เช็กด่วน!! คลังเปิดเงื่อนไข ‘กลุ่มอาชีพ’ ไหน ‘ได้-อด’ เงินเยียวยา 7,000 บาท
จากกรณีที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเร่งพิจารณามาตรการบรรเทาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม โดยกำหนดวงเงินช่วยเหลือ เดือนละ 3,500 บาท นาน 2 เดือน รวมรับเงินคนละ 7,000 บาท โดยจะเสนอหลักการจ่ายเงินบรรเทาความเดือดร้อนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ในวันที่ 19 มกราคม โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จะต้องมาลงทะเบียนผ่านแอพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ที่กระทรวงการคลังเปิดไว้ กำหนดระยะเวลาลงทะเบียนเร็วที่สุดภายในสิ้นเดือนมกราคม และผู้ผ่านการตรวจสอบสิทธิจะสามารถกดเงินจากตู้เอทีเอ็มในเดือนแรกได้อย่างช้าสุดไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ ครอบคลุม 2 เดือน
“ตัวเลขผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือทั้งหมด รวมทั้ง หลักเกณฑ์การดำเนินการทั้งหมดยังไม่นิ่ง คลังต้องพิจารณาในรายละเอียดก่อน โดยจะสรุปเพื่อเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า ซึ่งมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน 3,500 บาท 2 เดือนนี้ จะแตกต่างจากโครงการคนละครึ่งที่ใครลงทะเบียนก่อนก็จะได้รับสิทธิก่อน เพราะการให้เงินช่วยเหลือรอบนี้ไม่ต้องแย่งกัน ใครก็ตามที่เข้ามีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์การคัดกรอง ก็จะได้รับสิทธิทันที ใครที่ไม่ผ่านการคัดกรองก็จะถูกคัดออกไปทันที ซึ่งกระทรวงการคลังยอมรับว่าการคัดกรองไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา แต่จะพยายามคัดกรองให้ถูกต้องที่สุด เพราะที่ผ่านมามีเสียงบ่นว่าบางคนควรได้สิทธิก็ไม่ได้ ขณะที่บางคนไม่ควรได้สิทธิก็ได้” นายอาคม กล่าว
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การคัดกรองผู้ที่ได้รับเงินบรรเทาทุกข์ 3,500 บาท นาน 2 เดือน จากมาตรการเราชนะ จะแตกต่างจากมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งกระทรวงการคลังมั่นใจว่าจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนทุกคนแน่นอน เพราะเป็นการคิดจากฐานข้อมูลประชากรทั้งประเทศ 66 ล้านคน และมาคัดกรองออกจนเหลือกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือจริงๆ ไม่ใช่เป็นการเปิดลงทะเบียนว่าใครได้รับผลกระทบ ซึ่งวิธีการนั้นส่งผลให้มีจำนวนผู้ที่ต้องการเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ทั้งนี้ กลุ่มที่จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลอยู่แล้ว เช่น กลุ่มข้าราชการกว่า 3 ล้านคน พนักงาน และลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ กลุ่มที่อยู่ในฐานระบบกองทุนประกัน ตามมาตรา 33 อีก 11 ล้านคน รวมทั้ง ผู้ที่มีรายได้สูง ซึ่งคลังจะมีเกณฑ์มาวัดว่ารายได้เท่าใด จึงจะไม่ได้รับเงิน 3,500 บาท โดยพิจารณา บัญชีเงินฝาก รายได้เข้าออกเดือนต่อเดือน ฐานข้อมูลผู้เสียเงินภาษี เป็นต้น” นายกฤษฎา กล่าว
นายกฤษฎากล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มที่จะได้รับเงินบรรเทาทุกข์ จะแบ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ผ่านเว็บไซต์ หรือแอพลิเคชั่น “เราชนะ” เช่น กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน ซึ่งมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว และกลุ่มผู้เข้าร่วมมาตรการคนละครึ่ง ที่มีการยืนยันใช้สิทธิแล้วกว่า 13.8 ล้านราย หรือไม่เกิน 15 ล้านราย แต่ต้องมาพิจารณาคุณสมบัติว่าจะผ่านเกณฑ์ได้รับเงินบรรเทาทุกข์ด้วยหรือไม่อีกครั้ง และกลุ่มต้องลงทะเบียนใหม่ เป็นกลุ่มที่ไม่เคยอยู่ในฐานข้อมูลเดิมอยู่เลย
“กลุ่มที่จะได้รับเงินเยียวยา ต้องเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ เกษตรกร ที่เคยลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร อาจจะต้องมาลงทะเบียนใหม่ และจะช่วยเหลือพร้อมกันในรอบเดียว ในหลักการก็จะช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเหมือนมาตรการเราไม่ทิ้งกันก่อน เช่น กลุ่มแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล และมัคคุเทศก์ เป็นต้น” นายกฤษฎา กล่าว
นายกฤษฎากล่าวต่อว่า สำหรับเว็บไซต์ www.เราชนะ.com คาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ภายในช่วงสิ้นเดือนมกราคม โดยจะแจกเงิน 2 เดือน คือเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม ซึ่งรายละเอียดการลงทะเบียนจะไม่ยุ่งยากเหมือนมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ที่มีชุดคำถามเชิงลึก เพื่อพิจารณาว่าได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ ส่วนเรื่องงบประมาณในการใช้แจกเงินรอบนี้ อยู่ระหว่างสรุป แต่ยืนยันว่าจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ยังพอเพียง ไม่ต้องกู้เพิ่ม
ที่มา : มติชนออนไลน์