บุก เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีมานานหลายสิบปี แต่เพิ่งเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนไทยไม่นานนัก บุกหรือที่ชาวบ้านในแถบอีสานเรียกว่า “กะบุก” จะเป็นพืชไทยแท้แต่โบราณ อีกทั้งเป็นอาหารชาวบ้านมานาน คนไทยรุ่นโบราณประมาณ 60 ปีก่อน จะนำก้านใบและหัวบุกมาทำอาหารทั้งคาวหวาน เช่น ขนมบุก (เหมือนขนมกล้วย) แกงบวชมันบุก แกงอีสาน (แบบแกงลาว) ซึ่งการประกอบอาหารในแต่ละภาคจะแตกต่างกัน ส่วนในแถบภาคตะวันออก มักฝานหัวบุกเป็นแผ่นบางแล้วคลุกเกลือตากให้แห้ง จากนั้นนำมานึ่งรับประทานกับข้าว ชาวเขาทางภาคเหนือมักนำมาปิ้งก่อนรับประทาน ภาคกลางมักนำเนื้อหรือใบบุกมาแช่น้ำปูน แช่น้ำก่อน ล้างหลายๆ ครั้งแล้วจึงนำไปทำเป็นอาหารหวาน…
หัวบุก เป็นพืชต้นใต้ดินหรือพืชหัวที่มีรากเป็นอาหาร มีการสะสมสารสำคัญไว้ในรากมาก ทำให้มีลักษณะโตเป็นรูปร่างพิเศษหลายแบบ ทั่วโลกมีบุกมากกว่า 45-50 ชนิด แต่ที่นำมาใช้จริงมีเพียงไม่กี่ชนิด บุกมีสารสำคัญที่เรียกว่า “กลูโคแมนแนน” ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นน้ำตาลกลูโคส และแมนโนส เมื่อสกัดแยกออกมาจะได้เป็นผงแห้ง หากนำผงแห้งที่ว่านี้ไปละลายน้ำจะได้ “วุ้นใยอาหารธรรมชาติ” หรือที่รู้จักกันในนาม “วุ้นบุก” ซึ่งสามารถพองตัวและดูดน้ำได้มากถึง 200 เท่าที่อุณหภูมิปกติ และเพราะวุ้นบุกให้พลังงานต่ำ หรือไม่ให้พลังงานหากเป็นสารสกัดที่บริสุทธิ์ จึงเหมาะสำหรับเป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยบางประเภท อาทิ ผู้เริ่มมีอาการของโรคกระเพาะ เนื่องจากวุ้นบุกยังมีคุณสมบัติที่คงทนต่อ น้ำย่อยในกระเพาะ และหากรับประทานวุ้นบุกก่อนเวลาอาหารปกติประมาณครึ่งชั่วโมง การพองตัวของบุกจะช่วยให้การรับประทานอาหารได้น้อยลงแต่อิ่มได้นานขึ้น จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารสำหรับลดน้ำหนัก นอกจากนี้ยังช่วยดูดซับไขมัน และน้ำตาลส่วนเกินจากอาหาร ควบคู่ไปกับเคลือบผนังกระเพาะหรือลำไส้ ลดการดูดซับไขมัน และน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคความดันสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เมื่อรับประทานพร้อมดื่มน้ำตาม 1-2 แก้ว ยังช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น เพราะเมือกวุ้นจะเข้าไปห่อหุ้มกากอาหาร ทำให้เกิดการขับถ่ายของเสีย หรือสารพิษที่ตกค้างในระบบทางเดินอาหารออกจากร่างกายได้ดีขึ้น
บุกมีทั้งดีและไม่ดี
พืชชนิดนี้ได้รับการยืนยันมีประโยชน์แน่นอน มีคุณค่าทั้งในด้านเป็นพืชสมุนไพรซึ่งถูกนำมาใช้ตั้งแต่ยุคโบราณ หัวบุกมีแป้งชื่อ “แมนแนน” ใช้เป็นสมุนไพรสำหรับผู้เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน ฯลฯ และใช้ทำอาหารจำพวกวุ้นเส้น วุ้นแท่ง เป็นอาหารที่ปรุงรสได้ดี อร่อยคล้ายปลาหมึก หรือวุ้นอื่นๆ แต่ในใบบุก หัวบุก ก็มีสารที่ทำให้คัน ชื่อว่า “แคลเซียมออกซาเลท” เป็นผลึกรูปเข็ม เมื่อบริโภคมากอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคนิ่วได้ สัมผัสมากอาจเป็นแผล นอกจากนี้บุกบางชนิดอาจมีสารจำพวกรสขม ชื่อว่า “คอนิซิน” ซึ่งอาจมีอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้เช่นกัน
นอกจากประโยชน์ข้างต้นแล้ว บุกยังจัดเป็นไม้ประดับที่สวยงาม โดยนักจัดสวนมักนิยมนำมาประดับตามใต้ร่มเงาของไม้ยืนต้นหรือนำมาลงกระถางเป็นไม้ประดับโดยเฉพาะบุกชนิดที่มีหัวเล็ก ใบกว้าง และมีจุดแบบไข่ปลาด้านบน ซึ่งนักนิยมว่านมักเรียกบุกชนิดนี้ว่า “บุกเงินบุกทอง” เพราะมีทั้งต้น สีเขียว และสีแดง
ที่มา : แม่บ้าน