อีกไม่กี่วัน ก็จะถึงเดือนตุลาคม 2563 ที่รัฐบาลไทยไฟเขียวให้ 4 จังหวัดนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยได้ตามเงื่อนไขของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ ศบค.กำหนด แต่รูปธรรมในทางปฏิบัติหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คงไม่ง่ายนัก ที่สำคัญจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ให้เข้ามา แค่การนำร่องโดยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ประมาณสัปดาห์ละ 300 คน คงไม่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้
โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตที่เคยอาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละกว่า 10 ล้านคน นักท่องเที่ยวไทย 3.9 ล้านคนต่อปี มีรายได้รวมปีละกว่า 4 แสนล้านบาท เมื่อเกิดโควิด-19 ประเทศไทยปิดประเทศ ส่งผลกระทบต่อรายได้หายไปทันที
“กะตะ-กะรน” เงียบวังเวง
ล่าสุด “ทีมข่าวประชาชาติธุรกิจ” ได้ลงสำรวจธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว พบว่า ได้รับผลกระทบทั้งหมด อาทิ ธุรกิจรถ เรือ โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านนวดสปา ฯลฯ ต่างหยุดให้บริการ ทยอยปิดกิจการและเลิกกิจการ เห็นได้ชัดในพื้นที่ท่องเที่ยวหลักอย่าง “หาดกะตะ หาดกะรน หาดป่าตอง” ที่เคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่เคยหลับ กลับเงียบเหงาซบเซา
ภาพความทรงจำของถนนเส้นทางต่าง ๆ ที่เคยมีนักท่องเที่ยวเดินพลุกพล่าน วันนี้ไม่มีภาพเหล่านั้นให้เห็นอีกแล้ว !
พนักงานร้านขายแว่นตาคนหนึ่งเล่าว่า ในพื้นที่ตำบลกะรนก่อนโควิด-19 เป็นเมืองที่สนุกสนานมาก มีนักท่องเที่ยวเดินกันทั้งวันทั้งคืน ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ผับบาร์ต่าง ๆ เปิดให้บริการเต็มพื้นที่ แต่เมื่อโควิด-19 ระบาด ไม่มีนักท่องเที่ยว ร้านค้าเริ่มทยอยปิดกิจการ ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงหลายร้านปิดหมด รวมทั้งร้านสะดวกซื้อขึ้นป้ายปิดชั่วคราว ให้เช่า และเซ้งร้าน หายไปเกือบทุกพื้นที่ รวมถึงบรรยากาศช่วงเย็นถึงค่ำเมื่อก่อนมีแสงไฟและเสียงเพลงจากสองข้างทาง ตอนนี้มีแต่ความมืดความเงียบ เปลี่ยว บรรยากาศวังเวงมาก
ทั้งนี้ ในส่วนธุรกิจร้านแว่นตาปรับไปทำตลาดออนไลน์มากขึ้น มีโปรโมชั่นลด 60% ทำให้ยอดขายกระเตื้องขึ้น จึงอยากให้คนไทยมาเที่ยวภูเก็ตกันมาก ๆ จะช่วยเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
นายผจญ กิ่งแก้ว เจ้าของร้านอาหารบริเวณวงเวียนกะรน เล่าว่า ทำธุรกิจร้านอาหารกว่า 30 ปี เจอเหตุการณ์สึนามิน้ำได้พัดอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในร้านเสียหายทั้งหมด แต่ช่วงนั้นมีการฟื้นฟูเยียวยารวดเร็ว แต่เมื่อเจอกับเหตุการณ์โควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 นักท่องเที่ยวเริ่มหายไปจนหมด ร้านค้า ธุรกิจต่าง ๆ ปิดหมด
เนื่องจากไม่คุ้มต่อต้นทุนค่าใช้จ่าย ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าพนักงาน ค่าวัตถุดิบ ค่าเช่าที่ ค่าเช่าร้านที่อัตราเช่าสูงมาก ขณะที่รายรับไม่มี พร้อมหนี้สิน ดังนั้น ร้านต่าง ๆ ในพื้นที่กะตะ กะรน จึงไม่เปิดร้าน บางรายแบกรับไม่ไหวก็เลิกกิจการ จากการสอบถามร้านค้าด้วยกันบอกว่า ทุกวันนี้อาศัยเงินออมอย่างประหยัดที่สุด ส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยเข้ามาจำนวนน้อย และใช้จ่ายอย่างประหยัด
“ที่ผ่านมาภูเก็ตมีช่วงหน้าไฮซีซั่น 6 เดือน นักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก ทางร้านทำรายได้ตัวเลข 5 หลักต่อวัน พอเข้าช่วงหน้าโลว์ซีซั่น 6 เดือน นักท่องเที่ยวลดลง จึงเก็บออมเงินไว้ใช้ช่วงหน้าโลว์ซีซั่น แต่พอเจอช่วงโควิด-19 ต้องอดทนและทำใจ
นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเข้ามา ต้องมั่นใจว่าปลอดภัยจากโควิด-19 จึงจะรับเข้ามา ถ้าต่างชาติเอาเงินมาให้ แต่เอาโรคมาให้ด้วยคงไม่เป็นเรื่องดีกับคนในพื้นที่ เพราะโรคนี้ระบาดรวดเร็วมาก ไม่อยากให้ภูเก็ตระบาดรอบ 2 ลำบากแน่นอน”
“บางลา-ป่าตอง” ร่อแร่
ด้านพนักงานร้านนวดแห่งหนึ่งในพื้นที่ป่าตองเล่าว่า ก่อนโควิด-19 พื้นที่ป่าตองเป็นเมืองที่ไม่มีการหยุดพักทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้คนในพื้นที่เพลิดเพลินกับการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาจำนวนมากทั้งการใช้บริการทางบก ทางเรือสำราญลำใหญ่ ๆ ที่มาจอดเทียบท่าทุกสัปดาห์ กลุ่มลูกค้าชาวยุโรปเอเชีย สแกนดิเนเวีย รัสเซีย จีน มีพฤติกรรมการใช้จ่ายสูง เงินสะพัดทุกร้านทุกวัน
เมื่อเจอโควิด-19 นักท่องเที่ยวหายไป กระทบกับทุกร้านค้ารวมทั้งร้านนวด ซึ่งเดิมทางร้านเปิดให้บริการ 3 สาขาในป่าตองตอนนี้ปิดไป 2 ร้าน เหลือเพียง 1 ร้าน และพนักงานนวดเดิมมี 14 คน ตอนนี้เหลือ 4 คน รายได้จากการนวดเคยได้รับ 10 วัน ประมาณ 9,000 บาท ตอนนี้เหลือ 900 บาท ค่าเช่าร้านสูงมาก เดือนละ 30,000 บาท ทางเจ้าของร้านคาดว่าจะประคองได้จนถึงสิ้นปีนี้ หากยังไม่มีรายรับมากพอที่จะอยู่ได้ อาจตัดใจปิดกิจการ
“ตอนนี้ทุกคนทำงานกันไปเศร้าไป เมื่อมองไปทางหน้าร้านจากที่เคยมีนักท่องเที่ยวเดินกันขวักไขว่มาก เพราะเป็นย่านการค้า กลับเงียบลง ได้แต่ปลอบใจพนักงานด้วยกันว่าเดี๋ยวก็ผ่านไปและต้องเตรียมมองหาร้านนวดใหม่ในการทำงาน หากวันข้างหน้าเจ้าของร้านรับไม่ไหว อาจจะมีการปิดร้านลง”
สำหรับธุรกิจร้านนวดสปาในจังหวัดภูเก็ต มีประมาณกว่า 400 แห่ง รวมพนักงานประมาณ 20,000 คน มีร้านอาหารประมาณกว่า 2 พันแห่ง พนักงานมีประมาณหลายหมื่นคน
ส่วนซอยบางลา ป่าตอง สถานบันเทิง ผับบาร์ต่าง ๆ ที่เคยคึกคัก ตอนนี้เหลือเปิดบริการเพียงไม่กี่ร้านเท่านั้น เนื่องจากค่าเช่าที่ราคาสูงมาก
หากมองเข้ามาที่ในตัวเมืองภูเก็ต โรงแรม และร้านค้าบางแห่งเปิดให้บริการส่วนใหญ่รับนักท่องเที่ยวคนไทยที่เข้ามาท่องเที่ยวภายใต้โครงการของภาครัฐ แม้จะเกิดรายได้เข้ามาในพื้นที่ แต่ผู้ประกอบการต่างบอกว่า ไม่เหมือนรับคนต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งต้องรอการเปิดเมืองให้ต่างชาติเข้ามา เมื่อมีความพร้อม แต่ต้องระวังไม่ให้มีการระบาดรอบ 2 เพราะหากกลับมาระบาดอีกรอบคงอีกนานกว่าเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตจะฟื้นกลับคืนมา
ชง “เขตปกครองเศรษฐกิจพิเศษ”
นางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย อดีตสมาชิกวุฒิสภาภูเก็ต และประธานกรรมการโรงแรมเครือกะตะกรุ๊ป กล่าวว่าโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในภูเก็ต ได้รับผลกระทบมากที่สุด พนักงานถูกปลด ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเดือดร้อน ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือที่ชัดเจนจากรัฐบาลที่ผ่านมา ภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ตทำงานกันหนักมากมาตลอด สร้างรายได้ให้ประเทศชาติมายาวนาน แต่สิ่งที่ได้รับเกือบทุกรัฐบาลไม่ค่อยดูแลคนที่ทำงานหนักเลย วิกฤตนี้ทำให้เกิดความน้อยใจคับข้องใจว่าผู้ประกอบการเสียภาษีส่งเงินให้รัฐบาล แต่กลับได้รับการช่วยเหลือเหมือนกับขอทาน
ซึ่งภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ต โดยการท่องเที่ยวที่เติบโตมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คนภูเก็ตผลักดันส่งเสริมการท่องเที่ยว ขอยืนยันว่า ภูเก็ตมีความเป็นนานาชาติ มีความพร้อมที่จะเป็นเขตปกครองเศรษฐกิจพิเศษเป็นสากลระดับโลกหากได้เป็นเขตปกครองพิเศษ เชื่อมั่นในศักยภาพว่าสามารถทำได้
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์