วิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงซึ่งให้ความสำคัญกับผลกำไรโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาใช้สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อให้มนุษย์และโลกเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2563 จัดขึ้นวันที่ 13-23 พฤศจิกายน 2563 ที่อาคาร Challenger 2 Impact เมืองทองธานี ได้จัดนิทรรศการอนาคตออกแบบได้ เรียนรู้และสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม โดยแสดงถึงวิกฤติของโลกด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด มลพิษทางอากาศ ภาวะขาดแคลนน้ำ ขยะ การสูญพันธ์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้นเพราะพฤติกรรมของมนุษย์ หากเรายังดำรงชีวิตตามวิถีเดิม เราอาจต้องเผชิญการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่เกิดจากตัวเราเอง แต่ยังไม่สายเกินไปถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตอนนี้ มาเรียนรู้เพื่อหาคำตอบ เปลี่ยนแปลงเพื่อหาทางรอด และสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เริ่มได้ที่ตัวเรา
โดยด่านแรกก็จะพาทุกคนไปดูถึงเรื่อง World Crisis วิกฤติจากพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งหากเราลองสังเกตการทำงานของระบบสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ จะพบว่าธรรมชาติทำงานโดยไม่เคยทิ้ง ‘ขยะ’ หรือของเสียสู่โลก ห่วงโซ่อาหารที่เราเคยเรียนตอนเด็ก ๆ แสดงเป็นวงจรให้เห็นว่า สิ่งมีชีวิตหนึ่งมีประโยชน์ต่ออีกสิ่งเสมอ เช่น กวางกินพืช เสือกินกวางต่อ และเมื่อเสือตายลง ก็มีหนอน จุลินทรีย์และผู้ย่อยสลายอื่น ๆ ทำหน้าที่ย่อยเสือ ซากพืชและสัตว์ต่าง ๆ กลายเป็นสารอาหารของพืช ใช้ประโยชน์ได้ต่อเป็นวงจรหมุนเวียนไป
ดังนั้นทุกอย่างในธรรมชาติจึงนำไปใช้งานอย่างต่อเนื่องและหมุนเวียนในวงจรนี้ได้หมด ไม่มีส่วนใดต้องถูกทิ้งกลายเป็นขยะเมื่อเวลาผ่านไป แต่ถ้าหากมองกลับมาที่โลกของธุรกิจ นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ 150 ปีก่อน เศรษฐกิจของโลกเติบโตเท่าทวีคูณ การบริโภคเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เราทำงานบนระบบที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจเส้นตรง’ (Linear Economy) คือ การถลุง ผลิตและทิ้ง เมื่อถึงปลายทางของผลิตภัณฑ์ การ ‘ทิ้ง’ ก่อให้เกิดปัญหาขยะ หนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก
ในแต่ละปีวัสดุที่ย่อยสลายได้ยากอย่างพลาสติกจำนวน 311 ล้านตันถูกผลิตขึ้นมา แต่มีเพียง 5% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล การใช้พลาสติกโดยเสร็จแล้วทิ้ง เช่น บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ กำลังทำให้โลกต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 80-120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในแต่ละปีพลาสติกจำนวน 5-13 ล้านตันไหลลงทะเลและก่อความเสียหายต่อระบบนิเวศ การจัดการขยะที่ด้อยประสิทธิภาพนี้ยังส่งก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และบังคับให้เราต้องหาที่ดินเพื่อใช้ฝังกลบขยะเพิ่มเรื่อย ๆ และในจุดนี้จึงชี้ให้เห็นถึงการทำงานของเศรษฐกิจแบบเส้นตรงที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดและเดินได้ลำบากในระยะยาว ไม่เหมือนระบบหมุนเวียนในธรรมชาติที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างแนวคิด ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ หรือ Circular Economy แนวคิดที่กำลังถูกจับตาว่าจะเป็นตัว ‘ปลดล็อก’ ปัญหามากมายที่มากับระบบเศรษฐกิจแบบเดิม
แล้วทุกคนทราบกันไหมว่ามนุษย์เรานั้นสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อให้โลกของเรานั้นปลอดภัยได้ง่ายๆเพียงแค่เราต้องมาทำความรู้จักกับ Sustainable: A way of life เปลี่ยนโลกอย่างไรให้ยั่งยืนโดยการนำ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นระบบที่มีการนำทรัพยากรต่างๆ มาใช้ซ้ำหรือใช้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และการไหลของขยะจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นทรัพยากรสำหรับการผลิตเพิ่มเติม เส้นทางนี้ถูกขับเคลื่อนโดยอัตราความเป็นเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความต้องการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดที่เพิ่มมากขึ้น มีประโยชน์ในระดับโลกหลายประการ เช่น ส่งผลให้มีการใช้วัสดุอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด สร้างกระแสรายได้ที่แปลกใหม่จากการนำวัสดุที่สามารถรียูสกลับมาใช้ซ้ำได้มาสร้างไอเดียผลิตออกมาใหม่เช่น การนำขวดน้ำมาทำเป็นเสื้อ การนำขวดพลาสติกมาประดิษฐ์เป็นที่ปลูกต้นไม้เพื่อ ช่วยให้ความสัมพันธ์กับผู้มนุษย์กับธรรมชาติแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ช่วยยกระดับชื่อเสียงของแบรนด์และบรรเทาความเสี่ยง
โดยเศรษฐกิจหมุนเวียนแบ่งวัสดุในระบบออกเป็น 2 แบบ คือ 1) กลุ่มวัสดุชีวภาพ (biological materials) หรือวัสดุที่มาจากสารธรรมชาติ และผ่านกระบวนการที่แทบไม่ปนเปื้อนสารเคมี ทำให้ย่อยสลายคืนสู่สิ่งแวดล้อมต่อไปได้ 2) กลุ่มวัสดุทางเทคนิค (technical materials) ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่อาศัยเทคนิคต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนจากโลหะและพลาสติก ที่จะส่งผลเสียหากหลุดสู่ธรรมชาติ จึงต้องมีการออกแบบใหม่ให้หมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในระบบปิดโดยไม่ส่งของเสียออกนอกระบบผลิต
โดยไอเดียเพื่อเป็นการสร้างคุณค่าผ่านเศรษฐกิจหมุนเวียนมี 4 วิธีหลัก ๆ ได้แก่
1) การใช้วัสดุภายในวงจร (inner circle) คือ อาจตกแต่งหรือซ่อมแซมผลิตภัณฑ์หรือวัสดุให้ใช้งานยาวนานขึ้น เช่น การซ่อมรถยนต์ เมื่อซ่อมไม่ได้แล้วก็นำชิ้นส่วนไปแต่งหรือประกอบใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ต่อ เป็นการประหยัดวัสดุ พลังงานและแรงงาน
2) การยืดอายุวงจร (circling longer) คือ ยืดอายุของการใช้ซ้ำและช่วงเวลาของแต่ละรอบ เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์ซ้ำหรือยืดอายุการใช้ผลิตภัณฑ์ออกไป เช่น พลาสติกใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล
3) การใช้ใหม่ในลำดับต่อ ๆ ไป (cascade) คือ หาวิธีใช้ซ้ำที่หลากหลายในห่วงโซ่อุปทาน หรือใช้ซ้ำข้ามอุตสาหกรรม เช่น ฝ้าย
4) ทำปัจจัยนำเข้าให้บริสุทธิ์ (pure inputs) คือ การปรุงแต่งวัตถุดิบจากธรรมชาติที่จะนำมาให้น้อยที่สุดเพื่อการนำกลับมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คงคุณภาพและยืดอายุให้อยู่ในวงจรนานขึ้น