เชื่อได้เลยว่าพนักงานออฟฟิศหรือคนทำงานที่ใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งอยู่กับที่จะต้องเคยมีอาการ “หนังท้องตึง หนังตาก็หย่อน” อย่างแน่นอน จะมีอาการมากหรือน้อย เป็นบ่อยหรือนานๆ เป็นที ก็ขึ้นอยู่กับคน แต่ที่แน่ๆ อาการนี้เป็นอาการไม่พึงประสงค์ของคนทำงาน
“Food Coma” คืออะไร
Food Coma หรือ Postprandial somnolence เป็นอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอนแบบที่อยากจะหลับเสียให้ได้ อาการนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากที่เรากินอาหารมื้อกลางวันอิ่ม ความจริงแล้ว อาการนี้ไม่ได้มีอันตรายอะไรต่อสุขภาพร่างกาย เพียงแต่สร้างความรำคาญ ทำให้ไม่มีสมาธิ และลดประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยเหตุนี้ อาการนี้จึงอันตรายต่อหน้าที่การงานมากกว่า หากคุณเกิดไปสัปหงกขณะนั่งทำงาน หรือหมดเรี่ยวแรงหนังตาจะปิดตอนที่เข้าประชุม
ชื่อเรียกของอาการ Food Coma อาจจะฟังดูแปลก แต่นี่เป็นชื่อที่ทางการแพทย์ใช้เรียกจริง ๆ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แพทย์ใช้ชื่อนี้ เพราะมันเกิดจากการที่เรากินมื้อกลางวันมื้อใหญ่จนอิ่ม โดยเฉพาะอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน หลังจากที่อาหารเหล่านี้ผ่านกระบวนการย่อยอาหารแล้ว จะได้กรดอะมิโนตัวหนึ่งที่เรียกว่า ทริปโตเฟน (Tryptophan) เมื่อเข้าสู่ระบบประสาท จะมีผลให้สมองผ่อนคลายความตึงเครียด เมื่อร่างกายอยู่ในช่วงผ่อนคลาย จึงเกิดอาการง่วงนอน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการ Food Coma
อันที่จริง ปัจจัยที่เอื้อให้เกิดอาการ Food Coma นั้นไม่ได้มีแค่การกินอาหารมื้อกลางวันอิ่มเพียงเท่านั้น แต่มีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย โดยสามารถสรุปสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ Food Coma ได้ดังนี้
- กินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันมากเกินไปช่วงมื้อกลางวัน อาหารประเภทเหล่านี้จะใช้เวลาในการย่อยค่อนข้างนาน ได้กรดอะมิโนทริปโตเฟน ที่ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย จนง่วงนอน
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ภาวะสมองอ่อนเพลียจากการโหมงานหนักเกินขีดจำกัดของร่างกาย
- ร่างกายนำเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง เพราะต้องนำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะในระบบย่อยอาหารในขณะย่อยอาหาร เพราะอาหารที่ย่อยยาก จะใช้เวลาย่อยนาน เลือดจึงถูกดึงไปใช้บริเวณนั้น
- ออกซิเจนในเลือดไม่เพียงพอ หรือมีคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดมากเกินไป เกิดการง่วงหงาวหาวนอน ซึ่งเป็นกลไกที่ร่างกายพยายามเอาออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดให้มากขึ้น
- สมองเปลี่ยนกรดอะมิโนทริปโตเฟน ให้เป็นสารเซโรโทนิน (Serotonin) และเมลาโทนิน (Melatonin) สาร 2 ตัวนี้กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกง่วงนอน
ง่วงแค่ไหน แต่เรา (ต้อง) แก้ได้
เพราะอาการง่วงนอนช่วงระหว่างทำงานทำให้เราไม่มีสมาธิ ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทั้งยังทำให้กลายเป็นที่เพ่งเล็งของเจ้านายด้วย เราจึงต้องหาวิธีกำจัดอาการง่วงนี้ทิ้งซะ (เพราะนี่เป็นเวลาทำงาน ไม่ใช่เวลานอน) โดยให้ปฏิบัติดังนี้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยที่สุดคือ 5 ชั่วโมงขึ้นไป ถ้าร่างกายพักผ่อนเต็มที่ นอนเพียงพอ โอกาสที่จะง่วงระหว่างวันก็จะน้อยลง
- หลังอาหารมื้อกลางวัน ควรขยับเขยื้อนร่างกายบ้าง อย่างการเดินออกไปกินข้าวนอกออฟฟิศ (เดินไป-เดินกลับ) จะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายได้ดีขึ้น
- ปรับนิสัยการกินอาหาร โดยเฉพาะมื้อกลางวัน พยายามอย่ากินอิ่มจนเกินไป ลดอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ง่ายและดีขึ้น ร่างกายจะผลิตสารแห่งการนอนหลับน้อยลง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองเต็มที่ ส่งผลให้สมองและร่างกายสดชื่น รวมถึงทำให้อยากเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น เมื่อได้ลุกเปลี่ยนอิริยาบถบ้างก็ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว
- เคลียร์งานสำคัญหรืองานที่ต้องใช้สมองมากๆ ในช่วงเช้า เพราะสมองกำลังตื่นตัว การเก็บงานที่ต้องใช้สมองหนักๆ ไปทำในช่วงบ่าย จะทำให้รู้สึกเหนื่อย เพลีย เบื่อหน่าย ขี้เกียจ จากนั้นก็จะง่วงนอน
- จัดสรรเวลาพักกลางวัน หากรู้ว่าตนเองฝืนไม่ไหว ให้หาโอกาสงีบหลับในช่วงพัก แค่ประมาณ 15-20 นาที ก็จะช่วยให้กระปรี้กระเปร่าขึ้น
ที่มา : Sanook.com