มติชน อคาเดมี พาออกเดินทางสู่ หมุดหมาย "หอมนสิการ"
แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ จ.สระบุรี
มติชน อคาเดมี มีโอกาสได้รับคำเชิญจาก มูลนิธิ โนอิ้ง บุดด้า ให้ร่วมทริปสุดพิเศษ เยี่ยมชม “หอมนสิการ” แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ แห่งแรกของไทยและของโลก ณ อ.แก่งคอย ริมเทือกเขาพระพุทธบาทน้อย โดยทริปนี้คณะสื่อมวลชนได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจาก คุณดารณี สีโท รองประธานมูลนิธิ โนอิ้ง บุดด้า พร้อมด้วย อาจารย์คฑา ชินบัญชร, คุณจิระวุฒิ ศิริจันทร์ อดีตช่างภาพใหญ่ของนิตยสาร IMAGE และ คุณโบวี่ อัฐมา ชีวนิชพันธ์ นักแสดง ผู้ที่ร่วมเป็น หัวหอกผลักดันภาพร่างของนิทรรศการจำลองการเดินทางของพระพุทธเจ้า ให้เป็นความจริง
ก้าวแรกที่ได้เยือน “หอมนสิการ” จะได้เห็นความงดงามของตัวอาคารสีขาว ยอดหลังคาได้แรงบันดาลใจมาจากโบสถ์วัดพุทไธศวรรย์ จ.อยุธยา เป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น ผสมผสานศิลปะแบบขอม ด้านหน้าอาคารมีกันสาดมีลวดลายอาคารแบบนีโอคลาสสิก ทางเดินด้านในช่วงนิทรรศการเป็นอุโมงค์โค้งมนแบบอุโมงค์ทางเดินริมฝั่งแม่น้ำ Arno ด้านหน้าของ Uffizi Museum ที่ฟลอเรนซ์ อิตาลี
ภายใน หอมนสิการ ได้จัดนิทรรศการจำลองเส้นทางเดินของพระพุทธเจ้า ในรูปแบบนิทรรศการงานร่วมสมัย พาเราย้อนเวลาไปที่อินเดีย เมื่อ 2,500 ปีก่อน โดยแบ่งเป็น 14 ห้องพุทธกาล ใช้เวลาเดินชมและฟังคำบรรยายประมาณ 15 นาที ก็จะเข้าใจถึงที่มาที่ไปของศาสนาพุทธ และเข้าถึงคอนเซปต์ของการดับทุกข์แบบเข้าใจง่ายขึ้น
ส่วนที่น่าสนใจอย่างมาก คือ ห้องพุทธกาล ช่วงที่ 5 ที่กล่าวถึงการ “หนี” จากพระราชวังเพื่อออกผนวช บำเพ็ญเพียรค้นหาทางหลุดพ้นจากกงล้อแห่งวัฏสงสาร กับช่วงที่ 6 “การทรมานร่างกายครั้งประวัติศาสตร์” ที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้ง (เสมือนจริง) พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ตามความเชื่อในแบบลัทธิดั้งเดิม จนพระวรกายผ่ายผอม เพื่อค้นหาธรรมแห่งการพ้นไป และช่วงที่ 7 “การค้นพบทางหลุดพ้น และ ความจริงอันสูงสุดของสรรพสิ่ง”
ด้านในสุดของหอเรียกว่า หอจตุรัส ประดิษฐาน “พระบรมโลกนาถ” พระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 30 นิ้ว ปิดทองคำบริสุทธิ์ โดยหนึ่งในมวลสารที่ใช้หล่อพระพุทธรูป คือ มวลสารดินจากกุสินารา และทองคำบริสุทธิ์ เป็นมวลสารหลัก โดยองค์พระบรมโลกนาถนั้น เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบอินเดีย ที่มีลักษณะเสมือนจริงกับมนุษย์ ต่างจากพระพุทธรูปที่เรามักพบเห็นและนิยมสร้างในประเทศไทย
ภายในหอจตุรัส ยังเป็นที่ประดิษฐาน องค์พระบรมสารีริกธาตุ ที่เสด็จมาด้วยพุทธปาฏิหาริย์ใน 3 วาระ รวมทั้งสิ้น 18 พระองค์ และยังมี ภาพปักพระบรมโลกนาถ ที่ปักโดย สุวลักษณ์ เสนานุช มีขนาดความกว้าง 67.2 ซม. สูง 85.6 ซม. จำนวนฝีเข็มกว่า 651,000 ฝีเข็ม ใช้ไหมทั้งหมด 49 สี โดยปักครั้งละ 3 เส้น (ปกติทั่วไปจะใช้ 2 เส้น) มีความหมาย คือ พระรัตนตรัย เส้นที่ 1 แทนพระพุทธ เส้นที่ 2 แทนพระธรรม และเส้นที่ 3 แทนพระสงฆ์ ซึ่งผู้ปักภาพบริกรรม คำว่า “นิพพาน” ทุกฝีเข็ม และถือศีล 8 ตลอดระยะเวลาการปัก 8 เดือน
อีกหนึ่งความประทับใจของทริปนี้ คือ บรรยากาศที่รายล้อมด้วยเทือกเขาพระพุทธบาทน้อย เขาหินปูนตั้งตระหง่านเป็นฉากหลังของ หอมนสิการ นอกจากนี้ยังได้สักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งได้นำเมล็ดพันธุ์มาจาก ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ เมืองพุทธคยา อีกด้วย
ชมนิทรรศการที่หอมนสิการเสร็จแล้ว สามารถแวะชอปปิ้งที่ Market Place ร้านขายสินค้าชุมชนและสินค้าโดยผู้ปฏิบัติธรรม จากนั้นแวะชมนิทรรศการ Spiritual Life แสดงคำสอนของพระบรมศาสดา และห้องฝึกนั่งสมาธิผ่านห้องวิดีโอ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังขอหอมนสิการ และสำหรับใครที่อยากฝึกนั่งสมาธิสามารถร่วมกิจกรรมทดลองฝึกนั่งสมาธิ กับอาจารย์ซึ่งเป็นจิตอาสาจากมูลนิธิฯ
สำหรับโครงการ “หอมนสิการ” เกิดขึ้นตามดำริของอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ประธานมูลนิธิ โรงเรียนแห่งชีวิต ประธานมูลนิธิ โนอิ้ง บุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนา โดยที่ดินผืนนี้ อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล ได้ซื้อที่ดินโฉนดซึ่งอยู่ต่อจากพื้นที่ป่าชุมชน เทือกเขาพระพุทธบาทน้อยในปี 2553 เพื่อก่อตั้งสายธรรมเตโชวิปัสสนาจำนวน 16 ไร่ ซึ่งยามนั้นเป็นที่ดินแห้งแล้งไม่พัฒนา จากนั้นซื้อพื้นที่เพิ่มเติมโดยรอบรวม 43.7 ไร่ ให้เป็นของ มูลนิธิโรงเรียนแห่งชีวิต โดยได้แบ่งพื้นที่ด้านนอกจำนวน 7.4 ไร่ สร้างหอมนสิการ ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี โดยเงินทุนนั้นมาจากเงินส่วนตัวของผู้ก่อตั้ง และเงินบริจาคของศิษย์วิปัสสนาและผู้มีจิตศรัทธาร่วมกัน
หอมนสิการจะเปิดให้เข้าชมในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป เปิดบริการ ทุกวันอังคาร ถึง วันศุกร์ เวลา 10.00 – 17.00 น. และ วันเสาร์ ถึงวันอาทิตย์ เวลา 09.30 – 18.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์)ค่าเข้าชม คนไทย 20 บาท คนต่างชาติ 50 บาท สำหรับเด็ก นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงวัย ผู้พิการ นักบวช เข้าฟรี สอบถามเพิ่มเติมโทร 095-760-0885