เปิดรายชื่อ 10 จังหวัด ตีไม่แตก ไม่มีผู้ติดโควิด-19 ด้าน TDRI แนะรัฐบาล ควรส่งสัญญาณไปยังประชาชนว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ความเสี่ยงที่สูงขึ้น คนหนุ่มสาวอาจนำเชื้อไประบาดและเพิ่มความเสี่ยงกับญาติผู้ใหญ่มากขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานรายชื่อ 10 จังหวัด ตีไม่แตก ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้แก่ พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี บึงกาฬ สกลนคร ชุมพร พังงา ปัตตานี และยะลา
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแพร่บทความเรื่อง ทำไมเราต้องเป็นห่วงการระบาดใหญ่ในช่วงสงกรานต์ มากกว่าช่วงหยุดยาวหลายครั้งที่ผ่านมา? ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่น่าจะมีผู้ติดเชื้อที่หลงเหลืออยู่จำนวนมากทำให้การเดินทางกลับต่างจังหวัดที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างขนานใหญ่ในช่วงหยุดยาวสงกรานต์นี้ รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว มีโอกาสที่จะเพิ่มการระบาดในต่างจังหวัดที่น่าจะรุนแรงกว่าในปีที่ผ่านมาก
ซึ่งทาง ศบค. เองก็ได้ออกมาตรการมาบางประการ เช่น ขอความร่วมมือ “งดสาดน้ำ ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม และจัดคอนเสิร์ต” นอกจากนี้ยังมีมติลดเวลาการกักตัวเหลือ 10 วันจาก 14 วัน และแบ่งโซนจังหวัดเป็นกลุ่มสีต่างๆ และการกำหนดมาตรการในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในช่วงสงกรานต์ แต่มาตรการเหล่านี้ไม่น่าเพียงพอที่จะป้องกันการระบาดได้มากนัก เมื่อพิจารณาความเสี่ยงที่สำคัญในช่วงต่าง ๆ
- ในช่วงการเดินทาง ซึ่งปัจจุบันไม่ชัดเจนว่าในพาหนะที่เป็นที่นิยมต่างๆ โดยเฉพาะรถทัวร์ รถโดยสาร และรถตู้ รวมทั้งรถโดยสารในตัวจังหวัด ยังคงใช้มาตรการเว้นระยะห่างมากน้อยแค่ไหน แต่ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า ในช่วงวันหยุดยาวนี้ น่าจะมีความต้องการเดินทางเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสมากที่ถ้ารัฐไม่เน้นเรื่องนี้อย่างชัดเจน ก็อาจมีการละเลยมาตรการด้านความปลอดภัยที่อาจจะสำคัญกว่านั้นอีก เช่น การบังคับให้ทุกคนสวมหน้ากากตลอดเวลา (และทั้งผู้โดยสารและรถต่างก็ควรเตรียมหน้ากากสำรองไว้สำหรับกรณีที่จำเป็น เพื่อให้สามารถบังคับเรื่องนี้ได้จริงด้วย ซึ่งอาจจะต้องเผื่อมากกว่าปกติเพราะมีโอกาสที่หน้ากากอาจจะเปียกน้ำมากกว่าปกติด้วย)
- การแบ่งโซนจังหวัดเป็นกลุ่มสีต่าง ๆ แม้ว่าจะมีประโยชน์บ้างในการมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในกรณีที่จังหวัดปลายทางมีความเสี่ยงสูง แต่คงจะไม่ได้ช่วยอะไรมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปัญหาความเสี่ยงของการระบาดในต่างจังหวัดน่าจะเกิดจากคนในจังหวัดเสี่ยงต้นทางเดินทางกลับเข้าจังหวัดเหล่านั้นมากกว่า มาตรการนี้จึงมีผลจำกัด (และดูเหมือนหลังจากการประชุม ศบค. ในวันที่ 19 มีนาคม 64 รัฐบาลก็ไม่ได้เน้นย้ำมาตรการนี้มากนัก (นอกจากบอกให้ระวังการย้ายไปทำกิจกรรมข้ามโซน)
- มาตรการหลักๆ ที่รัฐบาลประกาศออกมาในลักษณะของ “แนวทาง” “ข้อห่วงใย” และยังมีการแถลงหรือให้สัมภาษณ์ด้วยว่ามาตรการทั้งหมดเป็นการ “ขอความร่วมมือ” และจะไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืน ซึ่งแม้ว่าแนวคิดเรื่องการอะลุ้มอล่วยคงสอดคล้องกับบรรยากาศเทศกาล แต่ก็อาจส่งสัญญาณให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐไม่ได้เข้มงวดหรือเป็นห่วงกับการระบาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้มากนัก
เป็นที่เข้าใจได้ว่ารัฐบาลคงหวังใช้ช่วงหยุดยาวของเทศกาลสงกรานต์มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในทำนองเดียวกันกับที่รัฐบาลได้เคยออกมาตรการกำหนดวันหยุดยาวหลายครั้งที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ตาม วันหยุดยาวในเทศช่วงสงกรานต์ครั้งนี้มีความเสี่ยงมากกว่าวันหยุดยาวในครั้งก่อน ๆ มาก ทั้งจากธรรมชาติของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์เอง และจากสถานการณ์ในปัจจุบันซึ่งน่าจะมีผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มที่หนุ่มสาวที่แข็งแรงและไม่มีอาการชัดเจนแฝงตัวอยู่ในประชากรในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง ที่จะเดินทางกลับต่างจังหวัดเป็นจำนวนมากกว่าเมื่อกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 หลายเท่าตัว
ซึ่งแม้ว่าประชาชนไทยควรได้รับโอกาสที่จะผ่อนคลายบ้าง หลังจากที่ไม่ได้รับโอกาสในช่วงสงกรานต์ในปีก่อน แต่รัฐบาลควรจะต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังประชาชนว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ความเสี่ยงที่สูงขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงที่คนหนุ่มสาวอาจนำเชื้อไประบาดและเพิ่มความเสี่ยงกับญาติผู้ใหญ่มากขึ้น และต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการที่สำคัญ เช่น การใช้หน้ากาก ไม่ใช่ส่งสัญญาณที่เหมือนอนุญาตให้ผ่อนคลายหรือ “ปล่อยการ์ดตกได้” เสียเอง
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์