ทุกคำถาม เกี่ยวกับไผ่ เห็ดเยื่อไผ่ ธนาคารพันธุ์ไผ่ และการแปรรูป ที่นี่มีคำตอบ
46
ผู้เขียน | ณภัทร เจริญวัฒนะ |
---|---|
เผยแพร่ | วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ.2561 |
ไผ่ นอกจากจะเป็นไม้ที่ขึ้นง่าย ตายยาก และอยู่ได้ในพื้นดินทุกชนิดแล้ว ยังมีประโยชน์มากอีกด้วย ทั้งใช้เป็นของประดับตกแต่งสร้างที่อยู่อาศัย หรือข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านต่างๆ ยังสามารถนำหน่อมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูอีกด้วย ส่วนการขยายพันธุ์ก็สามารถทำได้ทั้งวิธีการตอนและปักชำ เพราะสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
คุณโชคดี ปรโลกานนท์ หรือ ลุงโชค เจ้าของสวนลุงโชค อยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 6 บ้านคลองทุนเรียน ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ทำสวนแบบวนเกษตร โดยเน้นการปลูกพืชพรรณหลายชนิดรวมกันในพื้นที่กว่า 100 ไร่ นอกจากนี้ ยังชื่นชอบและเพาะพันธุ์ไผ่หลากหลายสายพันธุ์อีกด้วย
คุณโชคดี ปรโลกานนท์ กับกอพญาไผ่เลี้ยง ซึ่งมีคุณค่าและมูลค่ามหาศาล
คงต้องเกริ่นก่อนว่าการทำสวนแบบวนเกษตรคือ แนวทางการทำเกษตรอย่างยั่งยืนที่เน้นการปลูกไม้ยืนต้นที่ใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้เป็นหลักร่วมกับการปลูกพืชเศรษฐกิจและพืชผักสวนครัว การทำสวนในลักษณะผสมผสาน หรือการทำเกษตรที่มีลักษณะคล้ายกับเลียนแบบระบบนิเวศของธรรมชาตินั่นเอง
จากพืชเศรษฐกิจ สู่การทำสวนแบบวนเกษตร
ลุงโชค เล่าถึงการเริ่มทำสวนให้ฟังว่า ก่อนที่จะหันมาทำการเกษตรแบบยั่งยืน หรือวนเกษตรนั้น เริ่มต้นจากการนำความรู้ที่ได้เรียนมาจากสาขาวิชาพืชไร่ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยเน้นการปลูกพืชเศรษฐกิจ อาทิ ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งเริ่มแรกก็เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่หลังจากทำมาระยะหนึ่งก็พบว่าหากยังทำสวนโดยปลูกเพียงแต่พืชเศรษฐกิจอย่างเดียวคงยังไม่พอ เนื่องจากประสบปัญหาทั้งในเรื่องการลงทุน และเรื่องของระบบชลประทาน คล้ายกับเป็นการทำการเกษตรที่ต้องพึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศเพียงอย่างเดียว และยังมองว่าการทำสวนในลักษณะนี้จะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมด้วย จึงเริ่มหันมาสนใจเรื่องการทำวนเกษตร
เมื่อเข้าสู่ปี 2531 ลุงโชค บอกว่า เริ่มทำสวนแบบวนเกษตรโดยเน้นปลูกต้นไม้เป็นหลัก แต่ก็ปลูกพวกพืชผักสวนครัวเอาไว้สำหรับกินเองด้วย ส่วนที่เหลือก็สามารถนำไปจำหน่ายได้
“ตอนนั้นมีที่แค่ 50 ไร่ แต่เราไม่ได้ปลูกทั้งแปลงแต่อาศัยปลูกปนกัน ผสมผสานกันไป เริ่มทำจากเล็กๆ ก่อน เพื่อให้ได้ประสบการณ์ เรื่องการลดต้นทุนและการขยายพันธุ์ไม้ด้วย ยอมรับว่าตอนนั้นเปลี่ยนวิธีคิดไปเลย จากที่เมื่อก่อนเราปลูกเพื่อขาย ตอนหลังเราปลูกเพื่อกินแทนแล้วพอเหลือจากกินก็เอาไปขายได้ หลังจากเริ่มทำก็ใช้เวลา 6-7 ปี ทุกอย่างก็ลงตัว ต่อมาก็เริ่มมีรายได้จากการขายผลผลิต ซึ่งรายได้ที่มีก็มาจากทั้งการขายผลผลิตและการขายพันธุ์พืช” ลุงโชค กล่าว
จุดเริ่มต้นอาณาจักรไผ่
สำหรับจุดเริ่มต้นในการหันมาปลูกไผ่นั้น เริ่มในปี 2543 เนื่องจากในสวนจะมีบริเวณหนึ่งที่โครงสร้างดินไม่ค่อยดี ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ประกอบกับตอนนั้นคุณตาของลุงโชค มีไผ่เลี้ยงอยู่กอหนึ่งที่เขาปลูกเอาไว้ จึงขอเอามาลงดินปลูกดูเผื่อว่ามันจะขึ้น ปรากฏว่าปลูกขึ้น ทำให้สนใจการปลูกไผ่ขึ้นมา และเริ่มสะสมไผ่สายพันธุ์ต่างๆ มาเรื่อย จนกลายมาเป็นอาณาจักรไผ่สวนลุงโชคอย่างทุกวันนี้
“ระหว่างที่ทำสวนวนเกษตรตอนนั้นยังมีหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และฟื้นฟูป่าที่เขาแผงม้า ทำให้ต้องแบ่งเวลาทั้งในการปฏิบัติหน้าที่และการทำสวน แต่ก็ไม่ได้ทิ้งเรื่องการทำสวนเสียทีเดียว พอถึงปี 2550 บทบาทหน้าที่ในการฟื้นฟูป่าสิ้นสุดลง จึงกลับมาทุ่มเทให้กับการทำสวนที่ตนเองรักอย่างเต็มที่อีกครั้ง และยังเริ่มเปิดสวนให้คนเข้าเยี่ยมชม และให้ความรู้เกี่ยวกับการทำสวนด้วย ต้นไม้ที่ปลูกก็เป็นพวกไม้ยืนต้น เช่น พะยูง ตะเคียนทอง เพราะคิดว่าต่อไปพันธุ์ไม้พวกนี้จะหายากก็เลยปลูกไว้ ส่วนหลักในการเลือกปลูกต้นไม้ส่วนใหญ่มักจะคำถึงถึงเรื่องของถิ่นดั้งเดิมด้วย ทำให้มีพันธุ์ไม้ที่ปลูกกว่า 300 ชนิด” ลุงโชค กล่าว
นอกจากการเพาะพันธุ์ไผ่แล้วสิ่งที่ลุงโชคกำลังให้ความสำคัญคือ เรื่องการแปรรูปและการใช้ประโยชน์จากไผ่
“โดยตอนนี้ก็ได้นำไผ่เลี้ยงมาจัดการตัด เจาะ แล้วก็แช่ด้วยเกลือบอแรกซ์ เพื่อให้อาหารที่อยู่ในไผ่เหลือน้อย พอเหลือน้อยมอดก็ไม่กิน ผลตอนนี้ก็ออกมาดี ส่วนสูตรก็ใช้ 10 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร แช่ประมาณ 7 วัน และกำลังจะทำในเรื่องถ่านชีวภาพ หรือไบโอชาร์ด้วย เพื่อให้สามารถนำผลผลิตที่มีไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ได้” ลุงโชค บอก
“ไผ่” ประโยชน์ที่มี มากกว่าความอร่อย
ประโยชน์ของไผ่นอกจากจะสามารถนำหน่อมาเป็นส่วนประกอบในการทำอาหารได้หลากหลายเมนูแล้ว ไผ่ยังมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีพอีกด้วย เพราะใบของไผ่เมื่อร่วงลงมาก็เหมือนเป็นการสร้างหน้าดิน ส่วนรากก็ยังเป็นตัวยึดหน้าดินในช่วงฤดูฝน ทั้งยังสามารถช่วยป้องกันพายุฤดูร้อนได้ สำหรับสวนของลุงโชคนั้น ก็มีนวัตกรรมในเรื่องการเพาะเห็ดเยื่อไผ่เสริมเข้ามา ดังนั้น หากมีโอกาสได้มาเยี่ยมชมสวนลุงโชคก็จะเห็นว่าตามโคนไผ่ตอนนี้จะมีการเพาะเห็ดเยื่อไผ่เสริมอยู่ด้วย
“ผมคิดว่าไผ่ให้คำตอบได้ทุกเรื่อง อย่างปัญหาเรื่องเขาหัวโล้นก็เชื่อว่าไผ่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ แต่เราอย่าไปปลูกไผ่อย่างเดียว คือปลูกให้มันหลากหลาย คือผมมีทั้งไผ่ล้วนๆ ไผ่ในป่า ไผ่ตามคันนา ไผ่ตามคลอง ผมปลูกให้เห็นว่ามันสามารถช่วยแก้ปัญหาได้จริงๆ”
จากซ้ายไปขวา คุณนิมิตร สื่อเจริญสม รศ.ธัญพิสิฐ พวงจิก ลุงโชค และคุณเอกรัฐ รัตนมงคล จากบริษัทปุ๋ยอินทรีย์ตรากุญแจ
รศ.ธัญพิสิฐ พวงจิก จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่ศึกษาไผ่อย่างจริงจังคนหนึ่ง ได้นำพันธุ์ไผ่มาให้ลุงโชคปลูก เมื่อรวมกับของเดิมที่มีอยู่แล้ว สวนลุงโชคมีพันธุ์ไผ่ไม่น้อยกว่า 80 พันธุ์ ซึ่งต่อไปจะมีการดำเนินการเรื่องธนาคารพันธุ์ไผ่ ให้ผู้สนใจยืมปลูก แต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของธนาคาร
คุณนิมิตร สื่อเจริญสม เอกชนที่สนใจเรื่องไผ่ ก็เริ่มตั้งสถาบันวิจัยไผ่อย่างจริงจัง ที่นครราชสีมา ซึ่งก็ได้ประสานงานกับสวนลุงโชค ในการพัฒนาไผ่อย่างต่อเนื่อง
ผู้สนใจเรื่องการปลูกไผ่ เห็ดเยื่อไผ่ ธนาคารพันธุ์ไผ่ รวมทั้งการแปรรูปอื่นๆ ถามได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ (091) 876-8199 หรือผ่านทางเฟซบุ๊ก “สวนลุงโชค”
- รู้จัก Matichon Academy
- Course น่าสนใจ
- ตารางเรียน
- ทัวร์สนุกไปกับเรา
- Content พาเพลิน
- Food Story อาหาร
- Review พาชิมพาส่อง
- Recipes สูตรอาหาร
- Tips & Tricks สารพันเกร็ดน่ารู้
- Travel ท่องเที่ยว
- Culture ศิลปวัฒนธรรม
- Journal ข่าวสาร
- Talk with Matichon Academy บทสัมภาษณ์
- Business ธุรกิจ
- Human of Office ชีวิตมนุษย์เงินเดือน
- Money เงินทองต้องรู้
- Lifestyle ไลฟ์สไตล์
- Health สุขภาพดีๆ
- Technology
- Entertainment บันเทิง
- Event อีเวนต์
- Promotion โปรโมชั่น
- บริการของเรา
- ติดต่อเรา