เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 20 พฤษภาคม ที่ห้องวิภาวดี บอลรูม C ชั้น L โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)แถลงข่าวเปิดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการSME “SME ปัง ตังได้คืน” ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ Business Development Service เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME ได้รับโอกาสการสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS
โดย สสว.สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาให้ผู้ประกอบการและร่วมจ่ายในอัตราร้อยละ 50-80 ตามขนาดของธุรกิจ โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นข้อเสนอในการพัฒนาธุรกิจด้านต่างๆผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS ทาง https://bds.sme.go.th/ โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการ 4 กลุ่ม อาทิ 1. กลุ่มท่องเที่ยว (Restart) เช่น โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร บริการเพื่อสุขภาพ นำเที่ยวหรือจำหน่ายของที่ระลึก เพื่อพลิกธุรกิจขานรับนโยบายเปิดประเทศ 2. กลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม (Food) รวมไปถึงผลิตยา และสมุนไพร 3. กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve เช่น อุตสาหกรรมการบิน อากาศยานและเครื่องมือแพทย์ และ 4. กลุ่ม BCG เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว กลุ่มเกษตรแปรรูป และการค้าและบริการอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 6,000 ราย มูลค่าที่สสว.ช่วยสนับสนุนในปี 2565 จำนวน 400 ล้านบาท โดยคุณสมบัติของผู้สามารถเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย หรือบุคคลธรรมดาที่ยื่นจดทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐ
สำหรับงบประมาณในการสนับสนุน สสว.แบ่งตามขนาดผลประกอบการ เป็น 3 กลุ่ม ตั้งแต่ 50,000-200,000 บาทต่อราย 1.วิสาหกิจรายย่อย รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี 2.วิสาหกิจขนาดย่อม(S) ในภาคการผลิต รายได้ไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อปี และในภาคอื่นๆรายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี 3.วิสาหกิจขนาดย่อม SME พลัส ในภาคการผลิต รายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี และในภาคอื่นๆที่มีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี
โดยหมวดค่าใช้จ่ายที่สนับสนุน อาทิ 1.หมวดพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสินค้าและบริการ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการขอมาตรฐานใบอนุญาต การตรวจวิเคราะห์ประเมินต่างๆ สอบเทียบเครื่องมือทุกประเภท รวมถึงการต่ออายุใบอนุญาตต่างๆ 2.การพัฒนาช่องทางจำหน่ายและการตลาด เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่มีชื่อเสียงหรือได้รับความนิยม การเจรจาการค้าหรือจับคู่ธุรกิจ การเข้าร่วมกิจกรรมหรือส่งเสริมช่องทางการค้าด้วยระบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่รวมการฝึกอบรม และ 3. การพัฒนาตลาดต่างประเทศ เช่น การส่งเสริมในการจัดทำแผน หรือกลยุทธ์ในการขยายสินค้าหรือบริการ รวมถึงการสร้างการรับรู้แบรนด์การส่งเสริมให้มีคู่ค้าในต่างประเทศ หรือผลักดันเข้าสู่การเป็นเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ
นายวีระพงศ์ มาลัย กล่าวเปิดงานว่า ครั้งนี้เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ในรูปแบบใหม่ โดย SME มีสิทธิเลือกในสิ่งที่ต้องการให้ช่วยสนับสนุนได้ตรงจุด บางคนผลิตสินค้าหลายปีอยากทำให้มาตรฐานสินค้าสูงขึ้น บางคนอาจเพิ่มช่องทางตลาดต่างประเทศ รวมถึง SME ขนาดเล็ก ในการพัฒนาสูตรอาหาร การขออนุญาตจาก อย. ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ก็สามารถขอรับบริการด้านนี้ โดยในภาวะวิกฤตช่วงนี้เราทราบว่าผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และอาจมีข้อจำกัดในการพัฒนาเพื่อการแข่งขันในตลาด โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย ช่วยปรับแก้ปัญหา Pain Point ต่างๆของธุรกิจ ได้ถูกจุดตามที่ผู้ประกอบการต้องการ และทำให้ผู้ประกอบการสามารถไปแข่งขันในตลาดได้ โดยเรามีกำหนดกรอบวงเงิน ประเภทกิจการ
“มาตรการ SME ปัง ตังได้คืน คือ นอกจาก SME จะโตขึ้นจากการพัฒนาสินค้าบริการด้านมาตรฐานจนทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นจนปังแล้ว SME ก็ต้องได้เงินคืนด้วย วันนี้เราทราบว่าผู้ประกอบการส่วนหนึ่งมีปัญหาเรื่องภาวะวิกฤต เราจึงช่วยอุดหนุนลดต้นทุน เป็นการได้เงินคืนสองต่อ คือ เงินได้คืน ต่อที่ 1 จากการที่ SME พัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว จะได้เงินคืนจาก สสว. 50 – 80% ไม่เกิน 200,000 บาท และเงินได้คืน ต่อที่ 2 คือ หลังจากที่ SME ได้รับการพัฒนาธุรกิจจากการที่ได้รับมาตรฐานต่างๆ และได้กำไรรายได้จากการขายกลับมาสู่ธุรกิจ
“วันนี้เป็นการเปิดตัวมาตรการ SME ปัง ตังได้คืน เต็มรูปแบบวันแรก ก่อนหน้านี้เรานำร่องในเฟสแรก เฉพาะในส่วนการพัฒนามาตรฐานสินค้าและบริการ ในช่วงแรกๆผู้ประกอบการบางคนอาจมองว่ายุ่งยาก หรือไม่เข้าใจวิธีการว่าจะได้คืนอย่างไร วันนี้เรามีผู้ประกอบการที่ยื่นเข้ามาแล้ว 1,000 กว่าราย ได้รับการพิจารณาไปแล้ว 100 กว่าราย มาในวันนี้ทุกส่วนพร้อมแล้วเราจึงเพิ่มเรื่องการพัฒนาช่องทางตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศเข้ามาด้วย เพราะ SME หลายรายมองว่าเขาพร้อมแล้ว แต่ปัญหาคือเรื่องตลาดและช่องทาง โดยเกณฑ์ตลาดที่จะไปได้ในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เราขอให้เป็นตลาดที่เป็นที่รู้จักและมีมานาน อย่างในไทยจะมี THAIFEX เป็นต้น
“นอกจากฝั่งผู้ประกอบการแล้ว เรายังมีฝั่งผู้ให้บริการทางธุรกิจ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ หน่วยงานภาครัฐ ที่มีความเชี่ยวชาญ กว่า 80 หน่วยงาน ที่ขึ้นบริการบนระบบแล้วกว่า 100 บริการ จะมาช่วยเหลือให้คำแนะนำผู้ประกอบการ อาทิ สถาบันอาหาร สถาบันสิ่งทอ สถาบันยานยนต์ อย. สมอ. เป็นต้น โดยบริการที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ บริการการจัดทำฉลากโภชนาการ บริการเตรียมความพร้อมเพื่อรับรองเครื่องหมายทางเลือกสุขภาพ บริการขออนุญาต อย. และบริการให้คำปรึกษาการจัดทำระบบมาตรฐานฮาลาล เป็นต้น โดยหลังจากนี้ สสว. จะสร้างให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจที่มีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างโอกาสและสร้างการเติบโตให้ผู้ประกอบการ SME ของไทย”ผอ.สสว.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจสามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้หรือไม่ ผอ.สสว. กล่าวว่า จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจมาแล้ว 2 ปี โดยโครงการนี้อยากจะช่วย SME ที่แข็งแกร่งพอสมควรที่ยืนหยัดผ่านสถานการณ์โควิดมาได้จนถึงวันนี้ เพื่อให้เขาไปต่อได้ เขาจะเป็นทัพหน้าในการช่วยกอบกู้เศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น SME 6,000 รายนี้ เราอยากให้เป็นกลไกสำคัญที่เข้มแข็งเดินไปได้ มีการจ้างงาน พาซัพพลายเชนอื่นๆตามมา ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่เราจะสตาร์ตประเทศ จากที่เราหยุดกันมาสักระยะ จะเห็นว่าเน้นไปเรื่องของการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง การแปรรูปอาหาร ร้านอาหาร ของที่ระลึก
เมื่อถามว่า ผู้ประกอบการ 1ราย สามารถขอเข้าร่วมมาตรการและใช้บริการได้มากกว่า 1 บริการหรือไม่ อาทิ การพัฒนามาตรฐานสินค้า กับ ช่องทางการตลาด ผอ.สสว. กล่าวว่า SME 1 รายที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จะมีสิทธิใช้บริการได้ 2 สิทธิ แต่ต้องอยู่ในวงเงินที่ สสว.อนุมัติ อย่างไรก็ดีในส่วนของ SME ที่ได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงหรือหน่วยงานอื่นของภาครัฐไปแล้ว จะไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการ SME สามารถยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับบริการและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS (https://bds.sme.go.th/) เพียง 3 ขั้นตอน คือ 1.ยืนยันตัวตนเป็นผู้ประกอบการตามคุณสมบัติที่โครงการระบุ รอแจ้งผลอนุมัติผ่าน SMS และอีเมล 2.ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อได้รับการอนุมัติ SME ต้องเลือกผู้ให้บริการที่สนใจ แล้วจึงจัดทำข้อเสนอการพัฒนาบนระบบ พร้อมแนบใบเสนอราคาตามแพ็กเกจที่เลือกมาบนระบบ รอแจ้งผลอนุมัติผ่าน SME และอีเมล และ 3.ทำสัญญาข้อตกลงกับ สสว. และเริ่มการพัฒนากับหน่วยธุรกิจที่ได้เลือกไว้ เมื่อเสร็จสิ้นจึงนำใบเสร็จมาเบิกค่าใช้จ่ายที่ สสว. โดยปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว และ SME สามารถยื่นขอรับการพัฒนาได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 และพัฒนาจนเสร็จสิ้นได้ถึง วันที่ 30 กันยายน 2565 โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://bds.sme.go.th/ หรือ โทร. 1301 หรือโทร. 0 22983190 หรือ 0 2298 3050 หรือติดต่อที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (ศูนย์ OSS ประจำจังหวัดทุกจังหวัด)