ก่อนที่ครัวซองต์จะกลายเป็นขนมยอดนิยมของยุคนี้ในเมืองไทย ทราบหรือไม่ว่าแม้ ครัวซองต์ จะเป็นขนมไอโคนิกของขนมฝรั่งเศส และเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกเห็นแล้วนึกถึงฝรั่งเศสไม่ต่างจากหอไอเฟล แต่ต้นกำเนิดจริงของ ครัวซองต์ กลับอยู่ที่ประเทศออสเตรีย
เว็บไซต์ของ พิพิธภัณฑ์ Smithsonian ได้กล่าวไว้ว่าแม้ครัวซองต์จะได้รับความนิยมในฝรั่งเศสมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แต่ก็มีขายเฉพาะในร้านเบเกอรีสไตล์เวียนนิสเท่านั้น เพราะครัวซองต์นั้นมีรากมาจากขนมที่ชื่อ “คิปเฟล” (Kipfel) ขนมอบรูปพระจันทร์เสี้ยวหอมกลิ่นเนยของเวียนนา โดยคิปเฟลเองสามารถสืบประวัติไปได้ไกลถึง ค.ศ. 1683 หลังชัยชนะของออสเตรียที่มีเหนือกองทัพออตโตมัน หรือ กองทัพเติร์กซึ่งได้เข้าปิดล้อมกรุงเวียนนา
ในช่วงเวลาที่กองทัพเติร์กกำลังขุดอุโมงค์ลอดกำแพงเมืองจากด้านนอกเข้ามาด้านใน บังเอิญว่าคนทำขนมปังได้ยินเสียงเข้า จึงประกาศแจ้งแก่ชาวเมืองและทำให้สามารถยกกองทัพมาขับไล่ได้ทันเวลา เพื่อเป็นการฉลองชัยชนะ ร้านเบเกอรีในเมืองจึงพากันทำขนมปังรูปพระจันทร์เสี้ยวซึ่งตรงกับธงกองทัพเติร์ก เรียกว่าขนม คิปเฟล
อันที่จริงแล้วมีหลักฐานว่า คิปเฟล มีขายในร้านเบเกอรีกรุงเวียนนามานาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่ ค.ศ.1227 ซึ่งปรากฏหลักฐานอยู่ในบทกวียุคนั้นที่บรรยายถึงคิปเฟลไว้ในขนมวันคริสต์มาส ต้นตำรับคิปเฟลไม่ได้มีหลายเลเยอร์แบบครัวซองต์ฝรั่งเศส ส่วน คิปเฟล ในปัจจุบันได้กลายเป็นคุกกี้รูปพระจันทร์เสี้ยวไปแล้ว
การเดินทางของคิปเฟล จากเวียนนามายังฝรั่งเศสนั้นมีหลายการสันนิษฐาน หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงมากคือการเดินทางมาพร้อมกับ พระนางมารี อังตัวเน็ตต์ (Marie Antoinette) ซึ่งพระองค์เป็นเจ้าหญิงจากออสเตรียที่สมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ว่ากันว่าด้วยความที่พระนางมารีไม่คุ้นเคยกับอาหารฝรั่งเศส จึงรับสั่งให้ทำขนมคิปเฟลขึ้น ส่วนชื่อครัวซองต์น่าจะเพี้ยนจากคำว่าพระจันทร์เสี้ยว Crescent เป็น Croissant แต่ประเด็นของพระนางมารี อังตัวเน็ตต์ ยังคงเป็นแค่การสันนิษฐาน เพราะไม่มีหลักฐานแน่ชัดถึงการปรากฏตัวของครัวซองต์ หรือ คิปเฟล ในยุคนั้นเลย
หลักฐานเดียวที่น่าจะเป็นไปได้คือ ร้านเบเกอรีเวียนาแห่งแรกในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสซึ่งเปิดกิจการในปี ค.ศ.1838 โดย August Zang ร้านนี้ขายทั้งขนมปังเวียนนาและ คิปเฟล แต่ด้วยความสร้างสรรค์ของครัวฝรั่งเศสก็ทำให้คิปเฟลพัฒนามาเป็นครัวซองต์ที่ซ้อนกันด้วยเลเยอร์คล้ายพัฟ หอมเนย เหมาะสำหรับอาหารเช้าเป็นที่สุด
ที่มา : Sanook