ในปี 2021 การแพร่ระบาดของ Covid-19 ไม่เพียงส่งผลต่อเศรษฐกิจและธุรกิจทั่วโลก แต่ยังส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปด้วย และแน่นอนว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มก็มีความเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกันเพื่อปรับให้เข้ากับพฤติกรรมของคนในยุคนี้ ผู้ประกอบการ นักการตลาดทั้งหลายต้องเร่งปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสามารถสร้างธุรกิจไปในทิศทางที่ถูกต้อง สำหรับปี 2021 เทรนด์ของอาหารและเครื่องดื่มที่ต่างประเทศรวบรวมไว้และน่าจับตามอง มีดังนี้
1. รสหวานและเผ็ด
โดยปกติแล้วเทรนด์ในปี 2020 ที่ผ่านมา ผู้คนส่วนมากจะชื่นชอบอาหารที่มีเครื่องเทศเยอะๆ รสเผ็ดจัดจ้าน แต่พอมาปี 2021 นอกจากความเผ็ดและความจี๊ดของเครื่องเทศแล้ว เรื่องของ “ความหวาน” ที่เข้ามาเป็นส่วนประกอบอีกหนึ่งรสชาติของอาหารก็จะเป็นแรงดึงดูดใจมากขึ้น ยังไงลองนึกย้อนกลับไปเมื่อไม่นานมานี้ อาจจำได้ว่าเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา “ดังกิ้น” เปิดตัวโดนัทสไปซี่พริกไทยรสเผ็ดจำนวนจำกัด ซึ่งกลายเป็นโดนัทที่ถูกอกถูกใจของลูกค้าเป็นอย่างมาก รสหวานผสมความเผ็ดที่ได้กลายเป็นความนิยมอย่างแรง และยังจะเป็นแนวโน้มของเทรนด์ในปี 2021 อีกด้วย ซอสหวานๆ อบอวลผสมด้วยพริก โดยเฉพาะพวกหน้าพิซซ่าทั้งหลาย วอฟเฟิล หรือแม้แต่ค็อกเทล ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งมีการเปิดตัวเมนูที่ได้รับแรงบันดาลใจจากซอสรสเผ็ดของเกาหลีใต้เป็นส่วนประกอบ เรียกว่า โกชูจัง ความหวานผสมเผ็ดจึงน่าจะเป็นเทรนด์หนึ่งของปี 2021
2. รูปแบบและสีสันของโดนัทมีมากขึ้น
ต้องบอกว่า “โดนัท” เป็นของกินที่สามารถข้าม “พรมแดนทางวัฒนธรรม” เข้าไปเผยแพร่ในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งแต่เดิมที่ผ่านมาเราจะรู้จักโดนัทกันเพียงรูปร่างหน้าตาและรสชาติหวานแหลมกินคู่กับเครื่องดื่มชา กาแฟเท่านั้น แต่แน่นอนว่าในอนาคต โดนัทจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็น แต่จะมีรสชาติใหม่ๆ หน้าตา สีสัน รวมทั้งไอซิ่งที่โรยบนโดนัทก็จะมีมากขึ้น วัตถุดิบหลากหลายและแป้งทอดที่หอมหวานมากขึ้น ต้องจับตามองให้ดี
3. อาหารแช่แข็งมาแรง
หากจะถามว่าการระบาดของโควิด-19 ให้อะไรแก่เรา คำตอบในเรื่องอาหารก็คือ “อาหารแช่แข็ง” เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมาราวเดือนมีนาคม เมื่อโควิดระบาดครั้งแรก ร้านอาหารและสถานบริการด้านอาหารถูกบังคับให้ทิ้งอาหารสดมูลค่าหลายพันล้านบาทไปเพราะความกลัวเรื่องโควิด ขณะที่อีกด้านหนึ่งกลับพบว่า “อาหารแช่แข็ง” มีความมั่นคงอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าปลอดภัยกว่าอาหารสด บริษัทขนาดใหญ่ที่ทำอุตสาหกรรมด้านอาหารดูเหมือนว่าอาจต้องเปลี่ยนสโลแกน “สดเสมอไม่เคยแช่แข็ง” มาเป็นรูปแบบ “อาหารแช่แข็ง” ในปีนี้
4. อาหารแปรรูปจากพืชน้อยลง
ความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 อาจทำให้ผลผลิตพืชผักเข้าสู่โรงงานแปรรูปลดลง ซึ่งจะส่งผลให้การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารที่แปรรูปมาจากพืชลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กลับทำให้ผู้บริโภคต้องการกักตุนอาหารเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป, อาหารกึ่งสำเร็จรูป, อาหารที่เก็บรักษาได้นานขยายตัว เช่น น้ำมันถั่วเหลือง, ทูน่ากระป๋อง, น้ำปลา, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น