หากคุณรู้สึกหิวน้ำบ่อยๆ ทั้งที่ดื่มน้ำตลอดเวลา หรือเข้าห้องน้ำปัสสาวะบ่อยๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของ โรคเบาจืด ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเสียสมดุลของน้ำในร่างกาย หากปล่อยไว้เนิ่นนานโดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคเบาจืดให้มากขึ้น
ทำความรู้จัก โรคเบาจืด (Diabetes insipidus)
โรคเบาจืด (Diabetes Insipidus) เกิดจากความผิดปกติของสมดุลน้ำในร่างกาย ซึ่งความผิดปกติของสมดุลน้ำในร่างกายนี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกกระหายน้ำตลอดเวลา นอกจากนี้ยังทำให้ร่างกายผลิตปัสสาวะจำนวนมากอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยปัสสาวะมากถึง 20 ลิตร/ต่อวัน ซึ่งโดยปกติในกลุ่มคนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรงจะปัสสาวะโดยเฉลี่ย 1-2 ลิตร/วัน เท่านั้น
สาเหตุของโรคเบาจืด
สาเหตุของโรคเบาจืดเกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถปรับสมดุลน้ำในร่างกายได้อย่างเหมาะสม โดยมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประเภทของโรคเบาจืด ดังนี้
โรคเบาจืดชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง (Central diabetes insipidus)
เกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมอง ร่างกายจึงไม่สามารถหลั่งฮอร์โมนอาร์จินีน วาโซเพรสซิน (Arginine vasopressin : AVP) ได้เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้ร่างกายปัสสาวะออกมาจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สมองเกิดความผิดปกติ อาจเกิดจากการติดเชื้อ โรคเยื่อสมองอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
โรคเบาจืดชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของไต (Nephrogenic diabetes insipidus)
เกิดจากความผิดปกติของไต ทำให้ไตไม่ดูดซึมน้ำกลับ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการควบคุมปริมาณการดูดซึมน้ำ ซึ่งนำไปสู่น้ำในปัสสาวะจำนวนมาก
ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย สัญญาณเตือนของโรคเบาจืด
ผู้ป่วยโรคเบาจืดส่วนใหญ่จะมีอาการกระหายน้ำอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะดื่มน้ำไปในปริมาณมากแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังปัสสาวะบ่อยครั้งโดยเฉพาะในเวลากลางคืน รวมถึงในเด็กเล็กที่เป็นโรคเบาจืด จะมีอาการแสดงออก ดังนี้
- ผ้าอ้อมเปียกบ่อย
- ปัสสาวะรดที่นอน
- มีปัญหาในการนอนหลับ
- มีไข้
- อาเจียน
- ท้องผูก
- การเจริญเติบโตของร่างกายช้ากว่าปกติ
- น้ำหนักลดผิดปกติ
วิธีการรักษาโรคเบาจืด
ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติและอาการของผู้ป่วย วิธีการรักษาผู้ป่วยโรคเบาจืดจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยเพื่อลดปริมาณปัสสาวะในแต่ละวัน รวมถึงวิธีการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ดังนี้
- ยาลดการขับปัสสาวะ แพทย์อาจจ่ายยาเดสโมเพรสซิน (Desmopressin) เพื่อลดการขับปัสสาวะ มีทั้งในรูปแบบสเปรย์ แบบเม็ด และแบบหยอดจมูก (แพทย์จะแนะนำตามความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วย)
- การรักษาผู้ป่วยเบาจืดจากสาเหตุโรคไต เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาจืดในไตเกิดจากการที่ไตไม่ตอบสนองต่อภาวะที่สมองหลั่งฮอร์โมนอาร์จินีน วาโซเพรสซิน (Arginine vasopressin : AVP) แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดน้ำ ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมาก แพทย์จะแนะนำให้ลดปริมาณเกลือและโปรตีนลง เพื่อให้ไตผลิตน้ำปัสสาวะน้อยลง
- หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงแพทย์อาจแนะนำยาขับปัสสาวะกลุ่มไธอะไซด์ได (Thiazide) ร่วมกับยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs : NSAIDs) เพื่อช่วยลดปริมาณปัสสาวะที่ไตผลิตออกมา
ที่มา : Sanook