นวนิยาย“รอยบาศ” คว้ารางวัลชนะเลิศ รางวัลชมนาด ครั้งที่ 9
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 29 กันยายน ที่ห้องประชุมชั้น 29 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่สีลม บริษัทสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) จัดงานประกาศผลการตัดสินรางวัลชมนาดครั้งที่ 9 (FICTION-NOVEL) รางวัลส่งเสริมนักเขียนสตรีทั้งมืออาชีพและมือใหม่ สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพที่มีความประณีตมากพอที่จะแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่สู่สายตาผู้อ่านทั่วโลก โดยปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมากถึง 39 เล่ม ผ่านเข้ารอบคัดเลือก 8 เล่ม โดยคณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้ นวนิยายเรื่อง ‘รอยบาศ’ ผลงานของนามปากกา ‘จันทรังสี’ หรือ คุณ วิทิดา ดีทีเชอร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ
โดย รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “รอยบาศ” เป็นนวนิยายที่นำเสนอเรื่องคติความเชื่อที่อิงกฎแห่งกรรมอันเป็นพื้นฐานมาแต่เดิมของสังคมไทย ทุกสรรพสิ่งล้วนผูกพันเกี่ยวโยงกันอยู่ในจักรวาลอย่างมิรู้จบสิ้น เปรียบดัง ‘รอยบาศ’ ซึ่งเป็นบ่วงร้อยรอยกรรมอันเป็นเหตุที่เนื่องจากผลอยู่ตลอดเวลา
“ความโดดเด่นของเรื่องคือการนำเสนอวิถีชีวิตผู้คนและสังคมรอบข้าง ด้วยสำนวนภาษาที่น่าอ่าน เห็นภาพพจน์ โดยใช้ภาษาที่มีการเปรียบเทียบที่มีลักษณะเฉพาะตน ผู้เขียนสามารถเรียงร้อยตัวละครให้โยงถึงกันได้สัมพันธ์กัน ดำเนินเรื่องได้อย่างฉับไว ชวนติดตาม ผู้เขียนสามารถสร้างสรรค์ตัวละครที่มีชีวิตชีวาและหลากหลายมิติ สื่อแนวคิดชัดเจน นวนิยายเรื่องนี้จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลชมนาด ประจำปีพุทธศักราช 2563”รศ.ดร.ตรีศิลป์ กล่าว
สำหรับประวัติของ วิทิดา ดีทีเชอร์ หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มีโอกาสได้ทำงานกับนิตยสาร 3 แห่ง จากกองบรรณาธิการตัวเล็กๆ ในนิตยสาร Thailand Executive Profile ได้เรียนรู้กระบวนการทำหนังสือครบวงจรที่นิตยสาร Silk Magazine และที่สุดนั่งในตำแหน่งบรรณาธิการที่ Telecom User Guide นิตยสารในเครือสำนักพิมพ์ 100 วัตต์ ราวปี 2539 ความที่อายุยังน้อยเธอตัดสินใจเปิดโลกใบใหม่ก้าวสู่โลกกว้าง ลาออกไปศึกษาต่อด้านวรรณกรรมที่ประเทศเยอรมัน และพบรักกับหนุ่มยุโรป แต่งงาน กลายเป็นแม่บ้านเต็มตัว มีลูกสาว 1 คน จนกระทั่งวันหนึ่งความรู้สึกอยากเขียนหนังสือเกิดขึ้นอีกครั้ง จึงเริ่มงานเขียนส่งไปลงเวทีครั้งแรกที่ Dek-D.com และสนุกกับงานเขียนเรื่อยมา กระทั่ง 1 ปีให้หลังได้รับการทาบทามจากคุณประวิทย์ สุวณิชย์ “เป็นหนึ่งสำนักพิมพ์” ให้เขียนนิยายจีนไปตีพิมพ์ จึงทำงานกับสำนักพิมพ์แห่งนี้มาโดยตลอด
ปัจจุบัน เจ้าของนามปากกา ‘จันทรังสี’ ในวัยเลข 5 ตอนต้น มีผลงานเป็นที่รู้จักในแวดวงนักอ่านทั้งออนไลน์และออฟไลน์หลายต่อหลายเรื่อง อาทิ “วันเกิดของเค้าโมง” นิยายเยาวชนภายใต้นามปากกา ‘จันทรังสิ์’ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศแว่นแก้ว ครั้งที่ 14 ปี 2561 และยังได้รับรางวัลชมเชย หมวดหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่นจากสพฐ. เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และหนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังได้รองชนะเลิศอันดับหนึ่งจากเซเว่นบุ๊คอวอร์ดอีกด้วย
สายนวนิยายจีนโบราณจะรู้จักเธอเป็นอย่างดีในนามปากกา ‘เย่วกวงไหน่ไน’ ผลงานเรื่อง “กาลครั้งหนึ่ง กาลครั้งไหน”, “ฝ่าบาท หม่อมฉันเป็นนกฮูก!”, “กระเรียนเหลืองลาลับไม่หวนคืน”, “สาวจอมคลั่ง ป่วนวังข้ามมิติ”, “คุณหนูใหญ่ตระกูลจางแต่งงาน (แล้ว)” ฯลฯ
กับผลงานเรื่อง “รอยบาศ” เธอบอกถึงความตั้งใจว่า เป็นการเล่าชีวิตผู้หญิงหลายๆ คนผ่านสายตา “นิรมล” และ “โบตั๋น”
“ดิฉันอยากเขียนถึงผู้หญิงในสังคมไทย ตั้งแต่คนรวย คนจน การศึกษาต่ำ การศึกษาสูง มีอาชีพการงานดี จนถึงคนที่ไม่มีทางออก คนเดินทางผิด รวมไปถึงคนที่มีโอกาสดีแต่เลือกทำสิ่งที่ไม่ดี ผสมผสานไปกับแนวคิดของคนไทยเราที่ทุกสิ่งทุกอย่างไปเกี่ยวพันกับทางพุทธ โดยไม่ได้มีเป้าหมายจะสอนเรื่องพุทธ เรื่องกรรม แต่อย่างใด แต่ถ้าเล่าเรื่องชีวิตผู้หญิงมาโดดๆ มันก็จะไม่ตื่นเต้น ดิฉันจึงวางพล็อตให้ตัวเอกมาเกิดใหม่ในอดีต ทำให้เป็นปริศนาว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น”วิทิดา กล่าว พร้อมกับเปิดใจว่า
รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจกับรางวัลชมนาดมาก นอกจากเป็นรางวัลที่มอบให้เฉพาะกับนักเขียนหญิง เมื่อย้อนกลับไปดูผู้รับรางวัลในปีก่อนๆ พบว่า มีความหลากหลาย ตั้งแต่บุคคลในอาชีพที่สังคมไทยมองว่ามีเกียรติ เช่น แพทย์ พยาบาล ไปจนถึงบุคคลในอาชีพขายบริการ รวมไปถึงนักเขียนที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่เจ็ด ดิฉันทึ่งมาก เคารพมาก แต่ละคนเขียนประสบการณ์ของตัวเอง มีทั้งเรื่องดี เรื่องไม่ดี เรื่องที่เป็นอุทาหรณ์ สะท้อนให้เห็นสังคมไทยในหลากหลายด้าน ดีใจที่ได้เป็นหนึ่งในคนที่เข้ามาอยู่ใน “ทำเนียบ” แห่งนี้
สำหรับนวนิยายที่ได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง ไผ่ลายหยก นามปากกา ‘วิญวิญญ์’ โดย คุณ ณัฏฐ์ธีรตา วิทิตวิญญูชน และรองชนะเลิศอันดับ 2 ที่ตกเป็นของเรื่อง ผาชัน เสือแค้น และคืนหนึ่ง ผลงานของ นามปากกา ‘ดวงตา’ โดย คุณ ดวงตา ศรีวุฒิวงศ์
โดย นวนิยายเรื่อง“ไผ่ลายหยก” เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมของบาบ๋าย่าหยา เน้นเหตุการณ์ในช่วงปี 2498 เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ในห้วงเวลาหนึ่ง ทำให้เห็นฉากการดำเนินชีวิตของคนในช่วงนั้น วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมของคนทางภาคใต้ ให้คติสอนชีวิตได้ดี ตัวละครมีมิติ สมจริง แม้จะเป็นการเล่าชีวิตของท้องถิ่นแต่ผูกโยงเรื่องราวมาถึงปัจจุบันด้วย
ณัฏฐ์ธีรตา วิทิตวิญญูชน เจ้าของนามปากกา ‘วิญวิญญ์’ ปัจจุบันเป็น รองคณบดี สถาบันการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ในวัย 43 ปี กล่าวว่า เป็นคนภูเก็ตได้เห็นได้ฟังเรื่องเล่าจากแม่มาตั้งแต่เด็ก จึงตั้งใจอยากถ่ายทอดวัฒนธรรมบาบ๋าย่าหยาให้คนอื่นๆ ได้อ่าน
“ความที่เป็นคนใต้ เห็นว่ายังมีวัฒนธรรมหลายๆ แง่มุมที่แม้แต่เราก็ยังต้องเรียนรู้อยู่ จึงอยากถ่ายทอดให้คนเรียนรู้มากขึ้น” ณัฏฐ์ธีรตา บอก
“ไผ่ลายหยก” แม้จะเป็นเรื่องที่ 2 ที่ได้ลงมือเขียน ต่อจากเรื่องแรกที่เล่าเรื่องวัฒนธรรมภาคใต้เกี่ยวกับโนราห์ชาตรี แต่เป็นเรื่องแรกที่ได้ลองส่งผลงานเข้าประกวด การที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 รางวัลชมนาดนับเป็นเกียรติยศของชีวิต ให้ความมั่นใจอย่างมากที่จะใช้เวลาว่างในสายงานเขียนต่อไป
ทางด้าน ดวงตา ศรีวุฒิวงศ์ เจ้าของนามปากกา ‘ดวงตา’ ในวัย 63 ปี กับผลงาน “ผาชัน เสือแค้น และคืนหนึ่ง” บอกว่า รางวัลชมนาดเป็นเวทีแรกที่เธอส่งผลงานที่กลั่นออกมาจากห้วงความคิดคำนึงและถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของนวนิยายขนาด 700 หน้า จากประสบการณ์เมื่อครั้งที่ปี 2525-2545 ได้ลงพื้นที่ภาคสนามทำงานวิจัยเก็บข้อมูลเกี่ยวการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูงของชนกลุ่มน้อยที่จังหวัดเชียงใหม่ ระยะเวลาที่ยาวนานถึง 15-16 ปี ที่ได้เห็นถึงปมปัญหาความยากลำบากในการใช้ชีวิต ความเหลื่อมล้ำที่ได้รับของคนชายขอบ ฯลฯ อยากสะท้อนปัญหาเหล่านี้ออกมาให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง
“เหล่านี้เป็นประเด็นหนึ่งของสังคมที่ปัจจุบันยังพบเจออยู่ว่า ชนกลุ่มน้อยต้องผูกชีวิตตนเองกับวิถีสมัยใหม่ ปลูกพืช ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ต้องหาเงินเพื่อใช้จ่ายในทุกอย่าง ขณะที่ตนเองเป็นคนชายขอบ แต่มุมนี้เป็นมุมที่หนัก จึงนำเสนอผ่านนวนิยาย เนื้อหาแฝงอยู่ในบทสนทนาของตัวละครแต่ละตัว” ที่มีทั้งหมด 11 ตัวละครผลัดกันออกมาเล่าเรื่องของตนเอง และขมวดปมเข้าหากันในตอนท้ายเรื่อง
โดยมี คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการที่เป็นผู้บริหารและผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เป็นผู้มอบเงินรางวัล และคุณปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มอบช่อดอกไม้ ทั้งนี้ ผู้ชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท และค่าลิขสิทธิ์ในการ จัดพิมพ์เป็นเล่มทั้งภาษาไทยและอังกฤษตามมาตรฐานค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ของแต่ละประเภท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเกียรติบัตร พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
ด้าน ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการบริหารและผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การประกวดรางวัลชมนาด ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) จัดร่วมกับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เป็นปีที่ 9 โดยปีนี้น่ายินดีที่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) เข้ามามีส่วนร่วม โดยมี คุณปรียนาถ เป็นผู้บริหารหญิงชั้นนำและแนวหน้า ช่วยมาตอกย้ำรางวัลของสตรีในครั้งนี้
“รางวัลชมนาด ส่งเสริมบทบาทการเขียนของสตรี ปัจจุบันเราเห็นสตรีเป็นนักบริหาร ในวงการต่างๆ เป็นทิศทางที่น่าชื่นชมยินดี โดยปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนมาก ผมคิดเองว่าวิกฤตโควิด ทำให้คนมีเวลาอยู่กับตัวเอง จึงส่งผลงานเข้าประกวดและน่าจะมีคุณภาพ อย่างไรก็ดีขอให้กำลังใจคนที่ไม่ได้เข้ารอบ และขอให้พัฒนาเพื่อให้ได้เป็นนักเขียนแนวหน้าต่อไป”ดร.ทวีลาภ กล่าว
ด้าน คุณปรียนาถ สุนทรวาทะ กล่าวว่า บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) มีกิจกรรมเพื่อสังคมมายาวนาน ไม่ใช่แค่จะทำรายได้อย่างเดียว แต่เราทำกิจกรรมเพื่อสังคม อาทิ เรื่องเสือ ช่วยชุมชน ช่วยเหลือคนพิการ การศึกษา เรื่องการส่งเสริมวัฒนธรรม ส่งเสริมวรรณกรรม ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เราทำอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะรางวัลชมนาดที่ให้รางวัลนักเขียนหญิง เห็นว่าสำคัญเราต้องส่งเสริมการอ่านให้มากขึ้น เป็นการเสริมสร้างจินตนาการ และเป็นการเสริมสร้างความคิดริเริ่มต่างๆ โดยทางบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)และสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น มีความคิดเห็นตรงกันที่อยากทำเพื่อสังคม อยากให้มีผู้หญิงเยอะๆที่มีบทบาทในทุกทาง ไม่ใช่ในเรื่องธุรกิจอย่างเดียว
ด้าน ดร.พิสุทธิ์ เลิศวิไล กรรมการบริหาร บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด กล่าวถึงโครงการประกวดรางวัลชมนาดครั้งต่อไป ซึ่งเป็นครั้งที่ 10 ว่า สามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563-31 มีนาคม 2564 โดยผลงานต้องมีความยาวไม่ต่ำกว่า 120 หน้ากระดาษ A4 ขนาดอักษร 16 Point ส่งต้นฉบับมาที่บริษัทสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด เลขที่ 222 ถนนพุทธมณฑล สาย 2 (บุษราคัม เทอเรส สาย 2) แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กทม. 10170
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประกาศผลรางวัลชมนาดครั้งที่ 9 มีการเผยแพร่ช่องทางโปรแกรม Zoom ด้วย