พริกไทยมีถิ่นกำเนิดในแถบตอนใต้ของเทือกเขาฆาฏตะวันตก รัฐเกรละ ในประเทศอินเดีย และศรีลังกา ปัจจุบันเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศแถบที่มีอากาศร้อน เช่น บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ส่วนในไทยนั้นนิยมปลูกกันมากในจังหวัดจันทบุรี ตราด และระยอง
โดยสายพันธุ์ที่นิยมปลูกกัน มีด้วยกัน 6 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ใบหนา พันธุ์บ้านแก้ว พันธุ์ปรางถี่ธรรมดา พันธุ์ปรางถี่หยิก พันธุ์ควายขวิด และสายพันธุ์คุชชิ่ง อย่างไรก็ตาม พริกไทยก็ถือได้ว่าเป็นพืชที่ให้คุณประโยชน์แก่มนุษย์อย่างมาก เพราะสามารถเป็นทั้งเครื่องปรุงรสชั้นเลิศที่เป็นที่นิยมทั่วโลกในปัจจุบัน และยังสามารถเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษาและบำบัดโรคได้อีกด้วย
ประโยชน์และสรรพคุณ
- ขับลมในลำไส้ขับลมในท้อง
- แก้ปวดท้อง
- ช่วยขับไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย
- ใช้เป็นสมุนไพรลดน้ำหนัก
- แก้ลมวิงเวียน
- ช่วยย่อยอาหาร
- แก้ลมพรรดึก (ก้อนอุจจาระที่แข็งกลม)
- แก้อติสาร (โรคลงแดง)
- แก้ลมจุกเสียด แก้แน่น ปวดมวนในท้อง
- แก้เสมหะ แก้ไอ
- บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ขับผายลม
- ช่วยให้เจริญอาหาร
- ขับเหงื่อ ลดความร้อนในร่างกาย
- ช่วยขับปัสสาวะ
- เป็นยาอายุวัฒนะ
นอกจากนี้ บัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้พริกไทยในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆ ของร่างกาย รวม 2 ตำรับ คือ
- ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของพริกไทยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ
- ยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ปรากฏตำรับ “ยาประสะไพล” มีส่วนประกอบของพริกไทยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ในสตรีที่ระดูมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาน้อยกว่าปกติ
ที่มา : คัดบางตอนจาก เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์