จากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทั่วโลก ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ส่งผลให้ทุกคนเกิดความกังวลเกี่ยวกับการวิธีการดำเนินชีวิต รวมถึงความปลอดภัยของอาหารที่บริโภค ที่อาจจะมีโอกาสปนเปื้อนและสามารถติดต่อสู่คน ดังนั้น หลักสำคัญในการจัดการอาหารปลอดภัยจึงควร “จัดการให้คนปลอดภัย อาหารจึงจะปลอดภัย”
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจ ยังสามารถบริโภคอาหารทะเลสดและอาหารทะเลแช่แข็งได้ตามปกติ แต่ต้องปรุงให้สุกใหม่ เนื่องจาก เชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถทนความร้อนได้และถูกทำลายได้ด้วยวิธีการประกอบอาหารที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ดังนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำให้เลี่ยงการกินอาหารจากสัตว์ที่ดิบหรือปรุงไม่สุก และจัดการกับเนื้อสัตว์ดิบ นมดิบ หรืออวัยวะของสัตว์ด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันการปนเปื้อน
นพ.พูลลาภ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานยืนยันว่า พบการติดเชื้อโควิด-19 จากการบริโภคอาหาร เนื่องจากเชื้อโควิด-19 มีเยื่อหุ้มที่มีความทนทานต่อการสภาวะแวดล้อมได้ต่ำ และจะถูกทำลายได้ง่ายจากความร้อน หรือ สารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะพบเชื้อไวรัสในอาหารจึงค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำให้ผู้บริโภคกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่ควรกินอาหารดิบ เพราะนอกจากเสี่ยงต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังเสี่ยงต่อการได้รับจุลินทรีย์ก่อโรค เช่น แบคทีเรียที่ทำให้ท้องเสีย หรืออาหารเป็นพิษ ไวรัสก่อโรค เช่น Norovirus และปรสิต เช่น พยาธิ นอกจากนั้น หากมีการปรุงประกอบอาหารเอง ควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากแหล่งที่สะอาดและน่าเชื่อถือ การเตรียมอาหารจะต้องแยกอาหารสดกับอาหารที่ปรุงสุกแล้ว รวมทั้งระมัดระวังการสัมผัสอาหารที่ปรุงสุกแล้วกับอาหารสดที่สำคัญ ควรล้างมือให้สะอาด ไม่สัมผัสใบหน้า และดวงตา ระหว่างการปรุงอาหาร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน อย. 1556 และสามารถติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ได้ที่เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ “COVID-19” หรือกดติดตามที่ “แฟนเพจเฟซบุ๊ก Fda Thai หรือ ไลน์ Fda Thai”
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์