กุหลาบทะลักปากคลองฯ วาเลนไทน์คึกคัก สวนทางเกษตรกรระทม !

Content พาเพลิน

กุหลาบทะลักปากคลองฯ วาเลนไทน์คึกคัก สวนทางเกษตรกรระทม !

Facebook

Twitter

Google+

LINE

ยิ่งใกล้เทศกาลแห่งความรักเท่าไหร่ ตลาดดอกไม้ก็ยิ่งคึกคักขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะดอกกุหลาบเป็นที่ต้องการสูงมาก ส่งผลให้กุหลาบทั้งของไทยและต่างประเทศทะลักเข้าสู่ตลาดดอกไม้ โดยมีศูนย์กลางที่สำคัญคือปากคลองตลาด

กุหลาบพบพระเสิร์ฟวาเลนไทน์

“สมบูรณ์ วรศักดิ์” เจ้าของร้านขายดอกไม้และที่ปรึกษาพ่อค้าแม่ค้าปากคลองตลาดใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตนจำหน่ายดอกไม้ที่ปากคลองตลาดมาเกือบ 20 ปีแล้ว มองว่าทุกปีในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์คือช่วงกอบโกย เพราะสามารถจำหน่ายดอกไม้ได้จำนวนมาก โดยเฉพาะดอกกุหลาบ ที่จากปกติจะมีเข้ามาในตลาดประมาณ 1 ล้านดอกต่อวัน แต่ในช่วงวันที่ 9-14 ของเดือนกุมภาพันธ์จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวประมาณ 2-2.5 ล้านดอกต่อวัน เพราะเกษตรกรจะผลิตดอกกุหลาบออกมารองรับความต้องการของคนซื้อในช่วงเทศกาลได้มากกว่าปกติ

“คาดว่าปีนี้จะสามารถขายดอกไม้ได้ดีไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงวันวาเลนไทน์ที่ตรงกับวันธรรมดา เด็กนักเรียน นักศึกษาสามารถซื้อไปฝากเพื่อนฝูงได้ ถือเป็นช่วงกอบโกยไปจนถึงตรุษจีน”

ด้านสัดส่วนของดอกกุหลาบที่เข้ามาในตลาดปากคลองตลาดนั้น มาจากในประเทศไทยประมาณ 70% แบ่งเป็นนำมาจากอำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ จังหวัดตาก มากถึง 90% และจากจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 10% ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 30% นำเข้ามาจากต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย และจีน โดยผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยพ่อค้าแม่ค้าในตลาดจะได้กำไรจากราคาจำหน่ายดอกกุหลาบประมาณ 20% นอกจากนี้เกษตรกรบางรายยังนำกุหลาบมาขายที่ตลาดด้วยตนเอง

 

ตลาดเชียงราย ศก.ซบไม่คึกคัก

ขณะที่ตลาดศิริกรณ์ เทศบาลนครเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นตลาดค้าปลีก-ค้าส่งดอกไม้รายใหญ่ ซึ่งแต่ละปีจะมีกุหลาบในพื้นที่และประเทศจีนส่งเข้ามาจำหน่าย แต่ล่าสุดกลับพบว่าบรรยากาศยังคงซบเซา ไม่คึกคักเหมือนปีก่อนหน้า แม้ว่าจะใกล้ถึงวันวาเลนไทน์แล้วก็ตาม

“กาบแก้ว ดอนเน็ตร” เจ้าของร้านตุ๊ต๊ะ ฟลอริสท์ ผู้จำหน่ายดอกไม้ในตลาดศิริกรณ์ จังหวัดเชียงราย ให้ความเห็นว่า เกิดจากสภาพเศรษฐกิจที่ดูซบเซา รวมถึงปริมาณดอกกุหลาบที่น้อยลง เนื่องจากอากาศแปรปรวน ไม่หนาวเย็นต่อเนื่องและมีฝนตก อีกทั้งมองว่าค่านิยมของคนโดยเฉพาะวัยรุ่นแตกต่างจากอดีต โดยใช้โซเชียลมีเดียส่งข้อความถึงกันมากกว่า

ซึ่งสภาพดังกล่าวทำให้ราคาดอกกุหลาบสูงขึ้นกว่าปีก่อนกว่าเท่าตัว โดยกุหลาบที่เริ่มวางจำหน่ายแล้วเป็นกุหลาบเกรดบีและซี ที่สั่งซื้อจากสวนบนภูชี้ฟ้า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ในราคาห่อละ 150-200 บาท ห่อละ 25 ดอก ราคาจำหน่ายปลีกดอกละ 20 บาท ส่วนเกรดเอยังออกสู่ตลาดน้อย คาดว่าราคาขายส่งอยู่ที่ดอกละ 30-40 บาท ซึ่งราคานี้อาจปรับอีกเล็กน้อยในวันวาเลนไทน์

ขณะที่ดอกไม้จากประเทศจีนยังอยู่ระหว่างรอดูท่าทีของตลาด และ ราคาจากประเทศจีน โดยปีที่ผ่านมาก็พบมีราคาสูงในช่วงวันวาเลนไทน์ดอกละกว่า 200 บาท โดยมีการนำเข้าเป็นเกรดเอเพียงเกรดเดียว ซึ่งคุณภาพดีกว่าในประเทศไทยมาก คือมีก้านยาว คงทน และดอกใหญ่ แต่หากพ้นวันวาเลนไทน์ไปแล้วราคาจะลดฮวบลงเหลือดอกละเพียง 15-20 บาท ทำให้ผู้ประกอบการต้องคำนวณเวลากันอย่างหนัก หากว่าได้ราคาที่เหมาะสม และตลาดรองรับก็จะสั่งมาจากทางชายแดนด้าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย

ข้อมูลจากด่านศุลกากรเชียงของ จ.เชียงราย แจ้งว่า ในปัจจุบันการนำเข้าสินค้าประเภทดอกไม้ ไม้ประดับจากประเทศจีนผ่านทางถนนอาร์สามเอ

ไทย-สปป.ลาว-มณฑลยูนนาน จีนตอนใต้ ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 พบว่าเดือนกันยายนนำเข้าดอกไม้ ไม้ประดับ มากเป็นอันดับที่ 4 มูลค่า 23 ล้านบาท เดือนตุลาคมนำเข้ามากเป็นอันดับ 4 เช่นกัน มูลค่า 22.8 ล้านบาท โดยใช้การขนส่งทางรถบรรทุกห้องเย็นจากประเทศไทยไปขนจากชายแดนจีน-สปป.ลาว มายัง อ.เชียงของ ก่อนกระจายไปยังตลาดต่าง ๆ ภายในประเทศไทย

ชาวสวนถอดใจหันปลูกพืชอื่น

“ภราดร กานดา” เจ้าของไร่ปฐมเพชร ในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ที่จะถึงนี้คนยังคงให้ความสำคัญ และ

กุหลาบยังเป็นที่ต้องการของตลาด ชาวสวนเตรียมให้ปุ๋ยให้น้ำไว้เพื่อให้ดอกออกตามปกติ แต่ปีนี้อากาศไม่ค่อยเป็นใจ ช่วงความหนาวมีเพียงไม่กี่วัน เอื้อต่อการเกิดแมลงในดอกกุหลาบ ทำให้ดอกกุหลาบมีปัญหาในเรื่องของคุณภาพ ซึ่งอาจจะต้องใช้ฮอร์โมนเข้ามาเสริม ต้นทุนการเพาะปลูกจึงสูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจก็นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัย เพราะคนไม่ค่อยซื้อดอกไม้ ทำให้ในปี 2561 ชาวสวนปลูกกุหลาบน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

สำหรับไร่ปฐมเพชรก็ลดพื้นที่ปลูกดอกกุหลาบลงเช่นเดียวกัน และหันมาทำเกษตรแบบผสมผสานมากกว่า โดยปลูกผลไม้หลายอย่างตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นกล้วย ทุเรียน ใช้การแปรรูปมากขึ้น เช่น การทำกล้วยอบ ส่วนพื้นที่ปลูกกุหลาบจะเหลืออยู่ประมาณ 2-3 ไร่เท่านั้น

“จริง ๆ การขายดอกกุหลาบมีรายได้ตลอดทั้งปี อำเภอพบพระขึ้นชื่ออยู่แล้วในเรื่องความชำนาญการปลูกกุหลาบ แต่ก็มีปัญหาเรื่องแรงงาน ราคาที่ไม่แน่นอน ชาวสวนกำหนดราคาเองไม่ได้ หลังจากตัดดอกกุหลาบส่งให้พ่อค้าแม่ค้า 7-8 วันจึงจะรู้ราคา และช่วงหลังเมื่อมีงานมงคล คนจะลดค่าใช้จ่ายด้วยการใช้ดอกไม้แห้งมากขึ้น งานแต่งงานก็ใช้ดอกกุหลาบเพียงไม่กี่ดอกเท่านั้น แต่ช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ไฮไลต์ยังคงเป็นดอกกุหลาบสีแดง ดอกไม้ส่วนใหญ่ในอำเภอพบพระกว่า 90% จะส่งให้แม่ค้าที่ปากคลองตลาด ส่วนที่เหลือแม่ค้าคนกลางจะเป็นผู้คัดคุณภาพส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งคุณภาพดอกกุหลาบในบ้านเรายังไม่สามารถส่งออกไปยังแถบยุโรปได้”

เขียนโดย ประชาชาติธุรกิจ