ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมานได้เก็บเศียรพระพุทธรูป ที่มีความสูงราว 173 เซนติเมตร ตามประวัติในทะเบียนโบราณวัตถุระบุว่าพบในพระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ แต่ในราชกิจจานุเบกษาระบุว่าพบที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งถ้าเศียรใหญ่นี้มีความสมบูรณ์จะเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดความสูงมาก ซึ่งอาคารที่สามารถรองรับพระพุทธรูปสูงขนาดนี้ได้มีเพียงหลังเดียวในวัดพระศรีสรรเพชญ์คือ พระวิหารพระศรีสรรเพชญ์ ประกอบกับอายุของเศียรพระองค์นี้อยู่ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 จึงทำให้ผู้เขียนสันนิษฐานว่าเศียรใหญ่นี้คือเศียรของพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งจากการขุดแต่งทางโบราณคดี ไม่ปรากฏชั้นดินไฟไหม้ก่อนที่พระอารามจะทิ้งร้าง ดังนั้น พระอารามแห่งนี้จึงไม่เกิดไฟไหม้ใหญ่หลังจากกองทัพกรุงอังวะเข้ากรุงศรีอยุธยาและเศียรพระพุทธรูปนี้จึงยังคงอยู่ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์จนถูกค้นพบในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2563 พิชญา สุ่มจินดา ได้นำเสนอว่า เศียรนี้ไม่ใช่พระเศียรของพระศรีสรรเพชญ์ แต่เป็นเศียรของพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทในวิหารพระป่าเลไลยก์วัดพระศรีสรรเพชญ์ จนกระทั่งเดือนกันยายน ปีเดียวกัน พิชญาได้พยายามพิสูจน์ว่าเศียรใหญ่ไม่ได้พบในพระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์
แต่ประเด็นที่สำคัญคือ เศียรพระใหญ่นี้คือเศียรของพระพุทธรูปองค์ใด และการกำหนดอายุ ยังคงกำหนดอายุของเศียรองค์นี้หล่อขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจริงหรือไม่
ข้อเสนอทั้งหมดถือว่าเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการ หากแต่ผู้เขียนกลับมีข้อความเห็นแตกต่างในบางประเด็นที่พิชญา สุ่มจินดา ได้นำเสนอใหม่ กล่าวคือ การคำนวณสัดส่วนพระศรีสรรเพชญ์ของพิชญา ได้อาศัย “ตำราสร้างพระพุทธรูป” เป็นหลัก แต่ประเด็นสำคัญคือ ควรมีการประเมินค่าหลักฐานชิ้นนี้ว่าเหมาะสมที่จะใช้เป็นสูตรในการคำนวณเศียรพระใหญ่ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมานหรือไม่ เพราะตำราดังกล่าวเป็นตำราครั้งรัชกาลที่ 4 โดยเป็นสมบัติเดิมของหม่อมเจ้าปิยะภักดีนารถ สุประดิษฐ์ ไม่ปรากฏปีที่ประพันธ์และปีคัดลอก ต่อมาได้ถูกรวมพิมพ์ในหนังสือ “ประชุมหนังสือเก่าภาคที่ 2” เมื่อ พ.ศ.2459
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีพระวินิจฉัยตามที่หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถว่า ตำราเรื่องนี้แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยออกชื่อช่างในรัชกาลที่ 3 หลายคน
หากแต่ในความเห็นของผู้เขียนคิดว่า เอกสารชิ้นนี้น่าจะมีอายุลงมาถึงช่วงต้นรัชกาลที่ 4 เพราะครูที่มีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 จะปรากฏในบทนมัสการได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่เพราะได้วายชนม์ไปแล้ว ซึ่งรับกับในตอนท้ายของบทนมัสการของตำราเล่มนี้ที่ว่า “เชิญปวงท่านอันลับไป ยังปรโลไก มารับกระยาสังเวย”
ด้วยเหตุนี้เราจะมั่นใจได้เพียงใดว่า เนื้อหาใน ตำราสร้างพระพุทธรูป จะสามารถนำมาใช้คำนวณสัดส่วนพระพุทธรูปอยุธยาได้ นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ พระพุทธรูปประทับยืนสมัยอยุธยาจะประทับยืนบนฐานบัวเตี้ยๆ เช่น พระพุทธรูปประทับยืนในวิหารวัดราชโอรสาราม และพระพุทธรูปประทับยืนท้ายวิหารหลวงวัดพระบรมธาตุชัยนาท เป็นต้น ส่วนพระพุทธรูปประทับยืนที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น พระประธานวัดเครือวัลย์ พระประธานในพระอุโบสถวัดพระแก้ววังหน้า เป็นต้น ต่างประทับยืนอยู่บนฐานชุกชีที่สูง
ดังนั้น การที่พระพุทธรูปประทับยืนบนฐานสูงกับฐานเตี้ยมีผลต่อสัดส่วนของพระพุทธรูป กล่าวคือ ถ้าพระพุทธรูปยืนบนฐานชุกชีสูงเมื่อมาประดิษฐานฐานชุกชีเตี้ยสัดส่วนจะผิดทันที เพราะถูกออกแบบให้ผู้ดูต้องแหงนหน้าขึ้นมาก
ประเด็นถัดมา ในตำราสร้างพระพุทธรูป กล่าวว่า “แล้วให้เอาดวงพระภักตร์ไขสน่อยเปนพระรัศมี” จากข้อความที่ยกมาหมายความสัดส่วนของเปลวรัศมีมีความยาว แต่ถ้าเรากลับพิจารณาพระพุทธรูปสมัยอยุธยาจะพบเปลวรัศมีสั้นไม่ยาวเท่ากับวงพระพักตร์ แต่ถ้าเทียบกับพระพุทธรูปปูนปั้นในระเบียงวัดสุทัศนเทพวราราม เปลวรัศมีจะยาวเทียบเท่ากับวงพระพักตร์พระพุทธรูป
ด้วยเหตุนี้การนำสัดส่วนในตำราสร้างพระพุทธรูป ซึ่งเป็นเอกสารสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 มาศึกษาสัดส่วนพระพุทธรูปยืนในสมัยอยุธยาจึงเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังต้องตั้งคำถามว่า ตำราสร้างพระพุทธรูปคือสัดส่วนของพระหล่อโลหะหรือพระปูนปั้น เพราะหลังสงครามคราว พ.ศ.2112 ลงมา เราไม่พบหลักฐานว่ามีการหล่อพระพุทธรูปประทับยืนสูงเกิน 8 เมตร และที่สำคัญพระพุทธรูปในสมัยรัตนโกสินทร์ส่วนมากก็เป็นพระปูนปั้นทั้งสิ้น จึงชวนให้ผู้เขียนคิดว่าตำราสร้างพระพุทธรูปที่พิชญายกมานั้นเป็นตำราสร้างหุ่นพระหล่อโลหะหรือหุ่นพระปูนปั้น ไม่เพียงเท่านั้น
การหล่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่มีรายละเอียดความแตกต่างกับการหล่อพระพุทธรูปองค์เล็ก เพราะสัดส่วนพระพุทธรูปยิ่งสูง เศียรพระพุทธรูปจะต้องใหญ่ขึ้น ซึ่งในประเด็นการกินอากาศ (Perspective) เอกสารชิ้นนี้มีการกล่าวถึงหรือไม่ ด้วยเหตุนี้จึงควรทบทวนว่า เราจะมายึดถือตำราสร้างพระพุทธรูปเป็นมาตรฐานของการหล่อโลหะในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้จริงหรือ
อีกหนึ่งคำถามคือ สัดส่วนพระพุทธรูปยืนในตำราสร้างพระพุทธรูป มีมาตรฐานเพียงใด จากการที่พิชญากล่าวว่า “การสร้างพระพุทธรูปยืนที่มีส่วนตั้งแต่ 6-10 ส่วนด้วยเช่นกัน ดังตัวอย่างจากพระร่วงโรจนฤทธิ์ที่มีความสูงตลอดทั้งองค์ถึง 9 ส่วน แต่โดยทั่วไปแล้วนิยมสร้างพระพุทธรูปยืนอยู่ที่ 8 ส่วน” ซึ่งเมื่อพระร่วงโรจนฤทธิ์มีความสูงตลอดองค์ 9 ส่วน แล้วเหตุใดพิชญา จึงไม่คิดว่าเศียรใหญ่ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมานจะมีความสูงตลอดองค์ 9 ส่วนบ้าง
การที่จะบอกว่าสัดส่วนนิยมพระพุทธรูปยืนอยู่ที่ 8 ส่วน ในขณะที่ตำราสร้างพระพุทธรูปกลับปรากฏต้นฉบับเพียงเล่มเดียวและเป็นสมบัติเดิมของช่างกลุ่มใดก็ไม่ทราบ
ดังนั้น การที่จะยืนยันว่าสัดส่วนพระพุทธรูปในตำราสร้างพระพุทธรูปเป็นที่นิยม ก็ควรที่จะต้องมีการวัดสัดส่วนของพระยืนองค์อื่นเพื่อใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบ นอกจากพระอัฎฐารสวัดสระเกศ
ผู้เขียนยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีการคำนวณของพิชญา ซึ่งเชื่อว่าพระศรีสรรเพชญ์ สูง 16 เมตร เพราะคำนวณจากมาตราวัด 1 วา เท่ากับ 2 เมตร ซึ่งเป็นมาตรวัดในสมัยปัจจุบัน โดยอ้างว่าความสูงพระโลกนาถอยู่ที่ 20 ศอก ซึ่งวัดด้วยวิธี Photogrammetry ที่ 10 เมตร อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานต่างๆ พบว่ามาตราส่วนหนึ่งวาโบราณ ไม่ได้เท่ากับสองเมตร เช่น บันทึกของ ซีมอง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubere) ราชทูตที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้ระบุว่า หน่วย “วา” สั้นกว่า “ตัวร์”
(toise = 1.949 เมตร) ของเราประมาณ 1 ปูช (pouce-นิ้วฟุต) ดังนั้น ถ้าเชื่อตามบันทึกที่ว่า 1 วา สั้นกว่า 1.949 เมตร คำนวณแล้วพระศรีสรรเพชญ์สูงไม่ถึง 15.2 เมตร
ดังนั้น เมื่อพิชญาจะคิดว่าพระศรีสรรเพชญ์ สูง 8 วา คือ 16 เมตร ก็ควรหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าครั้งกรุงศรีอยุธยา 1 วา เท่ากับ 2 เมตร มากกว่านี้
ผู้เขียนได้พบหลักฐานว่า การกำหนด 1 วาเท่ากับ 2 เมตร ให้เป็นมาตรฐานปรากฏครั้งแรกในมาตราที่ 9 ในพระราชบัญญัติมาตรา ชั่ง ตวง วัด พระพุทธศักราช 2466 ดังนั้น เราจะใช้มาตราส่วนสมัยปลายรัชกาลที่ 6 ไปแปลงค่าหน่วย “วา” ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 จึงไม่เหมาะสม
ด้วยเหตุนี้การที่ พิชญา สุ่มจินดา (2563ข : 83) กล่าวว่า พระศรีสรรเพชญ์สูง 16 เมตร พระเศียรที่คำนวณไว้ว่าต้องสูง 2 เมตร จึงคลาดเคลื่อนตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ข้อเสนอเป็นวิทยาศาสตร์ พิชญาได้ทำภาพสแกนด้วยเทคนิค Photogrammetry พบว่าสัดส่วนของพระโลกนาถ พระพักตร์มีความสูงทั้งองค์เท่ากับ 8 ส่วนตรงตามตำราสร้างพระพุทธรูป ซึ่งผู้เขียนมีข้อสงสัยว่า เมื่อมาตราส่วนโบราณไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า 1 วา เท่ากับ 2 เมตร แต่เหตุใดสัดส่วนที่พิชญาทำขึ้นนั้นมีขนาด 10 เมตร พอดี
กล่าวโดยสรุป คือ การคำนวณสัดส่วนของพิชญา ที่นำมาจากตำราสร้างพระพุทธรูป ซึ่งเป็นเอกสารสมัยรัชกาลที่ 4 มาคำนวณสัดส่วนของเศียรพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าไปกว่าสงครามปี พ.ศ.2112 จะมีความแม่นยำได้อย่างไร ทั้งนี้ เพราะสัดส่วนของพระพุทธรูปยืนสมัยอยุธยาและสัดส่วนพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีความแตกต่างชัดเจน ประกอบกับ พิชญายึดติดกับมาตราส่วน 1 วา เท่า 2 เมตร หากแต่ในอดีต 1 วา ไม่เท่ากับ 2 เมตร ดังนั้น จึงทำให้พิชญา สุ่มจินดา คำนวณขนาดคลาดเคลื่อน ถ้าพระศรีสรรเพชญ์มีขนาด 16 เมตร รวมฐานชุกชีแล้วจะมีความสูงทั้งหมด 18.5 เมตร จะทำเสาร่วมในจะต้องมีความสูงกว่า 17.5 เมตร จึงจะไม่บังพระเนตรพระ แต่เสาสูงขนาดนี้ถือว่าผิดสัดส่วนทางสถาปัตยกรรมมาก ซึ่งในทางกลับกันผู้เขียนคำนวณความสูงของเสาร่วมในว่าไม่ควรเกิน 15.5 เมตร
อนึ่ง จากการเทียบสัดส่วนพระโลกนาถจากสัดส่วนวงพระพักตร์ (จากไรพระศกถึงพระหนุ) ต่อองค์พระทั้งหมดคือในสัดส่วน 1:10 ถ้าเศียรใหญ่ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมานสูง 0.98 เมตร คิดตามสัดส่วนข้างต้นองค์พระพุทธรูปจะสูง 9.8 เมตร รวมฐานชุกชี 2.5 เมตร จะมีความสูงราว 12.3 เมตรโดยประมาณ ซึ่งสูงใกล้ระดับขื่อเอกที่ผู้เขียนประมาณไว้ว่าไม่เกิน 15.5 เมตร
จากข้อเสนอดังกล่าวทั้งหมด ผู้เขียนจึงขอสรุปว่า เศียรพระใหญ่ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมานเป็นพระพุทธรูปยืนที่สามารถประดิษฐานเป็นพระประธานพระวิหารวัดพระศรีสรรเพชญ์ได้
สำหรับคำถามที่ว่าพระศรีสรรเพชญ์ควรมีขนาดความสูงเท่าใดนั้น ผู้เขียนมองว่า พระพุทธรูปสูงเท่าไหร่ไม่สำคัญ สำคัญที่ความสูงนั้นประดิษฐานที่พระวิหารหลวงได้หรือไม่
แม้ว่าเศียรใหญ่นี้เมื่อเป็นพระพุทธรูปที่สมบูรณ์จะเพียง 9.2 เมตร ต่ำกว่าผู้เขียนประมาณการไว้แต่แรกราว 3 เมตร หรือตามที่พิชญาเสนอว่าพระศรีสรรเพชญ์สูง 16 เมตรก็ตาม ประเด็นสำคัญคือ พระพุทธรูปมีความสูงเท่าใดจึงจะสามารถประดิษฐานในพระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ โดยไม่กระทบโครงสร้างสถาปัตยกรรม ซึ่งเมื่อพิชญาเชื่อว่าพระพุทธรูปสูง 8 วา จะเท่ากับ 16 เมตร รวมฐานชุกชี 2.5 เมตร ดังนั้น ตำแหน่งที่ประดิษฐานพระศรีสรรเพชญ์จะสูง 18.5 เมตร ถ้าคิดสัดส่วนตามที่พิชญาเสนอว่าความสูงของขื่อเอกระดับนั้นน่าจะสูงราว 15 เมตร ขององค์พระพุทธรูป บวกกับความสูงของฐานชุกชี ดังนั้น เสาร่วมในจะสูง 17.5 เมตร แต่ผนังพระวิหารในปัจจุบันสูงเพียง 9.56 เมตร ซึ่งสภาพที่สมบูรณ์อาจจะสูงราว 10.2 เมตร แต่สภาพจริงความกว้างจากผนังพระวิหารด้านในถึงจุดศูนย์กลางเสาร่วมในเท่ากับ 4.7 เมตร จึงไม่น่าที่จะซ้อนตับหลังคามากชั้นจนทำให้เสาสูงราวๆ 17.5 เมตรได้ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าเป็นการผิดสัดส่วนอย่างมาก
จากการที่ เสนอ นิลเดช ศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมไทยคนสำคัญ ได้ทำการสำรวจรังวัดในปี พ.ศ.2531 พบว่าเสาร่วมใน ตำแหน่งเข้าประตูทางเข้าด้านของพระวิหารหลวง ระดับรูเต้าล่าง (รูที่สำรับใส่ขื่อ) สูงจากพื้น 9.07 เมตร ซึ่งรูเต้าล่างเป็นรูที่สำหรับใส่ขื่อที่จะต้องพาดกับผนังพระวิหาร ดังนั้น ผนังที่ใกล้ประตูทางเข้าจะสูง 9.07 เมตร ส่วนโคนเสาถึงรูเต้าบนสูง 11.55 เมตร แต่ไม่ได้ระบุข้อมูลรูเต้าบนถึงยอดของบัวหัวเสาว่ามีความสูงขึ้นไปอีกเท่าใด
ส่วนข้อเสนอของพิชญาที่ได้กำหนดอายุเศียรพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมานว่าไม่ได้สร้างร่วมสมัยกับเหตุการณ์การหล่อพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ แต่เป็นพระพุทธรูปสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง คำถามคือ เหตุใดจึงไม่เปรียบเทียบรูปแบบของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ที่สำคัญพระพุทธรูปที่บรรจุในองค์พระมงคลบพิตรก็แสดงลักษณะที่เก่ากว่า
ในขณะเดียวกันพระพักตร์ของเศียรใหญ่ที่พระนั่งศิวโมกขพิมานมีรูปแบบที่คล้ายกับพระพุทธรูปประทับนั่งเหนือแข้งสิงห์ที่สามารถกำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ 21 ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรที่จะกำหนดอายุเศียรพระใหญ่อยู่ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง รวมถึงพระพักตร์ของเศียรใหญ่มี
ความคล้ายกับพระพักตร์พระพุทธรูปที่ฐานมีรูปมารผจญ ลักษณะมารเหมือนกับมารแบกที่วัดราชบูรณะ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จึงกำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นช่วงที่มีการหล่อพระศรีสรรเพชญ์ตามความในพระราชพงศาวดาร
กล่าวสรุปทั้งหมดคือ พระพุทธรูปองค์นี้เมื่อคำนวณสัดส่วนจะสูงราว 9.2 เมตร ประดิษฐานอยู่ฐานชุกชีสูง 2.5 เมตร รวมความสูงได้ 11.7 เมตร ซึ่งสามารถประดิษฐานในพระวิหารหลวงที่มีความสูงจากพื้นถึงยอดเสาร่วมใน 14.97 เมตร ต่ำกว่าขื่อเอกเพียง 3.27 เมตร และมีรูปแบบศิลปะร่วมสมัยกับการหล่อพระศรีสรรเพชญ์
จากเหตุผลทั้งหมดผู้เขียนจึงยืนยันตามข้อเสนอเมื่อ พ.ศ.2560 ว่า “เศียรพระใหญ่องค์นี้ คือเศียรพระศรีสรรเพชญ์” สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอขอบคุณ พิชญา สุ่มจินดา อีกครั้งที่ได้ออกแสดงข้อโต้แย้งทางวิชาการ จนทำให้ผู้เขียนได้ออกมายืนยันข้อสันนิษฐานเดิม
ที่มา | หน้าประชาชื่น, มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง |