“ยาแคปซูล” กินมากๆ อันตรายจริงหรือ?

Content พาเพลิน

มีคนกังวลว่า แคปซูลยากินมากๆ จะเกิดอันตราย แต่เรื่องจริงแล้วยาแคปซูลมีส่วนประกอบมาจากอะไร และเป็นอันตรายต่อร่างกายหากกินมากๆ จริงหรือไม่ เรามีข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. มาฝาก

ยาแคปซูล คืออะไร?

ยาแคปซูล เป็นรูปแบบยาที่มีลักษณะของยาที่ลื่น ทำให้กลืนง่าย เปลือกแคปซูล หรือปลอกแคปซูลที่บรรจุยา ส่วนมากทำมาจากเจลาติน น้ำ และสี โดยการแปรรูปคอลลาเจนที่มีอยู่ในผิวหนัง และกระดูกสัตว์ เช่น วัว หมู

เปลือกแคปซูลแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  • แคปซูลชนิดเปลือกแข็ง (Hard Gelatin Capsules) เช่น ผงยา ผงแกรนูล หรือยาเม็ดเล็กๆ ได้
  • แคปซูลชนิดเปลือกนิ่ม (Soft Gelatin Capsules) มักใช้บรรจุยา หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นของเหลว เช่น วิตามิน น้ำมันต่างๆ

ทำไมต้องมียาแคปซูล?

ประโยชน์ของแคปซูล นอกจากช่วยนำส่งยาแล้ว ยังช่วยใน

เรื่องการกลบกลิ่น และรสที่ไม่ดีของยา และยังสามารถใช้ระบุเอกลักษณ์ของยา แยกชนิดของยาแต่ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถรับประทานยาแคปซูลทั้งแคปซูลได้ อาจแกะเปลือกแคปซูลแล้วละลายยาให้ผู้ป่วยได้

แต่ก็ไม่ใช่ว่าแคปซูลทุกชนิดจะสามารถแกะออกมา แล้วเอายาละลายน้ำรับประทานได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของแคปซูล และชนิดของตัวยาที่บรรจุอยู่ในแคปซูลด้วย ดังนั้น แนะนำให้กลืนยาทั้งแคปซูลมากกว่าแกะเปลือกแคปซูลแล้วนำยามาละลายน้ำ โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนแกะแบ่งเม็ดยาในแคปซูล

ยาแคปซูล กินมากๆ อันตรายต่อร่างกายหรือไม่?

เรื่องแชร์ที่ว่าการกินยาแคปซูลมากๆ จะเป็นอันตรายจากตัวแคปซูลนั้น ถือว่าไม่เป็นจริง เพราะเปลือกแคปซูล ทำมาจากเจลาติน และน้ำ ซึ่งไม่เป็นอันตราย ส่วนสีจะใช้ในปริมาณที่เหมาะสมซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นเดียวกัน

วิธีเก็บรักษายาแคปซูล

ยาแคปซูลอาจจะติดกันหากเก็บไว้ในที่ร้อนชื้น ดังนั้นจึงควรเก็บเอาไว้ในที่แห้ง และไม่ร้อนจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเก็บเอาไว้ในตู้เย็น เพราะยาแคปซูลบางชนิดที่มีการเก็บไว้ในตู้เย็นที่มีความชิ้นสูง มักจะทำให้แคปซูลเยิ้มจนติดกันได้ ดังนั้นจึงควรอ่านฉลากข้างผลิตภัณฑ์ให้ละเอียดว่ายาแต่ละชนิดควรเก็บรักษาอย่างไรจึงจะดีที่สุด

ที่มา : Sanook