ในเวลาที่ธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ในภาวะปกตินั้น “มิราเคิล กรุ๊ป” จัดว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงและชัดเจน เพราะเป็นกลุ่มที่มีธุรกิจที่ผูกอยู่กับสนามบินหลายแขนง ทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็นหน้าด่านสำคัญในการรองรับนักท่องเที่ยว
ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมในสนามบิน (มิราเคิล ทรานสิท, Sleep Box), ห้องรับรองในสนามบิน (มิราเคิล เลานจ์), ร้านอาหาร (แมจิกฟู้ด), มิราเคิล โคเวิร์คกิ้ง สเปซ ฯลฯ แต่ทันทีที่ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบก็เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน
“มิราเคิล” เปิดให้บริการทุกวัน
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.อัศวิน อิงคะกุล” ประธานกลุ่มในเครือมิราเคิล กรุ๊ป ถึงแนวคิด มุมมองในการบริหารคน บริหารธุรกิจในช่วงวิกฤต ภาพรวมของธุรกิจหลังเผชิญวิกฤตโควิดมา 1 ปีเต็ม ๆ รวมถึงแผนการลงทุนในอนาคต ไว้ดังนี้
“อัศวิน” เริ่มต้นให้สัมภาษณ์ว่า ยอมรับว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา “มิราเคิล กรุ๊ป” ได้รับผลกระทบหนักมาก แต่ยังคงเปิดให้บริการโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น มาตลอด จนมีหลายคนถามว่าทำไมถึงไม่ปิด ทนแบกรับภาระต้นทุนอยู่ทำไม เพราะการปิดบริการถือเป็นทางเดียวที่จะสามารถหยุดเรื่องต้นทุนการดำเนินการได้
ถามว่าส่วนตัวการปิดบริการคุ้มไหม บอกเลยว่าคุ้ม แต่ว่า “มิราเคิล” จะปิดไม่ได้ เพราะ 1.มิราเคิลคือ “ศักดิ์ศรี” มิราเคิลคือ ความเป็น “อัศวิน อิงคะกุล” และ 2.มีพนักงานจำนวนมากที่ต้องดูแล ที่สำคัญมองว่าการปิดให้บริการเป็นการทำลายขวัญพนักงาน จึงเลือกที่จะไม่ปิด แม้ว่าตัวเลขอัตรากรเข้าพักของโรงแรมจะเหลืออยู่ไม่กี่สิบห้องก็ตาม
“เราจะปิดก็ได้ แต่ใจเรามันไม่ยอมให้ปิด ศักดิ์ศรีมันเหนือกว่า คำว่า มิราเคิล คำว่าอัศวิน ทำให้ปิดไม่ได้ถอยไม่ได้ แพ้ไม่ได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดพนักงานเราต้องอยู่ได้ด้วย”
ปรับตัว-ท่องคาถา “อดทน”
“อัศวิน” บอกว่า เมื่อเลือกที่จะเปิดให้บริการต่อเนื่อง สิ่งที่ต้องทำคือ “อดทน” เพราะสถานการณ์ในวันนี้ยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจะเบาลงเมื่อไหร่ การเดินทางภายในประเทศจะขยับอีกครั้งเมื่อไหร่ และนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมาเมื่อไหร่ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมจะกลับมาดีได้เมื่อไหร่ ฯลฯ
เมื่อสถานการณ์ตกอยู่ในภาวะวิกฤตสิ่งที่เขาทำคือ “ปรับตัว” และ “อดทน” โดยมองว่ายังมีธุรกิจไหนบ้างที่พอจะมีลูกค้าใช้ห้องพักบ้าง แล้วปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมกระหน่ำแคมเปญโปรโมชั่นห้องพัก ลดราคามากกว่า 50% และขายทั้งแบบใช้บริการห้องพักอย่างเดียว หรือห้องพักรวมอาหารเช้า
ขณะที่ในส่วนของห้องอาหารต่าง ๆ ก็ปรับลดราคาลงมา 50% เลย โดยลูกค้าไม่ต้องเสียเวลากับการเข้าร่วมแคมเปญ “เราเที่ยวด้วยกัน” หรือแคมเปญ “คนละครึ่ง” ให้ยุ่งยาก ที่สำคัญลดราคากันแบบไม่ต้องคิดถึงต้นทุน หรือไม่ต้องคำนวณเรื่องกำไร-ขาดทุน เพราะมันขาดทุนแน่ ๆ 100% อยู่แล้ว
หยุดคิดเรื่อง “ต้นทุน-รายได้”
“อัศวิน” บอกอีกว่า การยื้อเปิดให้บริการในช่วงที่ผ่านมานั้นทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นในทุกส่วน แต่ตัวเองจะบอกพนักงานตลอดว่าเมื่อเราตัดสินใจเปิดและลดราคาค่าบริการในทุกส่วนลงมาแล้วต้องลืมคำว่า “ต้นทุน” หรือ “ขาดทุน” ไปก่อน เพราะถ้าคิดถึงต้นทุน หรือกำไร-ขาดทุนคงไม่ทำตั้งแต่ต้น
“ผมทำธุรกิจ ผมเข้าใจสถานการณ์ และมองว่าเมื่อถึงเวลาที่จะต้องเสียก็ต้องยอมเสีย หรือเมื่อคิดว่าจะให้ก็ต้องให้”
ดังนั้น สิ่งที่เขาโฟกัส คือ ทำทุกอย่างให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเกิดความประทับใจ แล้วกลับมาใช้บริการ หรือชวนเพื่อน ชวนครอบครัวมาใช้บริการ ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศให้โรงแรมยังพอมีสีสันบ้าง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่โรงแรมเงียบบรรยากาศจะยิ่งไปกันใหญ่
ที่สำคัญคือ ต้องรักษาคุณภาพ มาตรฐานการบริการ และสินค้าที่ดีเหมือนกับตอนที่ขายในช่วงปกติ ไม่เช่นนั้นจะเสียชื่อ
เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ทั้งหมด
“อัศวิน” ยังย้ำด้วยว่า สิ่งที่เขาพูดและบอกลูกน้องทุกวันคือ อยู่นิ่งไม่ได้การอยู่นิ่งคือตายอย่างเดียว ต้องรุก ต้องดิ้นรนตลอดเวลา คิดถึงแค่วันนี้ พรุ่งนี้พอ ยังไม่ต้องพูดถึงอนาคต หรือพูดแบบไม่อายคือ หากินกันแบบวันต่อวัน เพราะเราวางแผนสำหรับอนาคตไม่ได้ และอนาคตก็ไม่มีอะไรแน่นอน สิ่งที่ทำได้ในเวลานี้คือสู้ต่อไป โดยเชื่อว่าเมื่อถึงเวลามันจะดีขึ้นเอง
เรียกว่าต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ทั้งหมด เลิกพูดถึงรายได้ เลิกพูดถึงต้นทุน ให้พนักงานทำงานแบบมีความสุข ช่วยกันทำงาน ใครไม่สบายก็รักษา เพราะในช่วงเวลาแบบนี้ต้องใจเท่านั้น จิตใจต้องเข้มแข็งแบกต้นทุนธุรกิจในสนามบินอ่วม
อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสนามบิน ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมืองนั้น “อัศวิน” บอกว่า หมดสภาพ เงียบสนิท โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ ธุรกิจบางส่วนนั้นจำเป็นต้องปิดให้บริการ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้บริการ เช่น เลานจ์ที่สนามบินสุวรรณภูมิที่เดิมเปิดให้บริการหลายแห่งก็เหลือเพียงแค่ 1 แห่งเท่านั้น หรือโรงแรม Sleep Box ที่สนามบินดอนเมืองก็จำเป็นต้องปิดให้บริการ เป็นต้น
ขณะเดียวกันก็มีบางธุรกิจที่ยังเปิดให้บริการอยู่ เช่น ร้านอาหารแมจิกฟู้ดที่ยังเปิดให้บริการทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง
โดยส่วนที่ยังเปิดให้บริการนั้นเป็นการเปิดแบบจำเป็นต้องเปิด และก็ต้องแบกภาระต้นทุนมหาศาลเช่นกัน ทั้งค่าเช่าพื้นที่และค่าพนักงาน แต่หากจะปิดให้บริการทั้งหมดสนามบินก็จะไม่มีร้านอาหารคุณภาพดีราคาย่อมเยาให้บริการและจะยิ่งทำให้สนามบินเงียบเหงามากยิ่งขึ้นด้วย
พร้อมย้ำด้วยว่า ตราบใดที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมของไทยก็ยังคงฟื้นตัวไม่ได้ เฉพาะตลาดในประเทศนั้นไม่สามารถรับมือไหว เนื่องจากกำลังซื้อของคนในประเทศเองก็หายไปเยอะ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนและนี้ส่วนบุคคลก็เพิ่มขึ้น ปัญหาทุกอย่างทับถามกันหนักมาก
เดินหน้าเปิดโรงแรมใหม่กลางปีนี้
ต่อคำถามถึงแผนการลงทุนในโรงแรมใหม่ที่กำลังก่อสร้าง (บริเวณโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่) “อัศวิน” บอกว่า สำหรับโรงแรมแห่งใหม่นี้ใช้ชื่อว่า “อัศวินแกรนด์ คอนเวนชั่น โฮเทล” ตอนนี้ก่อสร้างคืบหน้าไปได้มากแล้ว กำลังเตรียมขึ้นป้าย
โรงแรมแห่งใหม่นี้โพซิชันนิ่งจะหรูหรากว่า “มิราเคิล แกรนด์” มีห้องพัก 2 อาคาร รวมกันประมาณ 250 ห้องพัก มีห้องประชุมระดับวีไอพี 20 ห้อง ห้องใหญ่สุดรองรับผู้ร่วมงานได้มากกว่า 2,000 คน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปีนี้ และในอีก 2 เดือนข้างหน้าก็จะเริ่มทำการตลาดแล้ว
นอกจากนี้ บริษัทยังอาศัยช่วงวิกฤตนี้ทำการปรับปรุงห้องพักทั้งหมดของโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น (หลักสี่) จำนวน 264 ห้อง โดยจะทยอยปรับทีละชั้นด้วยงบฯลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท คาดว่าน่าจะเสร็จทั้งหมดประมาณปลายปีนี้ หรือต้นปี 2565 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีขึ้นแล้ว
พร้อมทิ้งท้ายว่า ยอมรับว่าทุกคนในธุรกิจโรงแรมเจอกันหนักมากจริง ๆ จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือ อย่างน้อย ๆ ก็ให้ผู้ประกอบการได้หายใจ มีเงินเข้ามาหมุนเวียน ดูแลพนักงานได้บ้างดีกว่าปล่อยให้ธุรกิจปิดกิจการ
สำหรับตัวเองนั้นบอกเลยว่ากว่า 40 ปีที่คลุกคลีอยู่ในธุรกิจโรงแรม และเกือบ 30 ปีที่ลงทุนในธุรกิจโรงแรมของตัวเองภายใต้ “มิราเคิล กรุ๊ป” นั้นผ่านปัญหาใหญ่มาหลายครั้งหลายครา แต่ไม่มีครั้งไหนที่รุนแรงและเจ็บหนักเท่าวิกฤตโควิดในครั้งนี้ แต่ก็ยังถือว่าค่อนข้างโชคดีที่ยังพอมีเงินทุนมาใช้หมุนเวียนและดูแลพนักงาน ดังนั้น แม้ว่าจะ “ขาดทุน” หนัก แต่ก็ยังพอมี “กำลังใจ”สู้ต่อได้…
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์