หากนึกถึงอาหารหวานๆ น้ำตาลสูงๆ อาจคิดว่าเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายโรคที่อันตรายต่อสุขภาพที่มาจากอาหารหวานๆ และหากเราลดพฤติกรรมติดหวานได้ เราก็สามารถลดเสี่ยงโรคร้ายต่างๆ ได้อีกมากมายเช่นกัน
ทำไมคนเราถึง “ติดหวาน”
สารให้ความหวานจะเข้าไปกระตุ้นการหลั่งโดพามีน หรือฮอร์โมนแห่งความสุข ทำให้เกิดอาการเสพติด และรู้สึกอยากกินของหวานอยู่ตลอด แม้ว่าการกินของหวานจะทำให้คุณรู้สึกมีความสุข
ติดหวาน สาเหตุโรคเบาหวาน?
ที่เราคุ้นเคยกันมาอย่างยาวนานว่า หากกินอาหารหวานเยอะๆ เราอาจเป็นโรคเบาหวานได้ จริงๆ แล้วสาเหตุของโรคเบาหวานไม่ได้มาจากอาหารหวานเพียงอย่างเดียว แต่แตกต่างกันไปตามโรคเบาหวานแต่ละประเภท
เบาหวานประเภทที่ 1 พบได้น้อย ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยเบาหวานไทย ประเภทนี้เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ จึงต้องฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดอินซูลิน และไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเกิดไป เพราะอาจหมดสติ และเสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน มักพบในเด็กและวัยรุ่น
เบาหวานประเภทที่ 2 พบได้มาก ประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานไทย และส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มคนอายุ 45 ปีขึ้นไป เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินไปใช้ได้อย่างเพียงพอ และร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ประเภทนี้มักไม่แสดงอาการอย่างเฉียบพลัน แต่หากขาดการควบคุม ก็สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เป็นอันตรายอย่างเฉียบพลันได้
เบาหวานประเภทที่ 3 เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (เบาหวานวินิจฉัยระหว่างไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยที่ไม่ได้เป็นเบาหวานก่อนหน้า)
เบาหวานประเภทที่ 4 เป็นเบาหวานชนิดที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ความผิดปกติของสารพันธุกรรม, จากยา, โรคของทางตับอ่อน เช่น cystic fibrosis เป็นต้น
สาเหตุของโรคเบาหวาน จึงมีมากกว่าการกินหวานมากๆ เช่น
- กรรมพันธุ์
- น้ำหนักเกิน อ้วน ขาดการออกกำลังกาย
- อายุที่มากขึ้น เสี่ยงเบาหวานมากขึ้น
- เป็นผู้ป่วยโรคของตับอ่อน เช่น ตับอ่อนอักเสบ หรือเคยได้รับการผ่าตัดตับอ่อน
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม ซึ่งมีผลต่อการทำงานของตับอ่อน
- การได้รับยาบางชนิด ทำให้มีการสร้างน้ำตาลมากขึ้นหรือการตอบสนองของอินซูลินได้ไม่ดี
- การตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการสร้างฮอร์โมนจากรกหลายชนิด ซึ่งมีผลยับยั้งการทำงานของอินซูลิน
ติดหวาน เสี่ยงโรคอะไรบ้าง?
นอกจากเบาหวานแล้ว การบริโภคน้ำตาลมากๆ (รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของแป้ง คาร์โบไฮเดรต) ยังเพิ่มความเสี่ยงต่ออันตรายอื่นๆ อีกมากมาย เช่น
โรคอ้วน
ความหวานจะทำให้รู้สึกหิวมากขึ้น และไม่รู้สึกอิ่ม คุณจะรู้สึกว่า กินเท่าไรก็ไม่พอเสียที และมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นได้อย่างง่ายดายโดยไม่รู้ตัว
ความดันโลหิตสูง
น้ำตาล ทำให้ฮอร์โมนแคทีโคลามีน และกรดยูริกสูง ซึ่งต่างก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงทั้งสิ้น
โรคหัวใจ
อาหารที่มีน้ำตาลสูง เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ
เพราะน้ำตาลมีผลต่อกระบวนการสูบฉีดของหัวใจ เพิ่มระดับไตรกลีเซอไรด์ ไขมันเลว กลูโคส และอินซูลินในกระแสเลือด
โรคหลอดเลือดหัวใจ
เมื่อกินอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาลมากๆ จะทำให้เกิดการสะสมไตรกลีเซอไรด์ขึ้นในร่างกาย ทำให้ปริมาณไขมันในเลือดสูงขึ้น เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจต่างๆ ได้
ฟันผุ
น้ำตาลย่อยง่าย แบคทีเรียในช่องปากจึงสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นสาเหตุของปัญหาในช่องปากต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟันผุ เคลือบฟันกัดกร่อน โรคเหงือก และกลิ่นปาก
เลี่ยงของหวาน น้ำหวาน เพิ่มน้ำเปล่า
นอกจากขนมหวานแล้ว น้ำหวาน เครื่องดื่มต่างๆ ก็มักเป็นอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่า คนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ถึงกว่า 4 เท่า
นอกจากนี้ ข้อมูลจากการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 พบว่า โดยเฉลี่ยในแต่ละวันคนไทยดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยกว่า 3 แก้ว โดยเฉพาะเด็กอายุ 6 -14 ปี เป็นกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด เครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลที่วางจำหน่ายในประเทศไทยพบมีปริมาณน้ำตาลสูงมากเฉลี่ย 9 – 19 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ขณะที่ปริมาณที่เหมาะสมคือไม่ควรมีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร
ดังนั้น จึงอยากรณรงค์ให้คนไทยลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง และหันมาดื่มน้ำเปล่ากันให้มากขึ้น เพราะในหลายๆ ครั้ง แค่น้ำเปล่าก็มากเพียงพอที่จะทำให้ร่างกายสดชื่น ดับกระหายได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเครื่องดื่มหวานๆ แต่หากต้องการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล เช่น ชานม ชาเขียว กาแฟ โกโก้ หรือ นมเย็น แนะนำสั่งสูตรหวานน้อย เพื่อลดปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับในแต่ละแก้ว หรือลดขนาดเครื่องดื่มเป็นขนาดเล็กลง
ข้อมูล : โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต, GED Goodlife