‘เยาวราช-ราชวงศ์’ นำร่องย่านท่องเที่ยวรับสงกรานต์ กทม.จ่อปรับโฉม 5 ย่าน ศก. เป็นสตรีทฟู้ด

Journal ข่าวสาร

กทม.ฟื้นฟูเมืองครั้งใหญ่ ทุ่มปรับภูมิทัศน์ ขยายทางเท้า ปั้นสตรีตฟู้ด บูมท่องเที่ยว 5 ย่านเศรษฐกิจ เกาะรัตนโกสินทร์ อโศก-พระราม 9 เตาปูน-บางโพ บางหว้า บางขุนเทียน กระตุ้นจับจ่าย ประเดิมถนนเยาวราชรับสงกรานต์ปีหน้า “อัศวิน” โชว์แผนลงทุน 7.5 หมื่นล้านซื้อเรือไฟฟ้า ซ่อมสร้างถนนทั่วกรุง ผุด 3 อุโมงค์ยักษ์แก้น้ำท่วม

นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กทม.มีแผนจะปรับปรุงทางเท้าและภูมิทัศน์ย่านสำคัญและย่านเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งวันที่ 9 ธ.ค. 2563 จะหารือรวมกับกฎบัตรแห่งชาติถึงโมเดลการพัฒนาใน 5 ย่าน โดยคัดถนนที่มีการใช้งานน้อย เนื่องจากจะต้องนำผิวถนน 1 ช่องจราจรเพื่อขยายทางเท้าเพิ่ม คาดว่าจะนำร่องถนนเยาวราชเป็นแห่งแรก

ทุ่ม 10 ล้านประเดิมเยาวราช

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะกรรมการและเลขานุการกฎบัตรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ กทม. บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) บริษัท กรุงเทพพัฒนาเมือง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ปรับปรุงฟื้นฟู 5 ย่านเศรษฐกิจในพื้นที่ กทม. ได้แก่ เกาะรัตนโกสินทร์ ย่านอโศก-พระราม 9 ย่านเตาปูน-บางโพ ย่านบางหว้า และบางขุนเทียน โดยจะขยายทางเท้าเพิ่มเพื่อทำเป็นสตรีตฟู้ดรองรับการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

“วันที่ 9 ธ.ค.จะเสนอโมเดลให้ผู้บริหาร กทม.พิจารณา นำร่องที่ถนนเยาวราชตั้งแต่ช่วงถนนเยาวราช-ถนนราชวงศ์ ระยะทาง 650 เมตร เพราะเป็นย่านท่องเที่ยว มีร้านอาหารชื่อดังเป็นที่รู้จัก และมีรถไฟฟ้าใต้ดิน ทำให้เดินทางสะดวก จะใช้เงินปรับปรุงประมาณ 10 ล้านบาท มีผู้ประกอบการในพื้นที่ออกค่าใช้จ่ายให้ กทม.”

วันที่ 24-25 ธ.ค.นี้จะจัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นของบรรดาร้านอาหารสตรีตฟู้ดในเยาวราชถึงการขยายทางเท้า โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.จะเข้าร่วมรับฟังด้วย เพื่อเก็บข้อมูลออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. เริ่มสร้างเดือน ก.พ. และแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. 2564 พอดีกับช่วงเทศกาลสงกรานต์

“การขยายทางเท้าจะเสียผิวจราจรไปฝั่งละ 1 ช่องหรือเฉลี่ย 1 เมตร เพื่อให้ทางเท้ามีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 1.8 เมตรเป็น 3 เมตร จะทำให้พื้นที่ร้านค้าริมทางสามารถขยายที่นั่งได้มากขึ้น ส่วนผิวจราจรจะเหลือให้รถวิ่งผ่านได้ 6 ช่องจราจร จากเดิม 8 ช่องจราจร แต่ไม่น่ามีปัญหาเพราะช่วงเวลาปกติถนนเยาวราชเดินรถทางเดียว” นายฐาปนากล่าวและว่า

ลุยต่อย่านเตาปูน-บางโพ

ส่วนที่เหลือจะศึกษาเสร็จในปี 2564 ได้แก่ 1.ช่วงเตาปูน-บางโพ ระยะทาง 1.8 กม. ตั้งแต่แยกเตาปูนเลาะไปตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับสายสีน้ำเงินช่วงสถานีเตาปูน-แยกประชาราษฎร์-สถานีบางโพ ซึ่งการขยายทางเท้าในย่านนี้เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่มีมากขึ้นจากการเปิดโครงการคอนโดมิเนียม และเป็นย่านการค้าเก่าอย่างตลาดเตาปูน ย่านการค้าใหม่อย่างห้างเกตเวย์ บางซื่อ และรองรับสถานีกลางบางซื่อจะเปิดใช้ในปี 2564 และกำลังหารือ กทม.จะขยายระยะทางอีก 2.5 กม.ไปถึงรัฐสภาเกียกกาย

2.โซนพระราม 9-อโศก ระยะทาง 4 กม. เริ่มตั้งแต่เซ็นทรัล พระราม 9 ผ่านรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์สถานีมักกะสัน เลาะไปตามถนนอโศกมนตรีถึงศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 จะออกแบบให้เป็นถนนที่มีต้นไม้อยู่ริมสองข้างทาง (boulevard) ให้เกิดความร่มรื่นในการเดินทางตลอดสาย เพื่อเพิ่มการเดินเท้าในการสัญจร 3.บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบางหว้า ระยะทาง 300 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อการเดินทางแบบล้อ ราง เรือ มีรถไฟฟ้า 2 สายตัดผ่าน คือ สายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน รวมถึงเป็นจุดจอดเรือโดยสารคลองภาษีเจริญ และเรือโดยสารคลองบางกอกใหญ่

และ 4.บริเวณถนนมหาราชเชื่อมมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ต้องเสนอโครงการให้คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่ามีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาก่อน

ทุ่มปรับปรุงเกาะรัตนโกสินทร์

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2564 กทม.มีโครงการปรับปรุงทางเท้าบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์จำนวน 30 เส้นทาง แบ่งดำเนินการ 4 ตอน ใช้งบประมาณ 517 ล้านบาท คือ 1.พื้นที่ถนนดินสอ ถนนตีทอง ถนนตรีเพชร ถนนมหาไชย ถนนสำราญราษฎร์ ถนนบำรุงเมือง จากถนนตีทองถึงคลองรอบกรุง ถนนเจริญกรุงจากถนนสนามไชยถึงคลองรอบกรุงและถนนจักรเพชรจากถนนมหาไชยถึงถนนตรีเพชร วงเงิน 166 ล้านบาท

2.พื้นที่ถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมรุ ถนนจักรพงษ์ ถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชินีจากถนนราชดำเนินกลางถึงถนนพระอาทิตย์ วงเงิน 154 ล้านบาท 3.พื้นที่ถนนหน้าพระธาตุ ถนนพระจันทร์ ถนนมหาราช ถนนท้ายวัง ถนนเชตุพน ถนนสนามไชย และซอยเศรษฐการ วงเงิน 75 ล้านบาท และ 4.พื้นที่ถนนราชดำเนินใน ถนนหลักเมือง ถนนแพร่งนรา ถนนสำราญราษฎร์ ถนนราชบพิธ ถนนบ้านหม้อ ถนนเฟื่องนคร ถนนตะนาว ถนนสิบสามห้าง และถนนบวรนิเวศน์ วงเงิน 122 ล้านบาท

ปี’64 นำร่อง 4 เส้นทาง

“ปี 2564 มีพื้นที่จะนำร่อง 4 เส้นทาง ได้แก่ ถนนพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์ ถนนเจ้าฟ้า ถนนจักรพงษ์ เพราะมีการเชื่อมโยงกับถนนข้าวสารที่เพิ่งปรับปรุงทางเท้าและผิวถนนโฉมใหม่ไปก่อนหน้านี้”

ยังมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และทางเท้าถนนรัชดาภิเษกจากช่วงบริเวณคลองสามเสนถึงแยกเทียมร่วมมิตร (The Street รัชดา) คลองช่องนนทรี จะนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน และปรับปรุงทางเท้าที่ชำรุดทรุดโทรมใหม่ให้ได้มาตรฐาน ปรับปรุงทางเดินและทางจักรยานคลองไผ่สิงโต (สะพานเขียว) เชื่อมสวนลุมพินีกับสวนเบญจกิติ พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่

อัดงบฯตัดถนน-ผุดอุโมงค์ยักษ์

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า กทม.ตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 2564 อยู่ที่ 75,500 ล้านบาท มีโครงการสำคัญจะริเริ่ม เช่น ขยายการเดินเรือคลองแสนแสบวัดศรีบุญเรือง-มีนบุรี ระยะทาง 10.5 กม. ซื้อเรือไฟฟ้า 12 ลำ สร้างท่าเทียบเรือคลองแสนแสบ 8 ท่า ติดตั้งป้ายรถเมล์อัจฉริยะครบ 100 แห่ง

จะเปิดใช้ถนนใหม่ ได้แก่ ถนนศาลาธรรมสพน์จากถนนพุทธมณฑลสาย 2-คลองทวีวัฒนา, ถนนต่อเชื่อมกาญจนาภิเษก-พุทธมณฑลสาย 2, ขยายสะพานอรุณอมรินทร์ พร้อมทางขึ้น-ลง, ทางยกระดับข้ามแยกศิริราช, ทางลอดรัชดาฯ-ราชพฤกษ์, ทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนก และสะพานข้ามแยก ณ ระนอง

สำหรับโครงการใหม่จะเริ่มก่อสร้าง อาทิ ถนนรามคำแหง 24, ถนนไมตรีจิต, สะพานข้ามแยกบางกะปิ (สะพานลาดพร้าว-เสรีไทย), ทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง, ถนนวิภาวดีรังสิตกับ ถนนพหลโยธิน, ถนนเชื่อมต่อศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะกับถนนประชาชื่น, ถนนพุทธมณฑลสาย 2-ถนนพุทธมณฑลสาย 3

ด้านปัญหาน้ำท่วมจะสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากรช่วงที่ 2 หมู่บ้านแกรนด์ คาแนล-ถนนสรงประภา ความยาว 5 กม. เริ่มปี 2564-2566 ช่วงที่ 3 ถนนสรงประภา-ถนนแจ้งวัฒนะ ความยาว 10 กม. เริ่มปี 2564-2565 ช่วงที่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ-ถนนเทศบาลสงเคราะห์ ความยาว 10.7 กม. เริ่มปี 2564-2565 ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์คลองเปรมประชากร อุโมงค์ส่วนต่อขยายคลองแสนแสบ และอุโมงค์คลองทวีวัฒนา ช่วยพื้นที่กรุงเทพฯโซนเหนือ ใจกลางเมืองย่านลาดพร้าว และฝั่งธนบุรี จะเริ่มปี 2564-2569 เป็นต้น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์