หนูใหญ่ พริกขี้หนูสวน พริกขี้หนูหอม พริกขี้นก พริกกะเหรี่ยง ผลผลิตของพริก คือผลพริก ซึ่งแยกเป็นพริกเล็ก พริกใหญ่ ในรูปของผลสด คือพริกสด กับพริกแห้ง คือพริกที่ผ่านกรรมวิธีการตาก หรืออบจนแห้งไม่มีความชื้น หรือความชื้นเหลือน้อยมาก และพริกแปรรูป เช่น พริกป่น หรือพริกผง ซอสพริก น้ำพริกแกง เครื่องปรุงบะหมี่สำเร็จรูป

พริกกลุ่ม หรือชนิดแคปซิคัม แอนนูอัม (Capsicum annuum) ที่ปลูกกันในประเทศไทยนี้ อยู่กลุ่มความเผ็ดปานกลางเกือบทั้งหมด ยกเว้นพวกเผ็ดน้อย หรือไม่เผ็ด มักจะเป็นพริกพันธุ์มาจากต่างประเทศ เป็นชนิดแคปซิคัมแอนนูอัม คัลติวารส์ (Capsicum annuum cultivars) เช่น พริกหวานแคลิฟอร์เนียร์วันเดอร์ และพริกหยวกไทย พันธุ์พื้นเมือง พันธุ์บางบัวทอง ในทุกวันนี้

วิทยาการก้าวหน้าและรวดเร็วมาก มีการปรับปรุงบำรุงพันธุ์พริกได้อีกมากมาย โดยเฉพาะภาคเอกชน มีหลากหลายพันธุ์ หลายบริษัทที่พัฒนาได้พริกพันธุ์ใหม่ๆ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อให้ได้ตรงตามความต้องการของตลาด

พันธุ์พริกที่เกษตรกรปลูกในประเทศไทย เราแบ่งเป็นประเภทพริกใหญ่ เช่น พันธุ์พริกมัน พริกเหลือง พริกบางช้าง พริกมันพิชัย พริกสิงคโปร์ พริกดอนยาง พริกสันป่าตอง พริกชี้ฟ้า

ประเภทพริกขี้หนูเม็ดใหญ่ (เม็ดคือผล) เช่น พันธุ์ห้วยสีทน พันธุ์หัวเรือ พันธุ์จินดา พันธุ์จินดายอดสน พันธุ์บ้านใน พันธุ์ไส้ปลาไหล พันธุ์สร้อย พันธุ์นิ้วมือนาง พันธุ์น้อยผลยาว พันธุ์ช่อ มข.(มหาวิทยาลัยขอนแก่น) พันธุ์เดือยไก่ และพริกขี้หนูเม็ด (ผล) เล็ก เช่น ขี้หนูหอม กะเหรี่ยง ขี้นก

ความเผ็ดของพริก มีหน่วยวัดเป็น สโควิลล์ (Scoville) มีสารรสเผ็ดคือ แคปไซซิน (Capsaicin) พริกที่มี สารแคปไซซิน ร้อยละ 1 ของน้ำหนัก จัดว่ามีความเผ็ดสูงเทียบเท่าเผ็ด 100% จะเท่ากับหน่วยวัดความเผ็ด 175,000 สโควิลล์ ถ้าสารแคปไซซีน และหน่วยความเผ็ดลดลงก็จะเผ็ดน้อยลง

appetite-1238240_960_720

พริกที่นิยมปลูกในประเทศไทย จะเป็นพริกที่จัดอยู่ในกลุ่มความเผ็ดปานกลาง ความเผ็ด 35,000-70,000 สโควิลล์ ซึ่งความเผ็ดของพริก คือคุณค่าหลัก หรือคุณสมบัติประจำตัวของพริก แต่เวลาไปซื้อหามาใช้ประกอบอาหาร ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเผ็ดขนาดไหน ได้แต่คาดเดาเอา โดยดูจากสีสัน รูปร่าง ขนาด ซึ่งเป็นคุณสมบัติภายนอกที่มองเห็นนั่นเอง

พริก 100 กรัม มีคุณค่าทางอาหาร ให้พลังงานต่อร่างกาย 103 กิโลแคลอรี ให้เส้นใยอาหาร 65 กรัม ไขมัน 2.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 19.9 กรัม ฟอสฟอรัส 85 มิลลิกรัม แคลเซียม 45 มิลลิกรัม เหล็ก 2.5 มิลลิกรัม วิตามินเอ 11,050 IU วิตามินบีหนึ่ง (ไทอามีน) 0.24 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง (ไรโบฟลาวิน) 0.19 มิลลิกรัม วิตามินบีสาม (ไนอะซิน) 2.10 มิลลิกรัม วิตามินซี 70 มิลลิกรัม

คุณค่าทางอาหารของพริก จะต่างกันไปแต่ละชนิด เช่น พริกใหญ่สด พริกใหญ่แห้ง พริกเล็ก หรือขี้หนูสด พริกขี้หนูแห้ง คุณค่าจะต่างกันไป ใช้ผสมกับเครื่องเทศชนิดอื่นๆ ในการปรุงอาหาร ใช้ทั้งผลสด ผลแห้ง และพริกป่น

นอกจากผลของพริกที่ใช้นำมาเป็นพืชผักปรุงอาหารแล้ว ยอดและใบอ่อน ยังนำมาเป็นผักประกอบอาหาร เป็นผักปรุงรส แกงเลียง แกงแค แกงคั่ว แกงอีกหลายอย่าง ใส่เคียงคู่กับผักอื่นๆ เพิ่มรสชาติความอร่อยขึ้นมากโข

ผลพริกมีสรรพคุณในการช่วยขับลม ขับปัสสาวะ แก้ไข้หวัด ขับเหงื่อ แก้อาการปวดต่างๆ ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยระบบย่อยอาหารได้ดี สารแคปไซซิน และสารอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวพริก มีประโยชน์ หรือมีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย ช่วยเสริมสร้างคอลาเจน ช่วยให้อารมณ์ดี เพราะร่างกายหลั่งสารเอนโดรฟีน ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค บำรุงสายตา กระตุ้นเจริญอาหาร กระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ช่วยลดน้ำหนัก บรรเทาอาการปวดต่างๆ บรรเทาหวัด ลดน้ำมูก ทำให้จมูกโล่งหายใจสะดวก แก้ไข้หวัด แก้ไอ แก้ซางตานขโมย

สารรสเผ็ดที่มีในพริก มีคุณสมบัติให้พลังงาน ความร้อนแก่ร่างกาย มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์มานาน ใช้เป็นส่วนผสมของยา เช่น ยาช่วยให้เจริญอาหาร ยาขับลม ยาขับปัสสาวะ ยาแก้ไข้หวัด แก้ไอ

มีบางคนอยากรู้ว่า ต้นกำเนิดที่มาของพริกมาจากไหน? อยากจะตอบว่ามาจากต้นพริกสิ ก็กลัวเจ็บตัว มีคนเล่าว่า พริกมีถิ่นกำเนิดที่ทวีปอเมริกาใต้ แถบลุ่มน้ำอะเมซอนโน่นละกระมัง ชนเผ่าอินเดียนแดง เป็นพวกแรกรู้จักใช้พริกมาปรุงอาหารประมาณ 7,000 ปีก่อนคริสตกาลและหลังจากนั้นอีก 2-3 พันปีมีการเพาะปลูกจนแพร่กระจายอยู่ทั่วไป

ไทยเราส่วนใหญ่นิยมกินอาหารรสเผ็ดมาช้านาน แต่ส่วนใหญ่มาจากเครื่องเทศ เช่น ขิง ข่า กระวาน กานพลู กะเพรา แมงลัก ดีปลี ยี่หร่า ทำเป็นเครื่องแกง หรือผสมคลุกเคล้าลงในอาหาร หรือเป็นผักเคียง

มารู้จัก “พริก” เอาตอนราวๆ ยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ฝรั่งชาติโปรตุเกสเดินเรือเข้ามาค้าขาย ก็มีพวกชาวพื้นเมืองแถบอเมริกาใต้ เปรู บราซิล เป็นลูกเรือของฝรั่งชาวโปรตุเกสมาด้วย และเป็นคนนำพริกติดเรือมาจากอเมริกาใต้มาทำอาหาร เป็นคนชอบกินพริก แนะให้คนไทยรู้จักและชิมดู คนไทยเห็นเขากินพริก และได้ลิ้มชิมรสเผ็ดก็ชื่นชอบ จัดการขอเมล็ดมาเพาะปลูก

เขาบอกคนไทยว่า ที่ยูชิมดู นี่เขาเรียกว่า “ปริ๊กก้า” แปลว่า เผ็ดร้อน พวกนายฝรั่งโปรตุเกสไม่ชอบกินของเผ็ดหรอกนะ

จริงนะเห็นฝรั่งสมัยนี้เขากินอาหารจืดๆ และคนไทยนิยมเรียกชื่อคำโดดๆ จึงเรียกว่า “ปริ๊ก” แต่ก็ยังเห็นว่าออกเสียงไม่ไพเราะดังแบบไทยสยาม และไม่ทันตามสมัยไทยนิยม จึงเรียกว่า “พริก” เพราะอ่อนหวาน น่ากินขึ้นเยอะ จนเรียกกันถึงวันนี้ และเป็นคติประจำใจ กินเผ็ดได้ คือไทยแท้