“อกไก่ดิบ” อันตราย เสี่ยงติดเชื้อท้องร่วง สมองอักเสบ ตาบอด

Food Story อาหาร

การกินเนื้อไก่แบบดิบๆ มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อแบคทีเรีย เพราะในเนื้อไก่ดิบมีเชื้อแบคทีเรียซาโมเนลลาปนเปื้อนมาด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วง บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นตาบอด หรือสมองอักเสบได้ จึงควรกินแบบปรุงสุกจะปลอดภัยกว่า

ไก่ดิบ อันตราย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากกรณีในโลกโซเซียลมีการเผยแพร่เมนูซาชิมิอกไก่ดิบสไตล์ญี่ปุ่น ที่มีการจำหน่ายในร้านอาหารไทยในขณะนี้ กรมอนามัยขอความร่วมมือประชาชนเลือกร้านอาหารที่ผ่านการปรุงสุก เนื่องจากในเนื้อไก่ดิบ หรือ ไก่ดิบแช่แข็ง มักมีเชื้อแบคทีเรียซาโมเนลลา (Salmonella) ปนเปื้อนมาด้วย เป็นต้นเหตุของการท้องร่วง อาหารเป็นพิษ หรือการติดเชื้อในลำไส้ และมักมี ตัวอ่อนของพยาธิตัวจี๊ด เมื่อกินเข้าไปจะกลายเป็นตัวแก่ในกล้ามเนื้อ ส่งผลให้มีอาการคัน บวมแดง หรือบวมๆ ยุบๆ และเคลื่อนที่ได้ สำหรับบางรายอาจจะร้ายแรงถึงขั้นตาบอด หรือสมองอักเสบได้

วิธีป้องกันอันตรายจากการบริโภคไก่

  1. เลือกซื้อไก่จากแหล่งที่เชื่อถือได้
  2. ก่อนนำไก่ดิบมาปรุงประกอบอาหารต้องล้างให้สะอาดก่อน โดยเฉพาะสิ่งสกปรกที่ติดมากับไขมัน ถ้ามีมากควรล้างด้วยน้ำอุ่นหรือ น้ำสะอาด แล้วจึงนำมาชำแหละเอาส่วนต่างๆ และกระดูกที่ไม่ต้องการออกเพื่อนำมาปรุงสุกโดยใช้ความร้อนสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส ในเวลาไม่น้อยกว่า 5 นาที เป็นการทำลายเชื้อโรคที่ติดมากับเนื้อไก่ดิบ 
  3. หากซื้อเนื้อไก่แช่แข็งผ่านทางออนไลน์ ต้องสังเกตบรรจุภาชนะห่อหุ้มด้วยพลาสติกแช่เย็น ป้ายที่บอกวันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่ควรบริโภค
  4. สำหรับการเก็บเนื้อไก่ดิบ หากซื้อมาประกอบอาหารแล้วแต่ใช้ไม่หมดควรเก็บในอุณหภูมิ 0-5 องศาฯ ซึ่งจะเก็บได้นาน 3-5 วัน หรือเก็บในช่องแช่เย็นที่อุณหภูมิ -18 องศาฯ จะเก็บได้นาน 12 เดือน 
  5. ส่วนอาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานกว่า 4 ชั่วโมง ควรนำมาอุ่นร้อนก่อนทุกครั้งในมื้อต่อไป และอย่าลืมล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งก่อนกินอาหารและหยิบจับอาหารสด เพื่อสุขอนามัยที่ดี

ในส่วนของสถานประกอบกิจการเลี้ยงไก่ สามารถป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคซาโมเนลลาได้ด้วยการตรวจสุขภาพของไก่ และอาหารไก่รวมถึงการตรวจสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานในโรงงานและสุขาภิบาลของโรงงาน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่เกิดจาก ซาโมเนลลาไปสู่ผู้บริโภคอีกด้วย

ข้อมูล : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข