เพราะภาพถ่ายไม่ได้เป็นเพียงสิ่งบันทึกเหตุการณ์ ณ ขณะนั้นเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวและความรู้สึกจนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของหน้าประวัติศาสตร์ได้
ดังเช่นภาพ “The Terror of War” ภาพไฮไลต์ที่ทุกคนรู้จักในชื่อเรียกว่า The Napalm Girl ภาพเด็กผู้หญิงกำลังวิ่งหนีระเบิดในสงครามเวียดนาม ร่างกายของเธอไร้เสื้อผ้า สีหน้ากรีดร้องด้วยความเจ็บปวด สร้างความรู้สึกสะเทือนใจให้กับคนทั้งโลก จนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวอเมริกันเห็นถึงผลกระทบอีกด้านของสงคราม จากนั้นสงครามเวียดนามก็สิ้งสุดลงในปีถัดมา
ภาพดังกล่าวเป็นผลงานของ “นิค อุท” ช่างภาพระดับโลกชาวเวียดนาม-อเมริกัน อดีตช่างภาพประจำสำนักข่าว AP และยังเป็นเจ้าของรางวัล Pulitzer (พูลิตเซอร์) ซึ่ง “ไลก้า แกลเลอรี่ แบงค็อก” ได้นำผลงาน 25 ภาพของนิค รวมถึงภาพไฮไลต์มาจัดแสดงในนิทรรศการ “My Story by Nick Ut” ในโอกาสเปิดตัวไลก้า แกลเลอรี่ แห่งที่ 19 ของโลก และที่ 4 ของเอเชีย รองจากโตเกียว, เกียวโต และสิงคโปร์
โดยไลก้า แกลเลอรี่ แบงค็อก ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ศูนย์การค้าเกษร วิลเลจ การตกแต่งดีไซน์เรียบโก้ด้วยวัสดุไม้ ลวดลายได้แรงบันดาลใจมาจาลายไทยอย่าง “กระจัง” การจัดโทนแสงขับเน้นให้ดูมีมิติมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานให้ออกมาในลักษณะไทยโมเดิร์นที่ยังคงความเรียบหรูดูดี
ผลงานทั้ง 25 ภาพ เล่าเรื่องราวของสงครามของสงครามเวียดนามได้อย่างไม่ต้องอาศัยคำบรรยายใดๆ แต่ผู้ชมก็รับรู้ได้ผลกระทบของสงคราม ที่ไม่เพียงแค่ทหารที่ออกรบได้รับเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงชาวบ้านทุกเพศ ทุกวัย ไม่เลือกอายุ ได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ เกิดความสูญเสียที่คงไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้
ย้อนกลับไปในช่วงสงครามเวียดนาม “นิค อุท” เล่าให้ฟังว่า แรงบันดาลใจในการถ่ายภาพของเขาเริ่มจากการมีพี่ชายเป็นช่างภาพและสอนเขาถ่ายภาพ ซึ่งพี่ชายของเขาก็ตายในสงครามเวียดนามเช่นกัน โดยในยุคนั้นซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม ทางเลือกของผู้ชายจึงมีไม่มากนัก หากไม่เป็นช่างภาพ เขาก็ต้องไปเป็นทหาร
โดยเหตุการณ์ในวันระเบิดนาปาล์ม นิคเล่าว่า เขาไปรอถ่ายภาพสงครามในหมู่บ้านนี้พร้อมกับกล้องไลก้า M2 และ M3 ซึ่งเป็นกล้องที่ช่างภาพดังๆ ใช้ เนื่องจากคุณสมบัติที่สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมของสงครามได้ เขารออยู่นานราวครึ่งวัน เพราะคาดว่าจะมีระเบิดลงที่นี่ เนื่องจากก่อนหน้านี้เห็นทหารมาเร่งอพยพคนออกไป แต่เมื่อระเบิดลงมาแล้วปรากฏว่ายังมีคนวิ่งออกมาอยู่
“อย่างภาพหญิงชราที่วิ่งออกมาพร้อมอุ้มหลานวัย 3 ขวบที่มีแผลจากระเบิดมาด้วย พอหลังจากถ่ายภาพนี้เสร็จ หญิงคนนี้ก็โดนแรงระเบิดจนเสียชีวิต ส่วนเด็กผู้หญิงในภาพ The Napalm Girl ก็วิ่งหนีออกมาทั้งๆ ที่ไม่ได้ใส่เสื้อผ้า ซึ่งพอผมถ่ายภาพเสร็จก็รีบวิ่งไปดูเขา ปรากฏว่าเธอตัวไหม้ไปหมด จึงรีบเอาน้ำไปราดดับไฟที่ผิวหนัง” นิคเล่าให้เห็นภาพ
นิคยังบอกอีกว่า เชื่อว่าหลักๆ แล้วเมื่อคนได้เห็นภาพนี้ ทุกนคงรู้สึกเหมือนกันว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดสงคราม โดยหลังจากภาพนี้เผยแพร่ออกไป ทัศนคติของคนอเมริกันก็เริ่มเปลี่ยนไป คนเริ่มออกมาพูดกันว่าไม่มีใครอยากให้เกิดสงครามแล้ว
ด้าน “คาริน เรฮ์น-เคาฟมัน” ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ และผู้ริเริ่มจัดตั้ง ไลก้า แกลเลอรีทั่วโลก กล่าวว่า เพราะภาพถ่าย 1 ภาพ สามารถบอกอะไรได้หลายอย่าง เราสามารถรับรู้อะไรจากภาพได้ ซึ่งไลก้าเป็นแบรนด์กล้องที่ให้ภาพถ่ายที่มีคุณภาพ จึงอยากให้แกลเลอรีเป็นจุดที่คนมาเรียนรู้และได้อะไรจากภาพถ่าย ส่วนนิทรรศการครั้งนี้คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีแน่นอน มากกว่านั้นยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ให้กับผู้สนใจ รวมไปถึงกระตุ้นจิตสำนึกรับผิดชอบให้กับสังคมด้วย
ขณะที่ “ดนัย สรไกรกิติกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอลิส ไพรเวต จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกล้องไลก้า กล่าวว่า บริษัทอยากให้ไลก้า แกลเลอรี แบงค็อก เป็นพื้นที่โชว์ผลงานที่เกี่ยวข้องกับไลก้า ในการเปิดตัวแกลเลอรีจึงเสนอชื่อช่างภาพระดับตำนานอย่างนิค อุท ให้กับไลก้า ซึ่งไลก้าก็ไฟเขียวมา
“นอกจากคาดหวังว่าจะให้คนรู้จักไลก้ามากขึ้นแล้ว มากกว่านั้นคืออยากให้คนมองการถ่ายภาพเป็นศิลปะมากขึ้น ไม่ว่าจะใช้กล้องอะไรก็ตาม เพราะภาพที่ดีนอกจากจะมาจากการถ่ายสวยแล้ว ยังต้องแก้ไขให้เป็นสไตล์ของตัวเอง นถึงขั้นพิมพ์ออกมาแล้วเล่าให้คนฟังถึงโมเมนต์ที่ถ่ายภาพนี้ได้ การถ่ายภาพจึงเป็นเหมือนการครีเอทงานศิลปะ ที่ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ผ่านการคิดและความคิดสร้างสรรค์” ดนัยกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับนิทรรศการ My Story by Nick Ut จะจัดแสดงจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2561 ใครสนใจสามารถแวะเวียนไปเยี่ยมชมได้ที่ชั้น 2 ศูนย์การค้าเกษร วิลเลจ ราชประสงค์