สำหรับผู้นิยมชมชอบอาหารที่ผลิตจาก “ปลาทะเล” โดยเฉพาะเมนูปลาที่กำลังนิยมเป็นอย่างมากตามเทรนด์สุขภาพ ด้านหนึ่งการบริโภคปลาที่เพิ่มมากขึ้น ก็ส่งผลให้มีอีกปัญหาหนึ่งซุกซ่อนไว้ นั่นคือ ปัญหาการ “จับปลา” โดยเฉพาะในแถบน่านน้ำที่เกิดขึ้นในทะเลแปซิฟิก ที่เป็นสถานการณ์น้องๆศึกชิงปลา
รายงานข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรสหประชาชาติ ชี้ว่าปัญหาประมงในแปซิฟิกนั้น สัมพันธ์กับกระแสการบริโภคปลาที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะตัวเลขผู้บริโภคปลาในเอเชียที่กำลังพุ่งสูง
โดยประเทศนักบริโภคปลาในเอเชียเดิมที่คือญี่ปุ่น ต่อมาขยับเทรนด์มาที่ “จีน” ซึ่งความนิยมกำลังพุ่งพรวดเป็นตลาดผู้บริโภคปลาเจ้าหลักของเอเชีย ที่แนวโน้มจะแซงญี่ปุ่นในอนาคต ตามติดมาด้วยเกาหลีใต้
แล้วภาวะบริโภคปลาสูงขึ้นในเอเชียทิศทางเป็นมาอย่างไร?
…ส่วนหนึ่งมาจากชนชั้นกลางของประเทศกลุ่มนี้ขยายตัวและมีกำลังซื้อมากขึ้นในการบริโภคปลาชั้นดี
ยิ่งมีการปรับปรุงและสร้างระบบการขนส่งโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นในประเทศจีนที่ถ้าอยากกินปลาสดนั้นเพียงมีเงินก็ได้รับประทานกันง่ายๆเพราะระยะเวลาในการขนส่งปลาสดจากชายฝั่งเข้าไปยังเขตเมือง ที่แม้จะไกลกันระดับ 1,000-2,000 กิโลเมตร แต่ก็สามารถส่งผ่านรถไฟความเร็วสูงเข้ามาได้
เหล่านี้ยิ่งเสริมส่งการบริโภคของกลุ่มกำลังซื้อที่มีมากขึ้น
ส่วนประเทศในอาเซียนบริโภคปลาแบบประจำอยู่เป็นทุน แต่ตัวเลขยังไม่ขยับสูงจนน่าตกใจ
กระนั้นสภาพประชากรเอเชียผู้หิวปลาก็มาพร้อมกับการ“แย่งหาปลา”ในทะเลแปซิฟิก
เรือประมงญี่ปุ่นมองว่าเรือประมงจีนกำลังเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งในน่านน้ำที่สามารถจับปลาได้ทั้งสองประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน“จีน”ก็เผชิญภาวะข้อสังเกตการแห่บริโภค“ปลิงทะเล” ที่กำลังนิยมมาก และเป็นที่ต้องการสูงในตลาดผู้บริโภคขนาดที่ว่าราคาปลิงทะเลถูกระบุว่าขึ้นเฉลี่ยปีละ30%ในช่วง5 ปีมานี้
ยิ่งยั่วยวนให้บรรดาเรือประมงเสี่ยงที่จะเข้าไปรุกในน่านน้ำประเทศอื่นเพื่อลักลอบจับปลิงทะเล
ภาวะ “การหาปลา” จากนานาเรือประมงสัญชาติต่างๆ ในแปซิฟิก ย่อมส่งผลต่อทรัพยากรปลาที่ลดลงและเติบโตไม่ทันการบริโภค
ทั้งสภาวะทางเศรษฐกิจและธรรมชาติที่ส่งผลต่อทรัพยากรปลาในทะเลที่ว่ากันว่าคนญี่ปุ่นเองได้รับผลกระทบนี้แล้วจาก ไซซ์หรือขนาดปลาที่ “เล็กลง”
ในตลาดปลาสด “ซึกิจิ” มีรายงานว่า มีการขายปลาไซซ์เล็กให้กับร้านค้าปลีก ทั้งที่โดยขนาดของมันมักจะถูกส่งโรงงานไปทำปลากระป๋องเสียมากกว่า
สถานการณ์นี้ มีตัวเลขประเมินภาพรวมผลผลิตการประมงในแถบเอเชียจะลดลงไปจนถึง 30% ภายในปี 2050
ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าทะเลในแถบประเทศไทย อินโดนีเซียจะมีผลผลิตจากการประมงลดลงรวมกันกว่า 40% ในปี 2050 เช่นกัน
ส่วนตลาดผู้บริโภคมองกันว่า ในปี 2025 การบริโภคปลาจะเพิ่มอีก 12% ในเอเชียและโอเชียเนีย (ไม่รวมญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) โดยเฉพาะการเติบโตของผู้บริโภคในจีน
แม้ตัวเลขที่นำมาเล่าถึงสถิติคาดการณ์ว่าการบริโภคปลาของชาวเอเชียจะมีแต่สูงขึ้นแล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร?
คำตอบหนึ่งคืออนาคตจึงเป็นการฝากไว้ที่การประมงเพาะพันธุ์ฟาร์มปลาที่น่าจะช่วยขยายผลผลิตขึ้นมาได้อีก 40% ภายในปี 2025
และแน่นอน “เอเชีย” เป็น “ผู้เล่น” ระดับ “ผู้นำ” ของธุรกิจเพาะพันธุ์ฟาร์มปลาโลก เหล่าประเทศในเอเชียสามารถสร้างผลผลิตได้ราว 65 ล้านตัน (สถิติปี 2014) หรือคิดเป็น 89%ของผลผลิตจากทั้งโลก และ “จีน” คือผู้ผลิตรายใหญ่นั่นเอง ตามมาห่างๆ ด้วยอินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และบังกลาเทศ
เรื่องของปลาในทะเลและผู้นิยมบริโภคปลายามนี้จึงเป็นทั้งปัญหาเศรษฐกิจความมั่นคงและการเมืองของประชากรผู้หิวปลาในเอเชีย
—–