เจ้าสัวธนินท์ ประธานลงนามเอ็มโอยู “ซี.พี.-ซีพีเอฟ-แม่โจ้” วิจัยกัญชง พร้อมวางระบบปลูกครบวงจร เตรียมลุยเดินเครื่องผลิตอาหารผสมกัญชงเมนูแรกในปีนี้
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ และความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชกัญชง ระหว่าง รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร พร้อมนายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ และคณะ
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า การลงนามเอ็มโอยูพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชงเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ช่วยยกระดับฐานะของเกษตรกรไทย
ทั้งนี้ CPF RD Center จะพัฒนานวัตกรรมอาหารโดยใช้จากสารสำคัญในพืชกัญชง ส่วนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตพืชกัญชงคุณภาพ จะมาช่วยวางระบบการจัดการวัตถุดิบกัญชง ซึ่งจะเป็นระบบพิเศษ ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ในระบบปิด เพื่อป้องกันโรคและแมลง และที่สำคัญต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงสายพันธุ์และแหล่งเพาะปลูกได้ เพื่อควบคุมเรื่องความปลอดภัยของอาหารซึ่งเป็นเป้าหมายการทำงานร่วมกันในครั้งนี้
“ผมคิดว่าเรื่องกัญชงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับประเทศไทย และประเทศไทยก็เปิดกว้างในเรื่องนี้ การวิจัยพัฒนาพืชกัญชงเป็นเรื่องท้าทาย แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและยึดความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเป็นหลัก การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารนั้นจะต้องรอประกาศขององค์การอาหารและยา (อย.) ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ก่อน จากนั้นคาดว่าจะพร้อมผลิตอาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชงที่ดีต่อสุขภาพจะออกสู่ตลาดได้ภายในปีนี้”
ทั้งนี้ กัญชงถือเป็นพืชที่พิเศษ ที่รับประทานและดูดซับเข้าสู่ร่างกายได้ 100% ทั้งยังมีคุณค่าสารสำคัญมากมาย อาทิ CBD ที่งานวิจัยในต่างประเทศพบว่ามีประโยชน์ต่อระบบประสาทและสมอง ระบบหัวใจ สารกลุ่มเทอร์ปีนช่วยผ่อนคลาย และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่วนเมล็ดกัญชงเป็นแหล่งโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายรวมถึงมีไขมันโอเมก้า 3, 6, 9 ส่วนกากเมล็ดกัญชงสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ได้อีกด้วย
รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่า มหาวิทยาลัยได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชงและกัญชามาตั้งแต่ปี 2554 การลงนามความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์ การผลิต ต่อยอดไปสู่การแปรรูปทั้งเวชภัณฑ์ อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง เนื่องจาก CPF มีโนว์ฮาวและเทคโนโลยีช่วยต่อยอดในทุกด้านซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวงการการศึกษาของไทย
“เรามั่นใจว่าจะค้นพบและพัฒนาสายพันธุ์ที่เป็นไทยแท้ที่ดีช่วยลดการนำเข้า มีเทคนิควิธีการปลูกที่ดีทั้ง outdoor และ indoor และเพียงพอใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร สามารถใช้ประโยชน์กัญชงได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และระบบเศรษฐกิจ”
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์