หลากเครื่องปรุงรสอาหารปักษ์ใต้

Food Story อาหาร

หลากเครื่องปรุงรสอาหารปักษ์ใต้

อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ไม่ธรรมดาสามัญนัก เมื่อใครสักคนคิดอยากจะทำอาหารปักษ์ใต้ไว้รับประทานเอง หรือซ้อมมือทำไว้หารายได้ เพราะการทำอาหารปักษ์ใต้นั้นรสชาติไม่เหมือนภาคอื่น ด้วยความที่เผ็ดร้อน จัดจ้านเข้มข้นกว่าอาหารของภาคใดๆ ไม่ว่ารสเผ็ด รสเปรี้ยว ที่เป็นเอกลักษณ์ กลิ่นสมุนไพรที่ชัดเจน

อาหารใต้บ้านเรามีรสหลักๆ 3 รส  ได้แก่เปรี้ยว เค็ม และเผ็ด  ซึ่งมาจากภูมิประเทศที่ติดทะเลทำให้อาหารหลักของชาวใต้คือ อาหารทะเล อีกทั้งในอดีตที่ผ่านมาภาคใต้เคยเป็นศูนย์กลางในการเดินเรือค้าขาย ทั้งกับพ่อค้าชาวจีนและชาวอินเดีย ทำให้อาหารใต้ได้รับอิทธิพลและต้นตำรับการปรุงเครื่องเทศมาจากชาวอินเดีย โดยเฉพาะชาวอินเดียใต้  ประกอบเครื่องเทศมีคุณสมบัติ

ดับกลิ่นคาวจากอาหารทะเลได้ คือ ขมิ้น จึงกลายเป็นสมุนไพรหลักของอาหารใต้  ทำให้สีของอาหารใต้มักมีสีออกเหลืองทุกจานไป  เอกลักษณ์อีกอย่างที่ปรากฏเด่นชัดคือ ความเผ็ด มาจากสภาพอากาศที่ร้อนชื้นตลอดทั้งปี ทำให้เครื่องแกงและเครื่องจิ้มต่างๆ มีรสชาติเผ็ดจัดจ้าน เพราะเชื่อว่าความเผ็ดจะช่วยอบอุ่นร่างกายและป้องกันความเจ็บป่วย และความเผ็ดจากพริกขี้หนูยังช่วยดับกลิ่นคาวของปลา

เครื่องแกงของชาวใต้นั้นเป็นเครื่องแกงที่ใช้สมุนไพรพื้นบ้านมาเป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าแกงส้ม แกงเผ็ด แกงคั่วเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา สมุนไพรที่ขาดไม่ได้ช่วยให้เกิดรสในอาหารปักษ์ใต้นั้น มีดังนี้

รสเปรี้ยว สิ่งที่ให้รสเปรี้ยวในอาหารใต้มีตั้งแต่…

มะนาว  ให้รสเปรี้ยวแหลม มีกลิ่นหอมของผิวมะนาวเนื่องจากที่ผิวมีส่วนผสมของสารที่เป็นน้ำมันหอมระเหย หากใช้ไม่ดีอาจให้รสขมได้ โดยเฉพาะเมื่อใส่น้ำมะนาวในขณะอาหารมีความร้อนสูงๆ

มะขามสด  ให้รสเปรี้ยวแต่ไม่แหลม มีรสหวานแทรกเล็กน้อยตามชนิดของมะขาม มีความฝาดตรงส่วนผิว มะขามสดมักใช้ในแกงส้ม ต้มส้ม เช่นเดียวกับมะขามเปียกก็ใช้แทนกันได้ แต่ถ้าทำน้ำพริกต้องเป็นมะขามอ่อน

มะนาว
มะขามอ่อน
มะดัน

มะดัน  ให้รสเปรี้ยวแหลมจัดกว่ามะนาว มีกลิ่นเฉพาะ ถ้าใส่ในอาหารที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เสียรสได้ มะดันมักใช้ทำน้ำพริก หรืออาหารประเภทต้ม โดยอาจใส่ทั้งลูกหรือฝานเอาแต่เนื้อใส่บางส่วน

มะยม  มีรสเปรี้ยวอมหวาน ถ้าอ่อนจะฝาด  มักนิยมใช้ในอาหารประเภทต้ม โดยใส่ไปทั้งลูกแต่ต้องบุบพอแตก เช่น ไก่ต้มมะยม กบต้มมะยม เป็นต้น

มะม่วง  ให้ความเปรี้ยวมากน้อยตามชนิดของพันธุ์และความแก่-อ่อนของมะม่วง มักใช้แกงส้มแต่ต้องหั่นเป็นชิ้นๆ ให้กินเนื้อมะม่วงได้ด้วย หรือนำไปทำเป็นยำหรือซอยใส่น้ำบูดู ใส่ฉิ้งฉ้าง หรือทำน้ำพริกมะม่วงก็อร่อย

มะยม
ตะลิงปลิง
มะม่วง

ระกำ ให้รสเปรี้ยวอมหวาน มีกลิ่นหอมเฉพาะ จึงใช้ได้กับอาหารบางชนิดเท่านั้น มักใส่ในอาหารประเภทต้มแต่ต้องฝานเอาแต่เนื้อ เช่น ต้มยำใส่ระกำ หรือทำเป็นน้ำพริกระกำก็ได้

ตะลิงปลิง  ให้รสเปรี้ยวอ่อนกว่ามะนาว มักใช้ทำน้ำพริกหรือยำ หรือต้มกะทิปลาทู  โดยใส่ทั้งผลหรือผ่าครึ่ง

ส้มแขก  ให้รสเปรี้ยวจัดแต่น้อยกว่ามะนาว เวลาใช้หั่นเป็นชิ้นบางๆ มักใช้กับแกงประเภทต้ม เช่น ต้มไก่บ้าน หรือแกงเผ็ด เช่น แกงเทโพ รวมทั้งน้ำยาขนมจีนก็นิยมใส่เช่นกัน

สับปะรด  ให้รสชาติเปรี้ยวอมหวาน ตัดเลี่ยนได้ดีกับแกงกะทิ และยังมีเอนไซม์ช่วยย่อยได้ดีอีกด้วย

เกลือ
น้ำตาลมะพร้าว
พริกชี

รสเค็ม

อาหารปักษ์ใต้นิยมใช้เกลือทำรสเค็ม เกลือที่ใช้เรียกว่าเกลือสมุทร ได้มาจากการทำนาเกลือตามแถบชายฝั่งทะเล สมัยก่อนเกลือที่ใช้จะเป็นเกลือเม็ด แต่สมัยนี้ใช้เกลือป่น นิยมใช้กับทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน เพื่อช่วยให้อาหารมีความอร่อยกลมกล่อม และขับรสให้เข้มยิ่งขึ้น

รสเผ็ด

ยอมรับกันว่าอาหารปักษ์ใต้เป็นอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนมากกว่าภาคใดๆ รสเผ็ดได้มาจาก “พริกขี้หนู” หรือที่คนใต้เรียกพริกว่า “ดีปลี”  นิยมใช้ “ดีปลีชี” หรือ “พริกชี” เป็นพริกที่มีสีขาว ในแกงเผ็ดทุกชนิด  ส่วนรสเผ็ดอื่นๆ เช่น พริกไทย นิยมใส่ในแกงกะทิหรือผัดเผ็ด รวมทั้ง ข่า ที่มีรสเผ็ดพร่าก็จะใส่คู่กันไป

รสหวาน

ต้องมาจากน้ำตาล และน้ำตาลก็มีหลากหลายชนิด เช่น ตาลทราย ทำจากอ้อย นิยมใช้ทำขนมหวาน และใส่แกงเผ็ดนิดหน่อย หรือน้ำตาลปี๊ปจากมะพร้าว นิยมนำมาทำขนม น้ำตาลเหลวจากโตนดก็นิยมนำมาทำขนมพื้นเมืองหลายชนิด

รสมัน

มาจากกะทิและน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ มีอาหารปักษ์ใต้หลายชนิดที่ขาดรสมันไม่ได้ และต้องมันจริงๆ เช่น แกงกะทิ จะต้องใส่ให้ถึงมะพร้าว หรือขนมหวานที่ใส่กะทิก็ต้องใส่ให้ถึง อย่าครึ่งๆ กลางๆ เช่นเดียวกับข้าวหลาม จะต้องมันแบบมันติดมือกันเลยทีเดียว