อาหารทะเลมักเป็นอาหารจานโปรดของใครหลายคน แต่เคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าว่าทำไมบางคนถึงมีอาการแพ้อาหารทะเล ต่อให้ชื่นชอบแค่ไหนก็ต้องยอมบอกลา เพราะในบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้
ทำไมบางคนถึงแพ้อาหารทะเล
จากข้อมูลของ พบแพทย์ ระบุว่าการแพ้อาหารทะเลเป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายต่อโปรตีนในสัตว์น้ำทะเลและสัตว์น้ำจืดบางชนิด ได้แก่ สัตว์น้ำมีเปลือกทั้งหลาย เช่น กุ้ง ปู หอยนางรม หอยแครง ล็อบสเตอร์ หรือปลาหมึกชนิดต่างๆ เช่น หมึกยักษ์ หมึกกล้วย ซึ่งอาการแพ้จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ตั้งแต่ระดับที่ไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต
ทั้งนี้ แต่ละคนย่อมมีความเสี่ยงต่อการแพ้อาหารทะเลมากน้อยแตกต่างกัน หากบุคคลในครอบครัวเคยมีอาการแพ้ยา อาหาร หรือสารใดๆ ก็ตาม สมาชิกในครอบครัวนั้นมักมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพ้อาหารทะเลมากกว่าปกติ
ทำไมเพิ่งมีอาการแพ้ในวัยผู้ใหญ่?
นายแพทย์รวิ เรืองศรี รพ.สุขุมวิท ระบุว่าภาวะแพ้อาหารที่เพิ่งมาเป็นตอนโตหรือในวัยผู้ใหญ่นั้น เป็นภาวะแพ้แบบเฉียบพลันที่เกิดจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในอาหารบางชนิด
โดยหลักการของอาการแพ้เฉียบพลันนั้น คือ ร่างกายจะต้องเคยได้รับการกระตุ้นหรือเรียนรู้จากการรับประทานอาหารประเภทนั้น หรือได้รับสารที่มีโปรตีนโครงสร้างคล้ายกัน (Sensitization) มาก่อน
เมื่อร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า IgE (อิมมูโนโกลบูลิน ชนิดอี) ที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อโปรตีนในอาหารชนิดนั้น ก็จะเหนี่ยวนำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้เฉียบพลันจากการปล่อยสารฮีสตามีน (Histamine) จากเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งในร่างกาย
ที่สำคัญ เมื่อร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกันนี้แล้ว มีแนวโน้มว่าจะมีตลอดไป ซึ่งหมายความว่า ถ้าเราได้รับประทานอาหารชนิดเดิมที่เป็นสาเหตุของการแพ้ ก็จะมีอาการลักษณะเดิมอีก และไม่สามารถรับประทานอาหารชนิดนั้นได้เป็นปกติอีกนั่นเอง
อาการแพ้อาหารทะเลเป็นอย่างไร?
หลังจากรับประทานอาหารทะเลที่เป็นสาเหตุของการแพ้เข้าไป มักจะเกิดอาการแพ้ภายในไม่กี่นาที หรือเกิดขึ้นภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งอาการแพ้ที่สังเกตได้ มีดังนี้
- เกิดลมพิษ รู้สึกคัน หรือมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
- คัดจมูก หายใจเสียงดังวี้ด หรือหายใจลำบาก
- มีอาการบวมที่ใบหน้า ลำคอ ริมฝีปาก ลิ้น หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น หู ฝ่ามือ นิ้วมือ
- ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
- รู้สึกมึนงง วิงเวียน บ้านหมุน หรือคล้ายจะเป็นลม
- ปวดคล้ายเข็มทิ่มในปาก
ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงต้องได้รับการรักษาโดยเร่งด่วนด้วยการฉีดยาเอพิเนฟริน (Epinephrine) และนำตัวส่งห้องฉุกเฉินทันที ซึ่งจะแสดงอาการให้เห็น ดังนี้
- คอบวมหรือมีก้อนในลำคอ ส่งผลให้ทางเดินหายใจแคบลงและหายใจลำบาก
- ชีพจรเต้นเร็ว
- วิงเวียนศีรษะอย่างมาก หรือหมดสติ
- มีอาการช็อก เนื่องจากความดันโลหิตลดต่ำลงมาก
ป้องกันการแพ้อาหารทะเลได้อย่างไร?
หากทราบว่าตนเองแพ้อาหารทะเลอยู่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์น้ำมีเปลือก รวมถึงผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มีส่วนผสมจากอาหารเหล่านี้ เป็นวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้ได้ดีที่สุด
นอกจากนี้ ควรระมัดระวังเมื่อรับประทานอาหารนอกบ้าน เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ วัสดุต่างๆ ที่นำมาปรุงอาหารไม่มีการปนเปื้อนอาหารทะเล หรือผ่านการทำอาหารชนิดอื่นมาก่อน และควรอ่านฉลากที่ผลิตภัณฑ์ก่อนทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับอาหารที่มีส่วนผสมของอาหารทะเล
หากมีบุตรหลานแพ้อาหารทะเลหรือสัตว์น้ำมีเปลือกควรแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบเพื่อป้องกันการแพ้จากการสัมผัสหรือรับประทาน
ที่มา : Sanook