“ชมพู่” กับประโยชน์ดีๆ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน คนอยากลดน้ำหนัก

Health สุขภาพดีๆ

ผลไม้รูปทรงแปลกอย่าง ชมพู่ (Rose Apple) จัดเป็นผลไม้อีกหนึ่งชนิดที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี หลายคนชอบกินชมพู่มาก โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน เพราะกินแล้วสดชื่น ยิ่งหากแช่เย็นก่อนกินก็จะยิ่งกรอบ อร่อยขึ้นไปอีก แต่คุณรู้ไหมว่า นอกจากความอร่อยแล้ว ชมพู่ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากด้วย ว่าแต่ประโยชน์สุขภาพของชมพู่จะมีอะไรบ้าง แล้วเวลาบริโภคเราจะต้องระมัดระวังอะไรหรือเปล่า เราไปหาคำตอบจากบทความนี้กันเลย

คุณค่าทางโภชนาการใน “ชมพู่”

ชมพู่เป็นผลไม้ฉ่ำน้ำที่มีแคลอรี่ต่ำ แต่อุดมไปด้วยสารอาหารนานาชนิด ชมพู่สด 100 กรัม ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี่ และให้สารอาหารต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • โปรตีน 0.60 กรัม
  • วิตามินเอ 8.4 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 1 (ไทอามิน) 0.020 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) 0.030 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 (ไนอาซิน) 0.800 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 22.3 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 29 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 123 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 5 มิลลิกรัม

นอกจากวิตามินและแร่ธาตุข้างต้นแล้ว ในชมพู่ยังมี ซัลเฟอร์ (Sulfer) ฟอสฟอรัส (Phosphorus) แมงกานีส เหล็ก รวมถึงสารพฤกษเคมี เช่น กรดบิทูลินิก (Betulinic acid) สารแจมโบไซน์ (Jambosine) ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ต้านมะเร็ง ต้านการติดเชื้อราที่ผิวหนัง

ประโยชน์สุขภาพของชมพู่

ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ในชมพู่มีสารแอลคาลอยด์ (Alkaloid) ซึ่งสารประกอบอินทรีย์ที่มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ ที่เรียกว่า “แจมโบไซน์” (Jambosine) ซึ่งงานศึกษาวิจัยเผยว่า สารประกอบชนิดนี้มีส่วนช่วยกระบวนการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลของร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ อีกทั้งชมพู่ยังเป็นผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานด้วย

ช่วยในการขับถ่าย

นอกจากจะฉ่ำน้ำแล้ว ชมพู่ยังเป็นแหล่งไฟเบอร์ชั้นยอด เมื่อร่างกายของเราได้รับน้ำและไฟเบอร์อย่างเพียงพอ จะช่วยให้อาหารเคลื่อนผ่านจากกระเพาะอาหารไปสู่ลำไส้ใหญ่ได้สะดวกขึ้น จึงช่วยบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับระบบอาหารและการขับถ่าย เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ได้

ดีต่อสุขภาพหัวใจ

สารอาหารนานาชนิด และไฟเบอร์ที่มีมากในชมพู่ช่วยให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดของเราแข็งแรงขึ้นได้ นอกจากนี้ ชมพู่ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระและโพแทสเซียมสูง ที่ช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ในเลือดเป็นปกติ ความเสี่ยงในการเกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือดที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง จึงลดลงตามไปด้วย

ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

วิตามินซี (Vitamin C) เป็นวิตามินที่มีส่วนสำคัญในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และชมพู่ก็เป็นผลไม้อีกหนึ่งชนิดที่มีวิตามินซีสูงมาก ชมพู่ 100 กรัม มีวิตามินซีถึง 22.3 ไมโครกรัม กินแล้วจึงช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน (Collagen) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเช่นกัน นอกจากนี้ คอลลาเจนยังช่วยบำรุงผิวหนัง ชะลอการเกิดริ้วรอย ทั้งยังดีต่อสุขภาพข้อต่อและกระดูกด้วย

ช่วยป้องกันมะเร็ง

วิตามินซีและวิตามินเอที่มีมากในชมพู่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นยอด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยืนยันแล้วว่า ช่วยขัดขวางการเจริญเติบโตของเนื้องอกและเซลล์มะเร็ง จึงลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งบางชนิดได้ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด

ความเสี่ยงในการบริโภคชมพู่ ที่เราควรรู้

เมล็ด ราก และใบชมพู่มีสารพิษอย่าง “ไซยาไนด์” (Cyanide) อยู่ในปริมาณเล็กน้อย หากเผลอกินเข้าไปจะส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตลดลงอย่างฉับพลัน และอาจร้ายแรงถึงขึ้นทำให้หยุดหายใจได้ ฉะนั้น เวลากินชมพู่ คุณจึงต้องระวังให้ดี อย่าให้มีเมล็ดติดไปกับเนื้อชมพู่ และคุณไม่ควรกินชมพู่มากเกินไปด้วย เพราะอาจทำให้เกิดอาการคันคอและไอได้

ที่มา : Sanook