How to กินส้มตำแบบสุขภาพดี

Health สุขภาพดีๆ

การกินส้มตำอย่างปลอดภัยและได้สุขภาพที่ดี ควรคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้ค่ะ

ความสะอาด

ทั้งความสะอาดของวัตถุดิบ เครื่องปรุง และความสะอาดของอุปกรณ์อย่างครก สาก ภาชนะที่ใส่ รวมถึงความสะอาดของสถานที่ด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่อาจแฝงมาได้ และลดความเสี่ยงกินส้มตำแล้วท้องเสีย อ้อ ! อย่าลืมสังเกตถั่วลิสง กุ้งแห้ง กระเทียม วัตถุดิบที่เป็นของแห้งอื่นๆ ด้วยนะคะ ของเหล่านี้ควรเก็บอย่างมิดชิด ไม่อยู่ในที่อับชื้น เพราะอาจมีเชื้อราอย่างอะฟลาทอกซินซึ่งเป็นอันตรายต่อตับ และอาจก่อมะเร็งได้

กินตำถาดที่ปลอดภัย

หากเป็นส้มตำถาดควรมีใบตองรอง จานรอง ถาดเป็นถาดสเตนเลสเกลี้ยงๆ ไม่มีลวดลายและสีสันฉูดฉาด เพราะกรดอย่างน้ำมะนาวหรือน้ำมะขามอาจกัดกร่อนสารตะกั่ว แคดเมียม ที่เป็นโลหะหนักจากถาดสังกะสีที่มีลวดลายต่างๆ ได้

ตำกินเอง

หากเราตำส้มตำกินเองเราจะควบคุมทั้งความสะอาด และรสชาติที่ไม่หวานจัด เค็มจัด หรือปริมาณผงชูรสเยอะๆ ได้ ดังนั้นหากเป็นคนชอบกินส้มตำมากจริงๆ ลองตำส้มตำแบบคลีนๆ โดยไม่ใส่น้ำตาล หรือใส่ปริมาณน้อย เลือกน้ำตาลที่ดีต่อสุขภาพอย่างหญ้าหวาน หรือสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล รวมไปถึงปรุงรสไม่หวานจัด เค็มจัด และเผ็ดจัด

กินส้มตำแต่พอเหมาะ

อย่างที่บอกว่าไม่ควรกินส้มตำเกินสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและโซเดียมจากส้มตำมากเกินไป และเป็นการเปิดโอกาสให้ร่างกายได้กินอาหารที่หลากหลายด้วย หรือถ้าชอบกินส้มตำปูเค็ม หรือปลาร้า ซึ่งไม่ได้ปรุงสุก ให้กินแค่สัปดาห์ละครั้งก็พอ

ไม่ควรกินส้มตำตอนท้องว่าง

มะละกอดิบมียางที่อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร อีกทั้งรสจัดจ้านจากพริกและกรดจากน้ำมะนาว น้ำมะขามในส้มตำยังอาจทำให้แสบท้องได้ ดังนั้นจึงไม่ควรกินส้มตำขณะที่ท้องว่าง โดยควรกินข้าวเหนียว ไก่ย่าง หรือขนมจีนรองท้องไปก่อน

เคี้ยวให้ละเอียด

กินส้มตำแต่ละครั้งควรเคี้ยวให้ละเอียด เพราะเส้นมะละกอดิบค่อนข้างย่อยยาก ดังนั้นเพื่อช่วยให้ระบบอาหารย่อยส้มตำได้ง่ายและดีขึ้น ก็อย่ารีบเคี้ยวรีบกลืนส้มตำจนเกินไปนะคะ

อาหารทุกอย่างเราสามารถกินได้ตามความเหมาะสมกับสุขภาพของตัวเอง อย่างส้มตำก็ไม่ใช่สิ่งยกเว้นนะคะ ดังนั้นควรรับประทานอาหารที่ให้คุณค่าทางสารอาหารที่ดี และพยายามกินให้ครบ 5 หมู่ตามสัดส่วนที่ร่างกายต้องการ เพื่อสุขภาพของตัวเราเอง

ที่มา : K@POOK!