7 เคล็ด (ไม่) ลับ ทำไข่เค็มกินเอง ให้อร่อยเหมือนของสุราษฎร์

Recipes สูตรอาหาร
ป้าประสงค์ หีตอนันต์ ประธานกลุ่มไข่เค็ม อสม.

ไข่เค็ม อสม. ของฝากจากไชยา ไข่แดง มัน อร่อย เค็มพอดี ก่อนที่จะไปรู้จัก ไข่เค็มไชยา ของฝากคู่เมืองสุราษฎร์ ผู้เขียนจะขอเล่าถึงประวัติความเป็นมาของไข่เค็มให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันสักนิด

ไข่เค็มไชยา มีประวัติเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เกิดจากการถนอมอาหารของคนจีน ชื่อว่า นายกิ่ง แซ่ปั๊ก เป็นช่างทำรางรถไฟ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในสมัยนั้นชาวบ้านเห็นนายกิ่งนำเอาไข่เป็ดมาถนอมอาหาร เขานำไข่เป็ดไปฝังที่ดินทะเลไว้ 15 วัน แล้วนำมาต้มกิน ชาวบ้านแถบอำเภอไชยาก็สังเกตเห็นว่าดินที่นายกิ่งใช้หมักไข่เป็ดเป็นดินทะเลเค็มและเป็นดินเหนียว จึงมีการดัดแปลงใช้ดินจอมปลวกแทนดินทะเล เพราะดินจอมปลวกมีลักษณะคล้ายดินทะเล ไม่มีเม็ดทราย และเหนียว เกาะไข่ได้ดี ต่อมาจึงมีการพัฒนาเชิงการค้า พัฒนาคุณภาพและรสชาติให้มีชื่อเสียงจนถึงทุกวันนี้

ป้าประสงค์ หีตอนันต์ ประธานกลุ่มไข่เค็ม อสม. อยู่บ้านเลขที่ 71 หมู่ที่ 5 ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เล่าว่า ไข่เค็ม อสม. เกิดขึ้นจากชาวบ้านที่นี่มีอาชีพเป็นชาวนาปลูกข้าวเป็นหลัก แต่ต้องประสบปัญหาหอยเชอรี่แพร่ระบาดอยู่เป็นประจำ ปราบเท่าไรก็ไม่หมดไป จนชาวบ้านทนไม่ไหวก็นำเรื่องไปปรึกษาที่กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน และกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้ง 3 หน่วยงานนี้ ก็ช่วยด้วยวิธีการให้เป็ดชาวบ้านมาเลี้ยง ครอบครัวละ 30 ตัว เพื่อให้เป็ดมากินหอยเชอรี่ในแปลงข้าว แต่เมื่อแต่ละบ้านมีเป็ดเยอะ มีไข่บริโภคกันเองในครอบครัวไม่หมด ด้วยความที่ป้าเป็นประธานกลุ่ม อสม.จึงชักชวนให้ชาวบ้านมารวมกลุ่มรวมหุ้นกันทำไข่เค็ม เพื่อให้มีรายได้เสริมหลังการทำนา ตอนนั้นตกลงกันได้ว่า จะมีผู้เลี้ยงเป็ด 19 คน แล้วรวบรวมไข่มาส่งที่กลุ่มผลิตคือ ป้าและสมาชิกรายอื่น

รวมกลุ่มทำ ไข่เค็ม อสม.
สร้างรายได้เสริม มีเงินใช้ไม่ขัดสน

กลุ่ม ไข่เค็ม อสม. ก่อตั้งมานานกว่า 18 ปี แรกๆ ก็ต้องลองผิดลองถูก เพราะทุกคนเป็นมือใหม่หมด ป้าอาศัยความเป็นประธาน อสม. ได้ไปศึกษาดูงานตามสถานที่ต่างจังหวัด เหนือ ใต้ ป้าไปมาหมด ก็อาศัยเก็บเกี่ยวองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้สมาชิก แรกๆ ก็ทุลักทุเล เพราะไม่เคยทำมาก่อน ผิดบ้างถูกบ้าง เมื่อเรียนรู้ไปจึงค่อยเข้าใจวิธีการมากขึ้นและนำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ จนถึงทุกวันนี้ ไข่เค็ม อสม. ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกดีขึ้น ไม่ขัดสนเงินทอง

ซึ่งก่อนหน้าที่จะรวมกลุ่มทำไข่เค็มขึ้นมา ชาวบ้านแถบนี้มีอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียว เมื่อถึงเวลาลูกเปิดเทอมเขาก็เดือดร้อน มีงานมงคลที่ไหนก็ต้องหากู้หนี้ยืมสินมาใส่ซอง แต่มาปัจจุบันนี้ชาวบ้านที่เข้ารวมกลุ่มไข่เค็ม อสม. ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีเงินใช้จ่ายได้สะดวก คิดง่ายๆ ว่า วันนี้เขาไม่มีเงิน แต่เขามีไข่ เขาก็สามารถเก็บมาขายกับป้าได้เลย ป้ามีราคาประกัน ฟองใหญ่ คิดราคาให้ 4.20 บาท สมาชิกไม่ต้องเอาไปขายที่อื่น มีเยอะมีน้อยก็มาขายที่นี่ 1 วัน กลุ่มรับซื้อไข่จากสมาชิกวันละกว่า 1,500-2,000 ฟอง เฉลี่ยแล้วในกลุ่มสมาชิกต้องมีเป็ดรวมกันถึง 3,000 ตัว จากที่เคยเลี้ยงครอบครัวละ 30 ตัว ตอนนี้ขยายการเลี้ยงเป็นครอบครัวละ 200-300 ตัว แล้วแต่กำลังใครจะเลี้ยงไหว

คุณใจทิพย์ ด่านปรีดานันท์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ (ที่ 1 จากซ้าย) คุณสินธ์ชัย ไวทยินทร์ เกษตรอำเภอไชยา (คนที่ 2 จากซ้าย) คุณสุธรรม ทองแช่ง กำนัน ตำบลเลม็ด (คนสุดท้าย) ผู้มีส่วนช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกลุ่มไข่เค็มไชยาให้เข้มแข็ง
สมาชิกกลุ่ม ไข่เค็ม อสม.ช่วยกันแพ็กของเตรียมส่งลูกค้า
ไข่เป็ดคุณภาพที่สมาชิกเก็บมาส่ง เตรียมคัดแยกขนาด
กระบวนการผลิต ไข่เค็ม อสม.
ใส่ใจทุกรายละเอียด

ป้าประสงค์ บอกว่า ไข่เค็มที่ไหนรสชาติก็จะคล้ายกัน แต่ไข่เค็ม อสม. เราสู้ด้วยเรื่องของคุณภาพ ผู้บริโภครับประทานแล้วปลอดภัย โดยมีการคัดกรองคุณภาพตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงเป็ด คือ

  1. ผู้เลี้ยงต้องทำคอกเป็ดให้แห้ง และไข่เป็ดที่เก็บมาห้ามล้างเด็ดขาด เพราะรูพรุนในไข่จะเกิดปฏิกิริยาอิ่มตัวกับน้ำ เมื่อหมักน้ำเกลือเข้าไปไม่ถึงทำให้ไข่เน่า
  2. มีข้อกำหนดว่า ใน 3 วัน สมาชิกต้องนำไข่มาส่งที่กลุ่มผลิต เพราะป้าต้องเป็นคนคัดไข่ คัดขนาด เลือกลูกแตกร้าวออกเอง

ขั้นตอนการทำ

  1. เริ่มจากการคัดขนาดไข่เป็ด เบอร์ 1, 2
  2. เลือกฟองที่แตกร้าวออก
  3. ผสมดินหมักตามสูตร ดินจอมปลวก 3 ส่วน เกลือ 1 ส่วน น้ำเปล่าใส่แค่พอดินเหนียวเกาะไข่ได้ดี
  4. นำไข่เป็ดที่คัดไว้คลุกลงไปในดินที่ผสม ค่อยๆ คลุก อย่าทำแรงเกินไป และน้ำต้องสะอาด
  5. นำขี้เถ้าแกลบมาคลุกลงบนไข่ให้ทั่วทั้งลูกอีกครั้ง
  6. จากนั้นหมักทิ้งไว้ 7 วัน
  7. เมื่อหมักไข่ครบ 7 วัน ให้นำขี้เถ้าแกลบออก ห้ามล้าง เตรียมแพ็กขาย
ดินจอมปลวก ผสมเกลือ และน้ำเปล่า

เทคนิคเพิ่มความอร่อย น้ำที่ใช้ผสมต้องเป็นน้ำสะอาดผ่านการกรองมาแล้ว ดินจอมปลวกที่ใช้ต้องผ่านการตากแดดฆ่าเชื้ออย่างดี เกลือที่ใช้ต้องเป็นเกลือแกง ขี้เถ้าแกลบต้องตากแดดมาให้แห้ง

 จุดเด่นของ ไข่เค็ม อสม.

  1. รสชาติไข่เค็มก็คือ ไข่เค็ม แต่ไข่เค็ม อสม. จะมีรสชาติไม่เค็มจัด เพราะจะไม่ปล่อยให้ไข่เค็มอยู่เกินกำหนด 10 วัน ถ้าร้านไหนรับของเราไปแล้ว ยังขายไม่ได้ ครบ 10 วัน เราจะเอาของใหม่ไปเปลี่ยนให้
  2. ให้อาหารเป็ดด้วยข้าวเปลือก ปล่อยเลี้ยงลงทุ่งธรรมชาติ และเป็ดจะต้องกลับเข้ามาไข่ในเล้าเท่านั้น จะไม่ให้ไข่ตามไล่ทุ่ง เพื่อคุณภาพไข่ที่ดีที่สุด
  3. ไข่เป็ดที่ได้กินข้าวเปลือกจะส่งผลให้ไข่แดง เนื้อร่วนเป็นทราย ไข่แดงมีสีเหลืองคล้ายดอกดาวเรือง
คู่แข่งมีเป็นร้อย เอาชนะด้วยคุณภาพและความจริงใจ

สำหรับ ไข่เค็ม อสม. ที่อยู่มาได้ถึงทุกวันนี้ ป้าประสงค์ บอกว่า ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณทางหน่วยงานราชการและเอกชนที่ยื่นมือเข้ามาสนับสนุนให้กลุ่มเรามีความเข้มแข็ง ทั้งกรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร ธ.ก.ส. เหล่านี้ล้วนมีส่วนร่วมในความสำเร็จของเรา ทั้งหมดให้องค์ความรู้ สนับสนุนเงินทุน และช่วยการตลาด และนอกเหนือจากการที่มีหน่วยงานเข้ามาช่วยแล้วทางกลุ่มเราเองก็ยังต้องพัฒนาคุณภาพของสินค้าเราให้ได้มาตรฐาน

“เราใส่ใจไข่ทุกฟอง จะไม่ยอมปล่อยไข่ไม่มีคุณภาพให้ลูกค้าเด็ดขาด ถ้าครบกำหนด 10 วัน ไข่ที่ร้านไหนยังขายออกไม่หมด เราจะเอากล่องใหม่ไปเปลี่ยนให้ และเราจะนำของเดิมมาแปรรูปเป็นไข่แดงแช่แข็งส่งให้ร้านทำขนมเปี๊ยะ ร้านยำต่อไป ทำให้เราไม่เคยกลัวจะขายไม่ได้ แม้ในสถานการณ์ที่มีคู่แข่งเยอะ เราก็ยังสามารถกระจายสินค้าออกได้ทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 200 กล่อง หรือถ้าเป็นช่วงเทศกาลขายได้ยอดเพิ่มมาอีกเท่าตัว การตลาด ไข่เค็ม อสม. ตอนนี้มีร้านขายอยู่ที่สถานนีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ ด้วยเพราะลูกชายของป้าเป็นคนช่วยหาตลาด อีกส่วนคือ เดินทางมาซื้อถึงที่ ทั้งหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล กรมการพัฒนาชุมชน ศาลจังหวัด และนักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาซื้อถึงแหล่งผลิต และที่นี่ก็เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย” ป้าบอก

สำหรับท่านที่สนใจ อยากลองชิม ไข่เค็ม อสม. ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติแท้ 100% มาตรฐาน อย. และฮาลาล รับประทานไข่เค็มของเรารับรองปลอดภัย หากท่านใดสนใจ สั่งได้ที่เบอร์โทร. 081-787-6490 จัดส่งทั่วประเทศ ราคาขายปลีก กล่องละ 50 บาท ราคาขายส่ง 40 บาท บรรจุ 7 ฟอง ฟองใหญ่ ไข่แดง ไม่เค็มจัด

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์

ผู้เขียน : ธาวิดา ศิริสัมพันธ์