กิมจิ เป็นของกินตามประเพณีในอาหารเกาหลี ประกอบด้วย ผัก เช่น ผักกาดขาวและหัวไชเท้า ที่หมักดองด้วยเกลือและเครื่องปรุงอื่นๆ เช่น ผงพริกที่เรียกว่าโกชูการู ต้นหอม กระเทียม ขิง และอาหารทะเลหมักเค็มที่เรียกช็อตกัล มักรับประทานเป็นเครื่องเคียงแทบทุกมื้อ และมักใช้เป็นส่วนผสมในอาหารประเภทต้มและตุ๋น
กิมจินั้นมีหลายร้อยรูปแบบ ซึ่งทำด้วยผักที่ต่างกันออกไป ตามประเพณีแล้ว กิมจิมักเก็บไว้ในโอ่งดินขนาดใหญ่ที่เรียกว่า องกี แล้วฝังไว้ใต้ดินเพื่อไม่ให้แข็งตัวในช่วงฤดูหนาว และเพื่อรักษาอุณหภูมิไม่ให้เน่าเปื่อยเร็วไปในช่วงฤดูร้อน โอ่งดังกล่าวบางทีก็เก็บไว้นอกบ้านตรงชานที่ทำขึ้นพิเศษ เรียกว่า ชังดกแด ส่วนในยุคปัจจุบัน หันไปใช้ตู้แช่กิมจิกันมากขึ้น
ประโยชน์ของกิมจิ
สารอาหารที่ถูกอัดแน่นในผักที่นำมาทำกิมจิ ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี 6 แร่ธาตุ และกรดอะมิโนมากกว่า 34 ชนิด ซึ่งสารอาหารเหล่านั้นอาจมีปริมาณมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับกระบวนการทำเครื่องปรุงของแต่ละสูตร แต่โดยรวมแล้ว การรับประทานกิมจิในปริมาณที่เหมาะสมอาจเข้ามาช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้ ดังนี้
1. ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี
ด้วยโพรไบโอติก (Probiotics) ในกิมจิ และแบคทีเรียชนิดดีอย่างแลคโตบาซิลลัส อาจเข้าไปมีส่วนช่วยสร้างให้ระบบย่อยอาหารมีการทำงานที่ดีมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยังอาจป้องกันโรคท้องร่วง ท้องผูก และปรับปรุงสุขภาพในช่องทางเดินอาหารให้มีความสมดุลยิ่งขึ้น
2. สุขภาพหัวใจแข็งแรงขึ้น
จากการศึกษาผู้เข้าร่วมทดสอบจำนวน 100 คน ที่รับประทานกิมจิ 15-210 กรัมต่อวัน ผลสรุปออกมาว่าระดับน้ำตาลในเลือด และระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ที่เชื่อมโยงกับการก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคหัวใจนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด
3. เสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
การรับประทานผักที่ผ่านการหมักดอง ทำให้เกิดการก่อตัวของแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ซึ่งเป็นแบคทีเรียในเชิงบวกที่ดีต่อสุขภาพ จากการศึกษากับหนูทดลองที่ได้รับการฉีดแลคโตบาซิลลัสชนิด Plantarum ที่ถูกค้นพบในกิมจิจำนวนมาก พบว่าระดับของ Tumor necrosis factor (TNF)-alpha ที่สร้างความอักเสบของภายในร่างกายลดลง จึงทำให้ไม่เข้าไปขัดขวางการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันมีการทำงานเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ
4. ปรับปรุงระบบความจำ
ในการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองกับหนูทดลอง โดยให้หนูบริโภคผัก หรือวัตถุดิบที่นำมาทำกิมจิ พบว่าอาจทำให้ระบบความจำและทักษะที่ดีขึ้น จึงทำให้นักวิจัยได้ดำเนินการพัฒนา และวิเคราะห์ไปถึงการนำมารักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ในอนาคต
5. บรรเทาอาการอักเสบ
จากการตรวจสอบสารอาหารในกิมจิ นักวิจัยได้พบสารประกอบชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า HDMPPA ซึ่งอาจมีส่วนช่วยในเรื่องของการต้านการอักเสบ และบำรุงหลอดเลือดให้มีการไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น ถึงอย่างไร ยังคงต้องมีการวิเคราะห์ ศึกษาเพิ่มเติมถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารประกอบนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง
6. ลดน้ำหนัก
การรับประทานผักหรืออาหารหมักดอง มักทำให้ร่างกายได้รับแคลอรี่ในปริมาณที่น้อย จึงอาจทำให้น้ำหนักลดลงได้ อย่างไรก็ตาม การรับประทานกิมจิควรรับประทานคู่กับเมนูอื่นๆ ที่มีสารอาหารอย่างครบถ้วนตามหลักโภชนาการ เพื่อเป็นการเพิ่มพลังงานในร่างกายในแต่ละวัน และควรออกกำลังกายอย่างเป็นประจำต่อเนื่อง โดยสามารถเข้ารับคำปรึกษาจากนักโภชนาการ หรือเทรนเนอร์ควบคู่กันไปด้วย
ผลข้างเคียงของกิมจิต่อสุขภาพ
แม้ว่าการรับประทานกิมจิอาจจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ในขณะเดียวกันอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน เนื่องจากอาหารหมักดอง มักประกอบไปด้วยเกลือ หรือโซเดียมอยู่จำนวนมาก ทำให้ผู้ที่รับประทานเกินกว่าปริมาณ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน อาจได้รับความเสี่ยงที่จะทำให้กระเพาะอาหาร ลำไส้แปรปรวน และเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากต้องการจะรับประทานกิมจิอย่างปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแบบสดๆ และหันมารับประทานควบคู่กับข้าวสวยร้อนๆ หรือนำมาปรุงในเมนูอื่นๆ ทดแทน
นอกจากนั้นแล้ว สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ ควรขอรับคำปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการรับประทาน และท้ายนี้ต้องขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Hello คุณหมอด้วยนะคะ