ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ภาพรถไฟเข้าเทียบชานชาลาที่หัวลำโพง หรือสถานีรถไฟกรุงเทพ เป็นขบวนสุดท้าย จะกลายเป็นภาพในตำนานให้จดจำ เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เตรียมย้ายการเดินรถทุกขบวน ไปยังสถานีกลางบางซื่อ ภายในเดือน พฤศจิกายน 2564
หัวลำโพง เป็นหนึ่งในย่านที่มีเรื่องราวความเป็นมาที่ยาวนานแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่สถานีรถไฟเท่านั้น แต่ย่านหัวลำโพงมีพื้นที่ใหญ่มาก นอกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงในปัจจุบัน ยังกินพื้นที่บริเวณรอบด้านอีกพอสมควร มีชุมชนดั้งเดิมอยู่อาศัย มีวัดหัวลำโพง ที่สันนิษฐานกันว่าสร้างตั้งแต่ช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ตามประวัติศาสตร์ ระบุว่า ย่านหัวลำโพง เคยเป็นทุ่งเลี้ยงวัว และมีต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ต้นลำโพง ขึ้นจำนวนมาก จึงเรียกย่านนี้กันว่า ทุ่งวัวลำพอง เช่นเดียวกับชื่อวัดหัวลำโพง ที่เรียกกันว่า วัดวัวลำพอง แล้วก็เรียกกันเพี้ยนจนมาเป็น “หัวลำโพง”
หลังจากที่เมืองเริ่มเจริญเติบโต รับอิทธิพลจากชนชาติตะวันตกเข้ามามากขึ้น ในปี 2453 (สมัยรัชกาลที่ 5) เริ่มมีการก่อสร้างสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นสถานีรถไฟหลักและเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย
สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ หัวลำโพง สร้างอยู่ในพื้นที่ 120 ไร่เศษ อยู่ในท้องที่ แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2459 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
สถานีรถไฟกรุงเทพ มีแบบก่อสร้างเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซอง มีลักษณะคล้ายกับรถไฟเมืองแฟรงค์เฟิร์ตในประเทศเยอรมัน วัสดุในการก่อสร้างมาจากเยอรมัน ลวดลายต่างๆที่ประดับไว้เป็นศิลปะที่มีความวิจิตรสวยงามมาก บันไดและเสาอาคารบริเวณทางขึ้นที่ทำการกองโดยสารเป็นหินอ่อน เพดานเป็นไม้สักสลักลายนูน ซึ่งหาดูได้ยาก
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ติดตั้งไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคาร เช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่ติดตั้งไว้ที่กึ่งกลางยอดโดมสถานีมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 160 เซนติเมตร เป็นเครื่องบอกเวลาแก่ผู้สัญจรไปมาและผู้ใช้บริการจนถึงปัจจุบัน
หัวลำโพง ได้รับการปรับปรุงมาตลอด ในปี 2541 ปรับปรุงพลิกโฉม โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบรับกับปีอะเมซิ่งไทยแลนด์ และรองรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 6 – 20 ธันวาคม 2541
ในการปรับปรุงอาคารสถานีกรุงเทพจะประกอบด้วยการปรับปรุงพื้นที่ 2 ข้างในห้องโถงอาคารให้เป็นร้านขายอาหาร และร้านค้า โดยมีชั้นลอยเพื่อเป็นที่นั่งคอยของผู้โดยสารเป็นการเพิ่มบริการให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายในการนั่งรอและสามารถเลือกซื้อ อาหาร ตลอดจนของใช้จำเป็นอื่นๆได้ตามความต้องการโดยมีร้านค้าหลากหลาย อาทิ ร้านอาหาร, ขนม, เครื่องดื่ม ,ผลไม้ขนมปังและเบเกอรี่, ไอศกรีม, อาหารจานด่วน, อุปกรณ์การเดินทาง, หนังสือ และร้านขายยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยว,บริษัทรับจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน,บริการแลกเปลี่ยนเงินตรา ,ตู้ เอทีเอ็ม และห้องละหมาด เป็นต้น
ทางด้านข้างของอาคารสถานีทิศตะวันตกหรือคลองผดุงกรุงเกษม ก่อสร้างเป็นหลังคาคลุมใหม่เป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมครอบคลุมพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สำหรับรองรับผู้โดยสารขาเข้าและขาออกให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น
จนถึงปัจจุบันหัวลำโพงเปิดให้บริการมาแล้ว 105 ปี จัดเป็นศูนย์กลางการขนส่งผู้โดยสารทางรถไฟ ถ้าไม่รวมถึงช่วงสถานการณ์โควิด แต่ละวันจะมีขบวนรถเข้า-ออก ประมาณ 200 ขบวน และมีผู้โดยสารเดินทางเข้านับหมื่นคน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์สำคัญๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ จะมีผู้คนใช้บริการนับแสนคน เรียกว่าเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และการคมนาคม
นอกจากนี้ ในปัจจุบันย่านหัวลำโพงเติบโตขึ้นอย่างมาก จากเดิมที่เป็นศูนย์กลางการเดินทางโดยรถไฟ ปัจจุบันรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน เปิดให้บริการแล้ว เชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เดิมคือ บางซื่อ-หัวลำโพง เข้ากับส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-หลักสอง และบางซื่อ-ท่าพระ เป็นวงแหวน เชื่อมต่อระหว่างศูนย์กลางเมืองแห่งใหม่บริเวณสีลม สาทร สุขุมวิทกับสถานีรถไฟเก่าแก่แห่งนี้
รวมทั้ง ย่านหัวลำโพง เปรียบเสมือนประตูเมืองเก่าที่จะเข้าไปสู่พื้นที่วัฒนธรรมเก่าแก่ เช่น ย่านเยาวราช ย่านพระราชวัง ย่านเกาะรัตนโกสินทร์ ด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อรฟท. เตรียมปิดสถานีหัวลำโพง ซึ่งเปิดให้บริการมานานถึง 105 ปี โดยเตรียมสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลาง รองรับการให้บริการระบบรางของ รฟท.
มีข่าวว่าแผนเดิมของการปิดสถานีหัวลำโพง จะปรับปรุงพื้นที่บางส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของประชาชนด้านประวัติศาสตร์ของการรถไฟ ซึ่งยังคงต้องติดตามรายละเอียดต่อไป